วันอังคารที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

วินัยข้าราชการ

วินัยข้าราชการ
วินัยข้าราชการพลเรือน
http://www.nesac.go.th/document/show11.php?did=10040004

เมื่อข้าราชการกระทำความผิดวินัยเกิดขึ้น  จะอ้างว่าไม่รู้วินัย  ไม่รู้ระเบียบ  ไม่รู้กฎหมาย  เพื่อให้ตนเองพ้นจากความรับผิดย่อมมิได้…  โดยทั่วไปแล้วข้าราชการส่วนใหญ่มักจะมองข้ามไม่เห็นความสำคัญในเรื่องวินัยข้าราชการเท่าที่ควร และกฎหมายเกี่ยวกับวินัยข้าราชการพลเรือนเป็นเรื่องที่มีรายละเอียดค่อนข้างมาก  โดยมีพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน  พ.ศ.  2551  เป็นกฎหมายหลักเกี่ยวกับวินัยและการรักษาวินัย  นอกจากนี้ยังมี  กฎ  ก.พ. ระเบียบ  มติ ครม.  คำสั่ง  หนังสือเวียน  ธรรมเนียมปฏิบัติและนโยบายของรัฐบาลอีกเป็นจำนวนมาก  ซึ่งในปัจจุบันข้าราชการ พลเรือนยังคงถูกลงโทษทางวินัยอยู่เสมอ   มีทั้งกระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรง  และวินัยไม่ร้ายแรง   บางรายต้องโดนปลดออกจากราชการ บางรายต้องโดนไล่ออกจากราชการ  จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายความรู้ความสามารถของข้าราชการที่ต้องถูกลงโทษทางวินัย  ที่อุตส่าห์เล่าเรียนมา  แต่ต้องมาถูกลงโทษทางวินัยเพราะขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องวินัยข้าราชการ
ข้าราชการพลเรือน    มาตรา  4  แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน  พ.ศ. 2551 บัญญัติว่า  ข้าราชการพลเรือนหมายความว่า  บุคคลซึ่งได้รับบรรจุและแต่งตั้งตามพระราชบัญญัตินี้  ให้รับราชการโดยได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณในกระทรวง  กรมฝ่ายพลเรือน

วินัยข้าราชการพลเรือน   หมายความถึง  กฎหมาย  ระเบียบ  ข้อบังคับ  หรือแบบแผน ความประพฤติที่กำหนดให้ข้าราชการพลเรือนพึงควบคุมตนเอง และควบคุมผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาให้ประพฤติหรือปฏิบัติตามที่กำหนดไว้  ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการบริหารราชการแผ่นดิน   ตลอดจนให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นที่เชื่อถือแก่บุคคลทั่วไป  เหตุที่ต้องมีวินัยข้าราชการพลเรือน เพราะข้าราชการพลเรือนเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐในการบริหารราชการและปกครองอำนวยความสะดวกบำบัดทุกข์  บำรุงสุขแก่ราษฎร  นับว่าเป็นตัวจักรสำคัญที่จะนำมาซึ่ง  ความเจริญหรือความเสื่อมให้แก่ประเทศชาติ  จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ข้าราชการพลเรือนจะต้องทำตนให้เป็นที่เชื่อถือของประชาชน  โดยการทำตนเป็นคนดีอยู่ในระเบียบวินัยอันดี  ตั้งใจปฏิบัติราชการด้วยความเอาใจใส่ระมัดระวังรักษาประโยชน์ของทางราชการ  เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปโดยเรียบร้อยและเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น  หากข้าราชการพลเรือนไม่อยู่ในระเบียบวินัยอันดี  นอกจากจะ ทำให้เสื่อมเสียเกียรติของความเป็นข้าราชการแล้ว  ยังทำให้ประชาชนขาดความเชื่อถือศรัทธาในรัฐบาล  อันจะมีผลกระทบกระเทือนทำความเสียหายมาสู่ประเทศชาติ   และประชาชนโดยส่วนรวมด้วย  วินัย ข้าราชการพลเรือนจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องมี และข้าราชการพลเรือนทุกคนจะต้องรักษาวินัยโดย เคร่งครัดอยู่เสมอ  ผู้ใดฝ่าฝืนข้อห้าม หรือไม่ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติทางวินัยตามที่บัญญัติไว้  ย่อมถือว่า    ผู้นั้นกระทำผิดวินัย  และจะต้องได้รับโทษตามที่กำหนดไว้  แต่เป้าหมายของวินัยข้าราชการพลเรือน    มิได้อยู่ที่การลงโทษแต่เพียงอย่างเดียว  ควรมุ่งในด้านการเสริมสร้าง  และพัฒนาเพื่อให้ข้าราชการ       พลเรือนมีวินัยที่ดีด้วย  สำหรับเรื่องต่าง ๆ  ที่จะได้กล่าวต่อไปนั้น  จะอธิบายและชี้แจงเฉพาะในเรื่อง   ที่เกี่ยวกับวินัยข้าราชการพลเรือนสามัญเท่านั้น  โดยมีสาระสำคัญดังนี้ 
1. ความสำคัญ    วินัยข้าราชการพลเรือนเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้การปฏิบัติราชการมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล  วินัยจึงมีความสำคัญต่อราชการเป็นส่วนรวม  และต่อตัวข้าราชการในการประพฤติปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับการเป็นข้าราชการ
2. จุดมุ่งหมายของวินัยข้าราชการพลเรือน 
     2.1  เพื่อให้ราชการดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล 
     2.2  เพื่อความเจริญและความสงบเรียบร้อยของประเทศชาติ 
     2.3  เพื่อความผาสุกของประชาชน 
     2.4  เพื่อสร้างภาพพจน์ชื่อเสียงที่ดีของระบบราชการ
3. ผู้มีหน้าที่ในการรักษาวินัย     3.1 ผู้บังคับบัญชา 
    3.2 ข้าราชการทุกคน 
    
ผู้บังคับบัญชามีหน้าที่ในการรักษาวินัยของผู้ใต้บังคับบัญชา  3  แนวทาง  คือ
   1.   เสริมสร้างและพัฒนาให้ผู้ใต้บังคับบัญชามีวินัยโดยการ 
         - ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี 
         - การฝึกอบรม 
         - การสร้างขวัญและกำลังใจ 
         - การจูงใจ 
         - การอื่น ๆ

   2. ป้องกันมิให้ผู้ใต้บังคับบัญชากระทำผิดวินัยโดยการ 
         - เอาใจใส่ 
         - สังเกตการณ์ 
         - ขจัดเหตุ
   3. ปราบปรามผู้กระทำผิดวินัย 
        - กรณีมีมูล  ให้ดำเนินการทางวินัยทันที 
        - กรณีมีการกล่าวหาโดยปรากฏตัวผู้กล่าวหา  หรือมีกรณีเป็นที่สงสัยโดยยังไม่มีพยานหลักฐาน  ให้สืบสวนหรือพิจารณาในเบื้องต้นก่อน
         ผู้บังคับบัญชาละเลยหรือปฏิบัติโดยไม่สุจริต  ถือว่ากระทำผิดวินัย 
  
4. โทษทางวินัย
   
   โทษทางวินัยมี  5  สถาน  คือ

       4.1 ความผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง 
                1. ภาคทัณฑ์  เป็นโทษสำหรับกรณีกระทำผิดวินัยเล็กน้อย  หรือมีเหตุอันควรลดหย่อน  ซึ่งยังไม่ถึงกับจะต้องถูกลงโทษตัดเงินเดือน 
                 นอกจากนี้  กรณีกระทำผิดวินัยเล็กน้อยและมีเหตุอันควรงดโทษจะงดโทษให้โดยให้ทำทัณฑ์บนเป็นหนังสือหรือว่ากล่าวตักเตือนก็ได้ 
                 ผู้ถูกลงโทษภาคทัณฑ์  ไม่มีข้อห้ามไม่ให้เลื่อนขั้นเงินเดือนประจำปี  ดังนั้นหากผู้นั้นมีคุณสมบัติที่จะเลื่อนขั้นเงินเดือน  ก็อาจได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือนประจำปีได้ 
                2.  ตัดเงินเดือน  เป็นการลงโทษตัดเงินเดือนเป็นจำนวนเปอร์เซ็นต์ของเงินเดือนและเป็นจำนวนเดือน  เช่น  ตัดเงินเดือน  5  %  เป็นเวลา  2  เดือน  เมื่อพ้นเวลา  2  เดือนแล้วก็จะได้รับเงินเดือนตามปกติ 
                 ผู้ถูกลงโทษตัดเงินเดือน  จะไม่ได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือนประจำปีในปีนั้น

                3. ลดขั้นเงินเดือน เป็นการลงโทษลดขั้นเงินเดือนของผู้กระทำผิดลงเป็นจำนวนขั้นของเงินเดือน  เช่น  ลดขั้นเงินเดือน  1  ขั้น  จาก  5,560  บาท  เป็น  5,260  บาท 
                ผู้ถูกลงโทษลดขั้นเงินเดือนจะไม่ได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือนประจำปีในปีนั้น 
   
         4.2  ความผิดวินัยอย่างร้ายแรง

               4. ปลดออก เป็นการลงโทษผู้กระทำผิดให้พ้นจากราชการ โดยได้รับบำเหน็จ   บำนาญเสมือนผู้นั้นลาออกจากราชการ
               5.   ไล่ออก  เป็นการลงโทษผู้กระทำผิดให้พ้นจากราชการ  โดยไม่ได้รับบำเหน็จบำนาญ
               เป็นการลงโทษผู้กระทำผิดให้พ้นจากราชการ โดยได้รับบำเหน็จ   บำนาญเสมือนผู้นั้นลาออกจากราชการ                 เป็นการลงโทษผู้กระทำผิดให้พ้นจากราชการ  โดยไม่ได้รับบำเหน็จบำนาญ

                การลงโทษปลดออก หรือไล่ออกจากราชการจะต้องมีการแต่งตั้งกรรมการ  สอบสวนว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง  แจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาเท่าที่มีให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ  เพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงและนำสืบแก้ข้อกล่าวหา  และคณะกรรมการสอบสวนหรือผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเห็นว่าผู้นั้นกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ให้ผู้บังคับบัญชาส่งเรื่องให้  อ.ก.พ.จังหวัด  อ.ก.พ.กรม  หรือ  อ.ก.พ.กระทรวง  พิจารณา  เมื่อ อ.ก.พ.ดังกล่าวมีมติเป็นประการใด  ให้ผู้บังคับบัญชาสั่งหรือปฏิบัติไปตามนั้น
5.  การดำเนินการระหว่างการสอบสวนพิจารณาทางวินัย 
      5.1  การพักราชการ 
      5.2  การสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน
6.  การอุทธรณ์และร้องทุกข์
        6.1 การอุทธรณ์เป็นหลักประกันความเป็นธรรมแก่ข้าราชการที่ถูกลงโทษทางวินัยหรือถูกสั่งให้ออกจากราชการตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 มาตรา 110 (1) (3) (5) (6) (7) และ(8) โดยผู้ถูกลงโทษทางวินัยหรือถูกสั่งให้ออกจากราชการมีสิทธิอุทธรณ์ต่อ ก.พ.ค. ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบ  หรือถือว่าทราบคำสั่งตามมาตรา  114  แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน  พ.ศ.2551

         6.2 การร้องทุกข์เป็นหลักประกันความเป็นธรรมแก่ข้าราชการ กรณีข้าราชการ      มีความคับข้องใจอันเกิดจากการปฏิบัติ  หรือไม่ปฏิบัติต่อตนของผู้บังคับบัญชา  และกรณีที่ไม่อาจอุทธรณ์ตามหมวด 9 ว่าด้วยการอุทธรณ์ได้  ข้าราชการผู้นั้นมีสิทธิร้องทุกข์ได้โดยการร้องทุกข์ที่เหตุเกิดจากผู้บังคับบัญชาให้ร้องทุกข์ต่อผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไป    และการร้องทุกข์ที่เหตุเกิดจากหัวหน้าส่วนราชการระดับกรมที่อยู่ในบังคับบัญชา  หรือรับผิดชอบการปฏิบัติราชการขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีหรือต่อรัฐมนตรี  ปลัดกระทรวง  รัฐมนตรีเจ้าสังกัด  หรือนายกรัฐมนตรีให้ร้องทุกข์ต่อ ก.พ.ค.
กลุ่มงานกฎหมาย 
สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 
มีนาคม 2553

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น