วันพฤหัสบดีที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2564

 

ต้นกล้าคนดีวิถีอุทัยฯ

นวัตกรรมทรงอิทธิพล สร้างผู้บริหารเด่น ครูดี นักเรียนคุณภาพ

 


        สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุทัยธานี เขต 1 โดยนายศุภพงษา จันทรังษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่ ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาผู้เรียน ซึ่งเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีความจำเป็นในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ สู่การเป็นพลเมืองโลก จึงกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนการพัฒนาภายใต้วิสัยทัศน์ที่ว่า “มุ่งสร้างเด็กอุทัยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ของสังคม ก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 อย่างมั่นคง”

        คำถามสำคัญได้ผุดบังเกิดขึ้นว่า จะมีแนวคิดใด ที่ทรงพลังหรือทรงอิทธิพลต่อการดำเนินงาน เป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนาดังกล่าวให้เป็นรูปธรรม สิ่งใดจะสร้างความเข้าใจ และตระหนักให้เกิดการพัฒนารูปแบบใหม่ๆ แนวคิดใหม่ๆ ที่เหมาะสมกับบริบท หรือสร้างความโดเด่นในความเป็นตนเอง และสิ่งสำคัญต้องโฟกัสให้ถูกจุด ซึ่งต้องไม่ใช่การมีผังโมเดลที่สวยงาม รอรับการชื่นชมเพียงเท่านั้น หากแต่เป็นความเป็นไปได้ขององค์กรที่สามารถขับเคลื่อนเป็นรูปธรรมจับต้องได้ และยึดมั่นหนักแน่น กระทั่งเกิดเป็นวัฒนธรรมอันดีงาม

             ผู้เขียนมิได้เพียงวิเคราะห์ปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก (SWOT Analysis) เพียงเพื่อต้องการเห็นภาพกว้างๆที่ไม่ได้เจาะจงถึงเป้าหมายเท่านั้น เพราะนั่นเป็นเพียงการดำเนินงานที่เน้นเพื่อการแข่งขัน หรือต้องการสร้างกลยุทธ์เพื่อปรับปรุงข้อบกพร่อง โดยโฟกัสไปที่ข้อจำกัดเท่านั้น แต่เราได้ดำเนินการวิเคราะห์ถึงแรงบัลดาลใจและเป้าหมายที่ทำให้นำไปประยุกต์ใช้จริงได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันสมัย (SOAR Analysis) ซึ่งประกอบด้วย จุดแข็ง(Strengths) โอกาส(Opportunities) แรงบันดาลใจ(Aspirations) และผลลัพธ์(Results) เน้นไปที่การทำงานร่วมกัน สร้างกลยุทธ์เพื่อส่งเสริมจุดแข็งและวิสัยทัศน์ สร้างความเป็นผู้นำในส่วนที่ตนเองโดดเด่น และโฟกัสไปที่ความเป็นไปได้ขององค์กร แม้ว่า SOAR Analysis จะดูเหมือนเป็นตัวเลือกที่ดีกับองค์กรสมัยใหม่ แต่ก็ไม่สามารถแทนที่ SWOT Analysis ได้ในทุกสถานการณ์ แต่เป็นทางเลือกที่ดีให้นักบริหารการศึกษาเลือกใช้ เพื่อช่วยส่งเสริมสนับสนุนให้การสร้างวัฒนธรรมทางวิชาการบรรลุเป้าหมายไปได้

        วัฒนธรรมทางวิชาการที่กล่าวถึง ให้น้ำหนักไปที่ “นวัตกรรม” ที่เกิดขึ้นอย่างมีอัตลักษณ์ และมีความเป็นเอกภาพในการดำเนินงาน ภายใต้แนวคิด “ต้นกล้าคนดีวิถีอุทัยฯ”หรือเรียกให้เป็นสากลว่า Growth mindsets great Uthaithani ซึ่งต้องมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในนิยามความเป็นแบบอย่างที่กำหนดเฉพาะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุทัยธานี เขต 1


        เพื่อเป็นการสร้างแนวคิดที่ทรงพลัง จึงกำหนดโลโก้ “ต้นกล้าคนดีวิถีอุทัยฯ” ขึ้น เพื่อสะท้อนความเป็นเอกลักษณ์และแสดงความมีเอกภาพในการดำเนินงาน ประกอบด้วย สีเขียวของข้อความที่ระบุ “ต้นกล้าคนดีวิถีอุทัยฯ สพป.อุทัยธานี เขต 1”  ซึ่งหมายถึง บุคคลที่ได้รับการยกย่องเป็นแบบอย่างอันดีงาม ตามวิถีคุณภาพของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุทัยธานี เขต 1 โดยสีเขียวคือสีประจำจังหวัดอุทัยธานี ข้อความดังกล่าวอยู่บนรวงข้าวเหลืองอร่ามเป็นดั่งทอง ให้ความหมายอย่างลึกซึ้งถึงคุณค่าของข้าวที่เป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่สร้างความเรืองรองสู่จังหวัดอุทัยธานี เปรียบเสมือนคุณค่าในตนเองของบุคคลที่ได้รับการยกย่องเป็นแบบอย่างอันดีงาม ส่วนปลายของรวงข้าวโน้มลงมาอย่างอ่อนน้อม เสมือนการการอ่อนน้อมถ่อมตนของพี่น้องเพื่อนครู แม้จะมากด้วยองค์ความรู้แต่ไม่เคยมองข้ามคุณค่าของผู้อื่น โลโก้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานถูกจัดวางอย่างเหมาะสมเหนือรวงข้าว แสดงถึงต้นสังกัดและเป็นบ้านหลังใหญ่ที่คอยให้ความดูแลและส่งเสริมสนับสนุนด้วยดีเสมอมา ทั้งหมดที่กล่าวอยู่ภายในกรอบสีทองและพื้นหลังสีขาว ให้ความหมายอันโดดเด่นถึงความรุ่งเรือง เจริญก้าวหน้าในวิชาชีพ พื้นสีขาวคือความบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไร้ซึ่งความหม่นหมองและปรองดองด้วยศักดิ์ศรีความเป็นวิชาชีพชั้นสูง


        ต้นกล้าคนดีวิถีอุทัยฯ เป็นแนวคิดทรงอิทธิพล ที่ถูกนำมาสร้างพลังในการขับเคลื่อนการดำเนินงานของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุทัยธานี เขต 1 โดยกำหนดไว้แทบจะทุกกิจกรรมของกลุ่มงาน ภายใต้ “ศูนย์บูรณาการยกระดับคุณภาพการศึกษาสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุทัยธานี เขต 1” (ศบ.กศ.สพป.อน.1) หรือเรียกเป็นภาษาสากลว่า “Intergration center for educational enhancement of Uthaithai primary educational service area office 1

        สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุทัยธานี เขต 1 ในฐานะผู้ผลิตทรัพยากรบุคคลป้อนเข้าสู่สังคมนั้น จำเป็นที่จะต้องค้นหาวิธีการหรือสิ่งใหม่ ๆ ที่มีประสิทธิภาพเหนือกว่าของเดิม หรือมีมาตรฐานเดิมอยู่แล้วแต่สร้างสรรค์ให้เหนือกว่ามาตรฐาน เพื่อนำมาใช้แก้ปัญหาการจัดการศึกษาให้สามารถตอบสนองความต้องการของสังคมได้ ซึ่งในการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลให้เกิดได้จริงในสถานศึกษานั้น นอกจากปัจจัยภายนอกจากภาครัฐและชุมชนแล้ว หัวใจสำคัญคือการมีปัจจัยภายในที่เกื้อหนุนให้เกิดนวัตกรรมจริง ๆ ขึ้นมาได้ ซึ่งคำว่า นวัตกรรมจริง ๆหมายถึง สิ่งใหม่หรือวิธีการใหม่ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายได้ และนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง มิใช่นวัตกรรมบนแผ่นกระดาษที่ใช้เพื่อโชว์หรือขอผลงานเท่านั้น ซึ่งปัจจัยภายในดังกล่าวประกอบด้วย

        1. เข้าใจความหมายของคำว่า นวัตกรรมอย่างถ่องแท้ โดยเข้าใจว่าคืออะไร มีคุณค่าต่อใคร และมีคุณค่าอย่างไร ยกให้ “นวัตกรรม” คือหัวใจของการพัฒนาตนเอง ซึ่งต้องกำหนดตัวชี้วัดหรือคุณค่าที่จะให้เกิดขึ้น แน่นอนว่า คุณค่าที่สำคัญที่สุดคือ Learning outcomes สถานศึกษาคือเวทีแห่งการเรียนรู้ หรือ Learning platform ของบุคคลอย่างหลากหลาย มิใช่เพียงแค่ผู้เรียน แต่หมายรวมถึงข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา 

        2. สร้างการคิดแบบทรงพลังหรือการคิดแบบทรงอิทธิพล โดย ดร.อนันต์ นามทองต้น นักการศึกษาผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดท่านหนึ่งได้ให้นิยามที่แหลมคมไว้ว่า เป็นการคิดที่เหนือชั้นกว่า โดยไม่เสียเวลาคิดในสิ่งที่คนทั่วไปจะคิด เป็นการใช้องค์ความรู้กวาดต้อน ค้นหา วิธีการใหม่และสดกว่า มาใช้ในการปฏิบัติงาน  โดยผู้บริหารต้องสร้างครูนักพัฒนา หรือที่เรียกว่า Teacher agency  หมายถึง เป็นผู้ก่อการดี เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง เป็น Curriculum co-creator ผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องเข้าใจและยอมรับฟังความคิดใหม่ ๆ ของทุกฝ่าย ยอมเปิดกว้างและสนับสนุนให้สถานศึกษาเป็นชุมชนของนักคิด ที่สามารถจัดการเรียนรู้คุณภาพสูงแก่ศิษย์ เป็นการพัฒนาผู้เรียนที่บูรณาการร่วมกับผู้ปกครองและชุมชน ทั้งนี้ต้องเรียนรู้จากการทำหน้าที่ของตน เป็นการพัฒนาตนเองและช่วยพัฒนาเพื่อนครู(PLC) ทำงานเป็นทีม ไม่ทำงานแบบโดดเดี่ยว สถานศึกษาต้องได้รับการพัฒนาเป็นสัปปายะสถานเพื่อการเรียนรู้ ต้องมีบรรยากาศที่เอื้อให้กล้าคิด โดยผู้บริหารและครูต้องไม่ตัดสินใครเพียงเพราะเขาคิดต่างจากเรา ยอมรับฟังและพิจารณาทุกความคิดแม้จะไม่เห็นด้วย ไม่แสดงพฤติกรรมเหยียด เย้ยหยัน ตำหนิ หรือต่อต้านคนที่คิดไม่เหมือนตน


        นอกจากการคิดที่ทรงอิทธิพลแล้ว การปฏิบัติงานที่ทรงพลัง รวดเร็ว แสดงให้เห็นถึงความสำคัญอย่างสูงสุด ก็จัดอยู่ในการคิดที่ทรงพลังอีกด้วย จากภาพเป็นการมอบเข็มเกียรติคุณแก่ ดร.ธีร์ ภวังคนันท์ ที่ปรึกษาด้านเครือข่ายและการมีส่วนร่วม สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อยกย่องท่านเป็นบุคคลต้นแบบกิตติมศักดิ์ “ต้นกล้าคนดีวิถีอุทัยฯ” ในโอกาสตรวจราชการที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุทัยธานี เขต 1 เมื่อ 29 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา 


        3 .สร้างวัฒนธรรมทางวิชาการ กล่าวคือ มีวัฒนธรรมการวิจัย โดยทุกฝ่ายในสถานศึกษาควรมีศรัทธาและหมั่นใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ในการค้นหาความรู้และความจริงอยู่เป็นประจำ เพราะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์จะเป็นฐานสำคัญของการทดสอบนวัตกรรมที่สร้างขึ้น


ซึ่งปัจจัยภายในทั้ง 3 ประเด็นดังกล่าว สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุทัยธานี เขต 1 ดำเนินการภายใต้นโยบาย 5 คุณภาพ ประกอบด้วย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาคุณภาพ โรงเรียนคุณภาพ ครูคุณภาพ เครือข่ายพัฒนาคุณภาพ และนักเรียนคุณภาพ  ทำการ บันทึกข้อตกลง (Memorandum of Understanding  MOU) ว่าด้วยความร่วมมือยกระดับประสิทธิภาพการบริหารจัดการและยกระดับคุณภาพการศึกษาระหว่าง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุทัยธานี เขต 1  กับ  สถานศึกษาในสังกัด

เมื่อวันที่  29 มิถุนายน พ.ศ. 2564 ความว่า สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุทัยธานี เขต 1 ได้ตระหนักและให้ความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ตามนโนบาย 5 คุณภาพ มีทิศทางในการพัฒนา คือ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาคุณภาพ โรงเรียนคุณภาพ ครูคุณภาพ เครือข่ายพัฒนาการศึกษาคุณภาพ และนักเรียนคุณภาพ จึงร่วมมือกับสถานศึกษาทุกแห่งในสังกัด  จัดทำข้อตกลงความร่วมมือในการยกระดับการพัฒนาคุณภาพการศึกษา  และเป็นไปตามนโยบายมาตรฐานการศึกษา  รวมทั้งกลยุทธ์  จุดเน้นของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  ดังนี้

        1.  ความร่วมมือด้านการบริหารจัดการองค์กรให้เข้มแข็งมีประสิทธิภาพ 

               1.1  สนับสนุนการบริหารจัดการของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุทัยธานี เขต 1 ตามมาตรฐานสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (The  Education  Service  Area  office  Standards)

               1.2   สนับสนุน เร่งรัดการจัดการศึกษาให้บรรลุผลสำเร็จตามนโนบาย 5 คุณภาพ ตามบันทึกแนบท้ายข้อตกลง(MOU)

               1.3   สถานศึกษามีการขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติ  อยู่ในระดับดีเยี่ยม  ไม่น้อยกว่าร้อยละ  80 

               1.4   สถานศึกษาทุกแห่งปฏิบัติภาระหน้าที่ด้วยวัฒนธรรมองค์กรที่ดี 

               1.5   สถานศึกษาสร้างแนวร่วม เครือข่ายเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา

         2.  ความร่วมมือด้านยกระดับคุณภาพการศึกษา  ประจำปีการศึกษา  2564  ให้เกิดประสิทธิภาพ  และเกิดประสิทธิผล  ดังนี้

               2.1 พัฒนาการเรียนการสอนเพื่อยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาปฐมวัยด้วย KRADUM MODEL

               2.2 พัฒนาการเรียนการสอน โดยชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ต้องอ่านออกเขียนได้

               2.3  พัฒนาการเรียนการสอน โดยชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ขึ้นไป อ่านคล่อง เขียนคล่อง คิดเลขได้ ลายมือสวยยกชั้น

               2.4   สถานศึกษาพัฒนาผู้บริหาร ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา  ให้เป็นคนดีมีคุณภาพตามแนวทาง “ต้นกล้าคนดีวิถีอุทัยฯ”

               2.5   สถานศึกษาพัฒนาอาคารสถานที่ ให้สะอาดร่มรื่น ปลอดภัย และเป็นแหล่งเรียนรู้

               2.6   สถานศึกษาส่งเสริมการน้อมนำพระบรมราโชบายด้านการศึกษาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวลงสู่การปฏิบัติโดยกระบวนการทางลูกเสือ นักเรียนทุกคนมีวินัย คุณธรรม  จริยธรรม  สมรรถนะ  คุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามหลักสูตรกำหนด  รวมทั้งประพฤติปฏิบัติตามค่านิยมหลัก  12  ประการ

               2.7   ส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนโดยใช้  DLTV / DLIT ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19

         ทั้งนี้  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุทัยธานี เขต 1  และสถานศึกษาในสังกัด  ประสานความร่วมมือระหว่างกันและสนับสนุนการดำเนินงานตลอดจนติดตาม  ประเมินผลการดำเนินงาน  ตามบันทึกข้อตกลง  (MOU)  ว่าด้วยความร่วมมือยกระดับประสิทธิ์ภาพการบริหารจัดการและยกระดับคุณภาพการศึกษา  ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป


            เพื่อเป็นการสร้างวัฒนธรรมต้นกล้าคนดีวิถีอุทัยฯ เกิดนวัตกรรมอันทรงอิทธิพล เสริมสร้างผู้บริหารเด่น ครูดี และนักเรียนคุณภาพ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุทัยธานี เขต 1 จึงดำเนินการคัดสรรผลงาน นวัตกรรมต้นกล้าคนดีวิถีอุทัยฯ(Growth mindset Great Uthaithani Innovation Awards) โดยเป็นการส่งเสริมและกระตุ้น การพัฒนาวิชาชีพ ที่มุ่งให้สถานศึกษา ผู้บริหาร ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสังกัดได้ให้ความสําคัญ และตื่นตัวในการคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการศึกษาที่เหมาะสมกับบริบท เป้าหมายการพัฒนา และสอดคล้องกับความต้องการของสถานศึกษาอย่างแท้จริง โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมระหว่างผู้เรียน ครู ผู้บริหารสถานศึกษา และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานในการพัฒนา

        การคัดสรรผลงานมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้ผู้บริหารสถานศึกษา ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาได้สร้างสรรค์นวัตกรรมที่เหมาะสมกับบริบทของสถานศึกษา และ เป็นนวัตกรรมที่มีเป้าหมายเพื่อใช้ในการพัฒนาผู้เรียน โดยเกิดการมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้องในสถานศึกษา  เพื่อยกย่องสถานศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ได้รับรางวัลนวัตกรรมต้นกล้าคนดีวิถีอุทัยฯและเพื่อเผยแพร่ผลงานนวัตกรรมต้นกล้าคนดีวิถีอุทัยฯ ต้นแบบที่มีคุณภาพ มีคุณค่าทางวิชาการ และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการศึกษาและการพัฒนาวิชาชีพต่อไป



        ผลการคัดสรรรางวัล “นวัตกรรมต้นกล้าคนดีวิถีอุทัยฯ”(Growth mindset Great Uthaithani Innovation Awards) ประกอบด้วย รางวัลระดับเหรียญทอง จำนวน ๕ ผลงาน และเหรียญเงิน จำนวน ๑๓ ผลงาน ดังนี้


        อีกหนึ่งกิจกรรมที่สร้างวัฒนธรรมต้นกล้าคนดีวิถีอุทัยฯ สร้างผู้บริหารเด่น ครูดี และนักเรียนคุณภาพ คือ การสรรหาบุคคล หน่วยงาน และโครงการ เพื่อประกาศเกียรติคุณเป็น “ต้นกล้าคนดีวิถีอุทัยฯ"  ที่ได้ทำคุณประโยชน์ ให้แก่นักเรียน นักศึกษา ประชาชนและสังคมของจังหวัดอุทัยธานี เพื่อประกาศเกียรติคุณเป็น “ต้นกล้าคนดีวิถีอุทัยฯ" ซึ่งเป็นการยกย่อง เชิดชูเกียรติและเป็นขวัญกำลังใจในการทำคุณประโยชน์ ให้แก่นักเรียน นักศึกษา ประชาชนและสังคมของจังหวัดอุทัยธานี รวมทั้งเป็นต้นแบบแห่งการสร้างสรรค์ความดี อันพึงเป็นคุณลักษณะที่ดีแก่สังคมไทย ซึ่งผลการรับสมัครบุคคล หน่วยงาน และโครงการ เพื่อประกาศเกียรติคุณเป็น ต้นกล้าคนดีวิถีอุทัยฯ”ประกอบด้วย ผลงานที่โดดเด่นและมีคุณค่าแก่การยกย่อง จำนวน ๕ ราย  และผลงานที่มีคุณค่าแก่การชื่นชม จำนวน ๑๑ ราย  

        กิจกรรมสุดท้ายที่ดำเนินการภายใต้แนวคิด ต้นกล้าคนดีวิถีอุทัยฯ สร้างวัฒนธรรมต้นกล้าคนดีวิถีอุทัยฯ สร้างผู้บริหารเด่น ครูดี และนักเรียนคุณภาพ คือการพัฒนาทักษะดิจิทัล (Digital Competency) ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ จำนวน ๘ หลักสูตร ซึ่งดำเนินการระหว่างวันที่ 2-5 สิงหาคม 2564  จำนวน ๘ หลักสูตร ประกอบด้วย โดยผู้เข้ารับการอบรมจะได้รับเกียรติบัตรด้วย สำหรับหลักสูตร ทั้ง 8 หลักสูตร ประกอบด้วย



1.ปั้นครูสู่ Graphic design สร้างสรรค์งานออกแบบง่ายด้วย แอพ Canva
วิทยากรโดย นายชัยพัทธ์ จิตต์ตระกูล ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนบ้านวังเกษตร



2.เปลี่ยนเนื้อหาที่วุ่นวายให้กลายเป็นบทเรียนที่แสนสนุกด้วย WordWall
วิทยากรโดยนางสาวดิศราพา ศรีนุช ครูผู้ช่วย โรงเรียนชุมชนบ้านทุ่งสงบ

3.การประยุกต์ใช้ Autocrat ผสานข้อมูลกับ Google Sheet สร้างเอกสารและส่งอีเมลอัตโนมัติวิทยากรโดย นายกฤษฎา ปาวา ครูผู้ช่วย โรงเรียนบ้านสระนารายณ์


4.สร้างเกมคำถามกับโปรแกรม Kahoot
วิทยากรโดยนางสาวเบญจวรรณ สาเสือ ครู โรงเรียนบ้านวังเตย



5.สร้างข้อมูลสารสนเทศง่ายๆด้วย Google Sheet และ Google Data Studio
วิทยากรโดย นายภูมิชน พรมสินชัย ครูชำนาญการ โรงเรียนบ้านหนองขุย




6.การสร้างแบบทดสอบออนไลน์ด้วย Google Forms
วิทยากรโดยนางสาวทองเพียร เตยหอม ครูชำนาญการ โรงเรียนอนุบาลเมืองอุทัยธานี


7.สร้างเว็บห้องเรียนออนไลน์ด้วย Google Site

วิทยากรโดยว่าที่ร.ต.วีระชัย รัตนโสภา ครู โรงเรียนบ้านเกาะเทโพ



8.Ghost All Win by ต้น
วิทยากรโดยนายประสาน อรุณศรีสุขสันต์ ช่างครุภัณฑ์ สพป.อุทัยธานี เขต 1



    ผลการดำเนินงาน สามารถพัฒนาบุคลากรในสังกัดและนอกสังกัดและผู้สนใจทั่วไป จำนวน 41,๒๘๑ คนทั่วประเทศ นับว่าประสบความสำเร็จเกินความคาดหมาย



    ผลการดำเนินงานภายใต้วัฒนธรรมต้นกล้าคนดีวิถีอุทัยฯ  นวัตกรรมทรงอิทธิพล สร้างผู้บริหารเด่น ครูดี นักเรียนคุณภาพ ส่งผลให้เกิดผลงานเด่นเป็นที่ประจักษ์ ประกอบด้วย

1.      ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสังกัด ได้รับรางวัลคุรุสดุดี และรางวัลพระพฤหัสบดี ได้แก่ นายอุทัย คำสีหา รองสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุทัยธานี เขต 1 


        2. สถานศึกษาในสังกัดได้รับรางวัลเหรียญทอง หนึ่งโรงเรียนหนึ่งนวัตกรรม คุรุสภา ระดับภูมิภาค ได้รับสิทธิ์เข้าคัดสรรผลงานในระดับประเทศ ได้แก่ โรงเรียนวัดดอนกลอย 
การศึกษาประถมศึกษาอุทัยธานี เขต 1  ในผลงาน “การบริหารจัดการสถานศึกษา โดยใช้รูปแบบ STEAK MODEL ใต้ร่มมหาวชิราบารมีต้นกล้าแห่งความดี วิถีดอนกลอย”

3. สถานศึกษาในสังกัดได้รับรางวัลเหรียญทอง รองชนะเลิศอันดับ 2 เป็นตัวแทนเข้าแข่งขันระดับชาติ รางวัลทรงคุณค่า OBEC AWARD ครั้งที่ 10 ปีการศึกษา 2563 ได้แก่ โรงเรียนวัดดอนกลอย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุทัยธานี เขต 1

4. สถานศึกษาในสังกัดมีผลการดำเนินงาน เป็นที่ยอมรับในระดับ สพฐ. โดยสถานศึกษาที่ดำเนินการพัฒนาตนเองโดยการส่งเสริมสนับสนุนภายใต้แนวคิด “ต้นกล้าคนดีวิถีอุทัยฯ” สามารถนำเสนอผลการพัฒนาคุณภาพที่เป็นเลิศในรายการโทรทัศน์ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (OBEC Channel) จำนวน 2 โรงเรียน ในรายการพุธเช้าข่าวโรงเรียน ครั้งที่ 3/2564 เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2564 โรงเรียนบ้านวังเกษตร อำเภอสว่างอารมณ์ จังหวัดอุทัยธานี สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุทัยธานี เขต 1 (https://www.youtube.com/watch?v=eIrmBr319Jw)  และรายการพุธเช้าข่าวโรงเรียน ครั้งที่ 7/2564 เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2564 โรงเรียนวัดดงแขวน อำเภอสว่างอารมณ์ จังหวัดอุทัยธานี สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุทัยธานี เขต 1 (https://www.youtube.com/watch?v=SWxUaRwNKWc)

            ผู้เขียนหวังว่าการพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสังกัด ภายใต้แนวคิด ต้นกล้าคนดีวิถีอุทัยฯ จะเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมสร้างและพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศ ทั้งในสถานการณ์ปกติและภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด๑๙ ขอให้ปลอดภัย ขอเป็นกำลังใจให้พี่น้องเพื่อนครูทุกคนครับ

9 กันยายน 2564

วันอังคารที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ภารกิจ รอง ผอ.สพป.

 ประชุมคณะกรรมการประเมินนักเรียนและสถานศึกษาเพื่อรับรางวัลพระราชทาน

วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 ได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุทัยธานีเขต 1 เข้าประชุมคณะกรรมการประเมินนักเรียนและสถานศึกษาเพื่อรับรางวัลพระราชทานระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประจำปีการศึกษา 2563 ระดับกลุ่มจังหวัดที่ 6 ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จย่า 90 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอ่างทอง


สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้จัดทำคู่มือการประเมินนักเรียนและสถานศึกษาเพื่อรับรางวัลพระราชทานระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานประจำปีการศึกษา 2563 เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพจึงได้กำหนดข้อปฏิบัติในการเมืองการประเมินระดับกลุ่มจังหวัดและมีประเด็นที่เป็นข้อเสนอแนะสรุปได้ดังนี้


1. ผู้ประเมินต้องตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้นของนักเรียนหรือสถานศึกษาให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ก่อนการประเมิน

2. รูปแบบวิธีการประเมินต้องเหมือนกัน

3. ไม่แสดงพฤติกรรมเพิ่มเฉยหรือปฏิเสธในการนำเสนอ

4. ต้องใช้เวลาในการประเมินให้เตรียมเวลาเท่าเทียมกันทุกโรงเรียนและระหว่างการประเมินให้หลีกเลี่ยงการกระทำใดๆที่ถือว่าเป็นเรื่องส่วนตัว

5. โครงการประเมินต้องประเมินด้วยความเป็นธรรมโดยไม่คำนึงว่าเป็นนักเรียนหรือสถานศึกษาสังกัดหน่วยงานใด

6. ต้องไม่เปิดเผยข้อมูลต่างๆที่ได้รับระหว่างการประเมินให้ถือเป็นความลับจะเปิดเผยไม่ได้และต้องไม่เปิดเผยผลการประเมินจนกว่ากระทรวงศึกษาจะประกาศผลอย่างเป็นทางการ


https://timeline.line.me/post/_dfIKJUgPrBdIETHUrx7_X_ruIjBAP1CAbbeFvfk/1161288082006024215


ภารกิจกลุ่มส่งเสริมฯ

09/02/64