คุณธรรมและจริยธรรมสำหรับนักบริหาร
*****************
คุณธรรมและจริยธรรมสำหรับนักบริหาร คือ
การใช้หลักธรรมปฏิบัติในการบริหารราชการทุกระดับ ตั้งแต่ระดับปฏิบัติการ
และผู้บริหารระดับต้น ระดับกลาง หรือระดับสูง ให้ได้ผลดีมีประสิทธิภาพสูง
โดยการปกครองและบริหารที่ดี (Good Governance)การปกครองและบริหารที่ดี ตามหลักธรรมปฏิบัตินั้น ผู้บริหารราชการต้องมี “ประมุขศิลป์” คือ คุณลักษณะความเป็นผู้นำที่ดี (Good Leadership) อันเป็นคุณสมบัติที่ดี ที่สำคัญ ของหัวหน้าฝ่ายบริหาร ลงมาถึงหัวหน้างานทุกระดับให้สามารถปกครอง และบริหารองค์กรที่ตนรับผิดชอบ ให้ดำเนินไปถึงความสำเร็จอย่างได้ผลดี มีประสิทธิภาพสูง และให้ถึงความเจริญ รุ่งเรือง และสันติสุขอย่างมั่นคง
คุณลักษณะความเป็นผู้นำที่ดีนั้น เป็นทั้งศาสตร์ (Science) และศิลป์ (Arts) กล่าวคือ สามารถศึกษาวิเคราะห์วิจัยข้อมูลอย่างมีระบบ (Systematic Study) จากพฤติกรรมและวิธีการปกครองการบริหารองค์กรให้สาเร็จด้วยดี มีประสิทธิภาพสูงมาแล้ว ประมวลขึ้นเป็นหลัก หรือทฤษฏี (Theory) ตามวิธีการทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Method) สำหรับใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติงานของหัวหน้าฝ่ายบริหาร ให้เกิดประโยชน์แก่การปกครองการบริหารที่ดี (Good Governance) กล่าวคือ ให้บรรลุผลสำเร็จด้วยดีมีประสิทธิภาพสูงได้ เพราะเหตุนั้น ประมุขศิลป์ คือ คุณลักษณะความเป็นผู้นำที่ดี จึงชื่อว่า เป็นศาสตร์ (Science) ํนอก จากนี้ คุณลักษณะความเป็นผู้นำที่ดีนั้น ยังเกิดจากการที่บุคคลได้เคยศึกษาหาความรู้ ฝึกฝนอบรมบ่มนิสัย และเคยปฏิบัติพัฒนาสภาวะความเป็นผู้นำที่ดี มาแต่ปางก่อน คือ แต่อดีตกาล จนหล่อหลอมบุคลิกภาพและสภาวะความเป็นผู้นำที่ดี ปลูกฝัง เพิ่มพูน อยู่ในจิตสันดานยิ่งขึ้นต่อๆ มาจนถึงปัจจุบัน ประมุขศิลป์ คือ คุณลักษณะของความเป็นผู้นำที่ดีเช่นนี้ ชื่อว่า เป็นศิลป์ (Arts) ซึ่งก็คือ “บุญบารมี” นั้นเอง
คุณธรรมสำหรับนักบริหาร
นักบริหารที่ดีควรมีคุณลักษณะความเป็นผู้นำที่ดี ซึ่งประกอบด้วยคุณสมบัติดังต่อไปนี้1. เป็นผู้มีบุคลิกภาพที่ดี (Good Personality) คือ เป็นผู้มีสุขภาพกาย และสุขภาพจิตที่ดี 1.1 มีสุขภาพที่ดี คือ เป็นผู้มีสุขภาพอนามัยที่ดี มีท่วงท่ากิรยา รวมทั้งการแต่งกายที่สุภาพ เรียบร้อยดีงาม สะอาด และดูสง่างามสมฐานะ 1.2 มีสุขภาพจิตที่ดี คือ เป็นผู้มีอัธยาศัยใจคอที่งาม เป็นคนดี มีศีลธรรม ได้แก่ ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา กับทั้งมีกัลยาณมิตตธรรม คือมีคุณธรรมของคนดี 1.3 เป็นผู้มีศรัทธา หมายถึง เป็นผู้รู้จักศรัทธาบุคคล และข้อปฏิบัติที่ควรศรัทธาไม่ลุ่มหลงงมงายในที่ตั้งแห่งความลุ่มหลง 1.4 เป็นผู้มีศีล คือ ผู้ที่รู้จักสำรวมระวัง ความประพฤติปฏิบัติ ทางกาย และวาจาให้ เรียบร้อยดีงาม ไม่ประพฤติเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น 1.5 เป็นผู้มีสุตะ คือ ผู้ได้เรียนรู้ทางวิชาการ และได้ศึกษาค้นคว้าในวิชาชีพดี 1.6 เป็นผู้มีจาคะ คือ เป็นผู้มีจิตใจกว้างขวาง ไม่คับแคบ รู้จักเสียสละ 1.7 เป็นผู้มีวิริยะ คือ ผู้ขยันหมั่นเพียร ในการประกอบกิจการงานงานอาชีพ และ/หรือในหน้าที่รับผิดชอบ 1.8 เป็นผู้มีสติ คือ ผู้รู้จัก ยับยั้ง ชั่งใจ รู้จักคิดไตร่ตรองให้รอบคอบ ก่อนคิด พูด ทำ 1.9 เป็นผู้มีสมาธิ คือ ผู้มีจิตใจตั้งมั่น ข่มกิเลสนิวรณ์ 2.0 เป็นผู้มีปัญญา คือ ผู้ที่รอบรู้กองสังขาร ผู้รอบรู้สภาวธรรมที่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง (สังขาร) และที่ไม่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง (วิสังขาร คือพระนิพพาน) ผู้รู้แจ้งพระอริยสัจ 4 รวมเป็น ผู้มีปัญญาอันเห็นชอบรอบรู้ทางเจริญ ทางเสื่อม แห่งชีวิต ตามที่เป็นจริง
2. เป็นผู้มีกัลยาณมิตตธรรม คือ ผู้มีคุณธรรมของมิตรที่ดี 7 ประการ คือ 1) เป็นผู้น่ารัก (ปิโย) คือ เป็นผู้มีจิตใจประกอบด้วยเมตากรุณาพรหมวิหาร 2) เป็นผู้น่าเคราพบูชา (ครุ) คือ เป็นผู้ที่สามารถเอาเป็นที่พึ่งอาศัย เป็นที่พึ่งทางใจ 3) เป็นผู้น่านับถือ น่าเจริญใจ (ภาวนีโย) ด้วยว่า เป็นผู้ได้ฝึกฝนอบรมตนมาดีแล้ว ควรแก่การยอมรับและยกย่องนับถือ เอาเป็นเยี่ยงอย่างได้ 4) เป็นผู้รู้จักพูดจาโดยมีเหตุผลและหลักการ (วัตตา) รู้จักชี้แจง แนะนำ ให้ผู้อื่นเขาใจดี แจ่มแจ้ง เป็นที่ปรึกษาที่ดี 5) เป็นผู้อดทนต่อถ้อยคำที่ล่วงเกิน วิพากษ์ วิจารณ์ ซักถาม หรือขอปรึกษาหารือ ขอให้คำแนะนำต่างๆ ได้ (วจนักขโม) 6) สามารถแถลงชี้แจงเรื่องที่ลึกซึ้ง หรือเรื่องยุ่งยากซับซ้อนให้เข้าใจอย่างถูกต้อง และตรงประเด็นได้ (คัมภีรัญ จะ กะถัง กัตตา) 7) ไม่ชักนำในอฐานะ (โน จัฏฐาเน นิโยชะเย) คือไม่ชักจูงไปในทางเสื่อม(อบายมุข) หรือไปในทางที่เหลวไหล ไร้สาระ หรือที่เป็นโทษ เป็นความทุกข์ เดือดร้อน
จริยธรรมสำหรับนักบริหาร
1. เป็นผู้มีหลักธรรมในการครองงานที่ดี ด้วยคุณธรรม คือ อิทธิบาทธรรม ได้แก่ 1.1 ฉันทะ ความรักงาน คือ
จะต้องเป็นผู้รักงานที่ตนมีหน้าที่รับผิดชอบอยู่
และทั้งจะต้องเอาใจใส่กระตือรือร้นในการเรียนรู้งาน
และเพิ่มพูนวิชาความรู้ความสามารถในการทำกิจการงาน และมุ่งมั่นที่จะทำงานในหน้าที่รับผิดชอบหรือกิจการงานอาชีพของตนให้สำเร็จเรียบร้อยอยู่เสมอ 1.2 วิริยะ ความเพียร คือ
จะต้องเป็นผู้มีความขยันหมั่นเพียร
ประกอบด้วยความอดทนไม่ย่อท้อต่อความยากลำบากในการประกอบกิจการงานในหน้าที่
หรือในอาชีพของตน จึงจะถึงความสำเร็จและความเจริญก้าวหน้าได้ 1.3 จิตตะ ความเป็นผู้มีใจจดจ่ออยู่กับการงาน ผู้
ที่ทำงานได้สำเร็จด้วยดี มีประสิทธิภาพนั้น
จะต้องเป็นผู้เอาใจใส่ต่อกิจการงานที่ทำ
และมุ่งกระทำงานอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะสำเร็จ
ไม่ทอดทิ้งหรือวางธุระเสียกลางคัน ไม่เป็นคนจับจด หรือทำงานแบบทำๆ หยุดๆ หัว
หน้าหน่วยงานหรือผู้บริหารจะต้องคอยดูแลเอาใจใส่ “ติดตามผลงาน และ /หรือ
ตรวจงาน” หน่วยงานต่างๆ ภายในองค์การของตน เพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัย
ตัดสินใจ และสั่งการให้กิจการงาน ทุกหน่วยดำเนินตามนโยบายและแผนงาน
ให้ถึงความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ 1.4 วิมงสา ความเป็นผู้รู้จักพิจารณาเหตุสังเกตผลในการปฏิบัติงานของตนเองและของผู้น้อยหรือของผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา ว่า
ดำเนินไปตามนโยบายและแผนงานที่วางไว้หรือไม่
ได้ผลสำเร็จหรือมีความคืบหน้าไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้หรือไม่เพียงไร
มีอุปสรรคหรือปัญหาที่ควรได้รับการปรับปรุงแก้ไขวิธีการทำงาน
หรือวิธีการบริหารกิจการงานนั้นให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ได้อย่างไรขั้นตอน
นี้เป็นการนำข้อมูลจากที่ได้ติดตามประเมินผลงานหรือตรวจงานนั้นแหละมา
วิเคราะห์วิจัย ให้ทราบเหตุผลของปัญหาหรืออุปสรรคข้อขัดข้องในการทำงาน
แล้วพิจารณาแก้ไขปัญหาเหล่านั้น
และปรับปรุงพัฒนาวิธีการทำงานให้ดำเนินไปสู่ความสำเร็จ
ให้ถึงความเจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไปได้ ั2. รู้จักหลักปฏิบัติต่อกันด้วยดี ระหว่างผู้บังคับบัญชากับลูกน้อง หรือผู้อยู่ใต้ผู้บังคับบัญชา ตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้า ชื่อ “เหฏฐิทิศ” มีเนื้อความว่า “เหฏฐิทิศ” คือ ทิศเบื้องต่ำ เจ้านาย หรือผู้บังคับบัญชา พึงบำรุงบ่าว คือผู้ใต้บังคับบัญชา ด้วยสถาน 5 คือ 2.1 ด้วยการจัดงานให้ตามกำลัง กล่าว คือ มอบหมายหน้าที่การงานให้ตามกำลังความรู้ สติปัญญา ความสามารถ (Put the right man on the right job – รู้จักใช้คนให้ถูกกับงาน) 2.2 ด้วยการให้อาหารและบำเหน็จรางวัล กล่าว คือ เมื่อทำดี ก็รู้จักยกย่องชมเชยและ/หรือ สนับสนุน อุดหนุน ให้ได้รับบำเหน็จรางวัล เลื่อนยศ เลื่อนตำแหน่ง ตามสมควรแก่ฐานะ เมื่อทำไม่ดี ก็ให้คำตักเตือน แนะนำ สั่งสอน ให้พัฒนาสมรรถภาพให้ดีขึ้น ถ้าไม่ยอมแก้ไขพัฒนาตนให้ดีขึ้น ก็ต้องตำหนิ และมีโทษตามกฎเกณฑ์ โดยชอบธรรม 2.3 ด้วยการรักษาพยาบาลในยามเจ็บไข้ กล่าว คือ ต้องรู้จักดูแลสารทุกข์ สุกดิบของผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา ไม่เป็นผู้แล้งน้ำใจ คือไม่ปฏิบัติกับลูกน้อง หรือผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา 2.4 ด้วยแจกของมีรสดีแปลกๆ ให้กิน หมายความว่า ให้รู้จักมีน้ำใจแบ่งปันของกินของใช้ดีๆ ให้ลูกน้อง 2.5 ด้วยปล่อยในสมัย คือ รู้จักให้ลูกน้อง หรือผู้ใต้บังคับบัญชาได้ลาพักผ่อนบ้าง
ส่วนบ่าว หรือลูกน้องผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา เมื่อเจ้านาย หรือผู้บังคับบัญชา ทำนุบำรุงอย่างนี้แล้ว ก็พึงปฏิบัติอนุเคราะห์เจ้านาย ผู้บังคับบัญชาด้วยสถาน 5 ตอบแทนด้วยเช่นกัน คือ (1) ลุกขึ้นทำงานก่อนนาย คือ ให้รับสนองงานผู้บังคับบัญชาด้วยความขยันขันแข็งควรมาทำงานก่อนนาย หรือผู้บังคับบัญชา อย่างน้อย ก็มาให้ทันเวลาทำงาน ไม่มาสายกว่านาย หรือสายกว่าเวลาทำงานตามปกติ (2) เลิกการทำงานที่หลังนาย คือ ทำงานด้วยความขยันขันแข็ง แม้เลิก ก็ควรเลิกที่หลังนาย หรือผู้บังคับบัญชา อย่างน้อยก็อยู่ทำงานให้เต็มเวลา ไม่หนีกลับก่อนเวลาเลิกงาน (3) ถือเอาแต่ของที่นายให้ คือ มีความซื่อสัตย์ จงรักภักดี ไม่คดโกงนาย หรือผู้บังคับบัญชา ไม่คอร์รัปชั่น ไม่เรียกร้องต้องการโดยไม่เป็นธรรม หรือเกินเหตุ (4) ทำงานให้ดีขึ้น คือ ต้องรู้จักพัฒนาคุณวุฒิ ความรู้ ความสามารถ และวิสัยทัศน์ในการทำงาน ให้ได้ผลดี มีประสิทธิภาพสูง (5) นำคุณของนายไปสรรเสริญ คือ รู้จักนำคุณความดีของเจ้านาย ผู้บังคับบัญชาไป ยกย่อง สรรเสริญ ตามความเป็นจริง ในที่และโอกาสอันสมควร
กล่าวโดยย่อ ผู้บังคับบัญชา กับ ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา พึงปฏิบัติต่อกัน ดังคำนักปกครอง นักบริหารแต่โบราณ กล่าวว่า “อยู่สูงให้นอนคว่ำ อยู่ต่ำให้นอนหงาย” “อยู่สูงให้นอนคว่ำ” หมาย ความว่า เป็นผู้ปกครอง ผู้บังคับบัญชา หรือเป็นผู้นำคนพึงดูแลเอาใจใส่ ทำนุบำรุง ผู้ใต้บังคับบัญชา หรือลูกน้องด้วยดี คือด้วยความเป็นธรรม ตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้า ตามที่กล่าวข้างต้นนี้ เพื่อให้ลูกน้อง หรือผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา มีขวัญกำลังใจในการสนองงานได้เต็มที่ อย่าให้ลกน้อง หรือผู้ใต้บังคับบัญชา เกิดความรู้สึกท้อถอย ว่าทำดีสักเท่าใด ผู้ใหญ่ ก็ไม่เหลียวแล ดังคำโบราณท่านว่า มีปาก ก็มีเปล่า เหมือนเต่าหอย เป็นผู้น้อย แม้ทำดี ไม่มีขลัง หรือ อย่าให้ลูกน้อง หรือผู้ใต้บังคับบัญชา เกิดความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจว่า ผู้ใหญ่ไม่ยุติธรรม มักเลือกปฏิบัติไม่เสมอกัน ดังคำที่ว่า (เรา) ทำงานทั้งวัน ได้พันห้า (ส่วนคนอื่น) เดินไปเดินมา ได้ห้าพัน “อยู่ต่ำให้นอนหงาย” หมาย ความว่า ลูกน้อง หรือผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา ก็พึงปฏิบัติตนต่อเจ้านาย หรือผู้บังคับบัญชาด้วยดี รับสนองงานท่านด้วยความยินดี ด้วยใจจริง และทำงานด้วยความเข้มแข็ง ตามหลักธรรม คือ “เหฏฐิมทิศ” ดังกล่าวมาแล้ว
3. เป็นผู้มีมนุษย์สัมพันธ์ (Human Relation) ที่ดี ด้วยคุณธรรม คือพรหมวิหารธรรม และสังคหวัตถุ เป็นต้น พรหมวิหารธรรม คุณธรรมเครื่องอยู่ของผู้ใหญ่ 4 ประการ
(1) เมตตา คือ ความรัก ปรารถนาที่จะให้ผู้อื่นอยู่ดีมีสุข
(2) กรุณา คือ ความสงสาร ปรารถนาให้ผู้มีทุกข์ เดือดร้อน ให้พ้นทุกข์
(3) มุทิตา คือ ความพลอยยินดี ที่ผู้อื่นได้ดี ไม่คิดอิจฉาริษยากัน
(4) อุเบกขา คือ ความวางเฉย ไม่ยินดียินร้าย เมื่อผู้อื่นถึงซึ่งความวิบัติ โดยที่เราก็ช่วยอะไรไม่ได้ ก็ต้องปล่อยวางใจของเราเองด้วยปัญญา ตามพระพุทธพจน์ว่า “สัตว์โลกเป็นไปตามกรรม”
สังคหวัตถุธรรม 4 ประการ คือ (1) ทาน รู้จักให้ปัน สิ่งของ ของตน แก่ผู้อื่นที่ควรให้ปัน (2) ปิยวาจา รู้จักเจรจาอ่อนหวาน คือ กล่าวแต่วาจาที่สุภาพอ่อนโยน (3) อัตถจริยา รู้จักประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น (4) สมานัตตตา เป็นผู้มีตนเสมอ คือไม่ถือตัวเย่อหยิ่ง จองหอง อวดดี คุณธรรม 4 ประการนี้ เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้อื่นไว้ได้ และยังความสมัครสมานสามัคคี ให้เกิดขึ้นระหว่างกันและกันด้วย หรือจะเรียกว่า เป็น “หลักธรรมมหาเสน่ห์” ก็ได้
4. เป็นผู้มีความคิดริเริ่ม (Initiatives) ด้วยความคิดสร้างสรรค์ (Creative) โครงการ ใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์สุขแก่หมู่คณะ สังคม และประเทศชาติ และวิธีการทำงานใหม่ๆ ให้การปกครองการบริหาร กิจการงานได้บังเกิดผลดี มีประสิทธิภาพสูงยิ่งขึ้น
5. มีความคิดพัฒนา (Development) คือ เป็นนักพัฒนา ปรับปรุงแก้ไขสิ่งที่ล้าหลังหรือข้อบกพร่องในการทำงานให้ดีขึ้นอยู่เสมอ
6. เป็นผู้มีสำนึกในภาระหน้าที่ความรับผิดชอบ (Sense of Responsibilities) สูง คือ มีสำนึกในความรับผิดชอบต่อตนเอง โดยการศึกษาหาความรู้ เพิ่มพูนศักยภาพ และสำนึกในการสร้างฐานะของตน และมีสำนึกในหน้าที่ความรับผิดชอบต่อส่วนรวม คือต่อครอบครัว ต่อองค์กรและหมู่คณะที่ตนรับผิดชอบอยู่ และต่อสังคมประเทศชาติ ให้เจริญสันติสุขและมั่นคง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำนึกในหน้าที่รับผิดชอบต่อสถาบันหลักทั้ง 3 ของประเทศชาติไทยเรา คือ สถาบันชาติ 1 สถาบันพระพุทธศาสนา 1 และสถาบันพระมหากษัตริย์ 1 เพราะสถาบันหลักทั้ง 3 นี้ หากสถาบันใดคลอนแคลน ไม่มั่นคง ไม่ว่าจะเป็นเพราะถูกศัตรูภายใน และ/หรือ ศัตรูจากภายนอกรุกราน ย่อมกระทบกระเทือนถึงสถาบันหลักอื่นๆ ของชาติไทยเรา ให้พลอยคลอนแคลนอ่อนแอไปด้วย
ผู้นำที่ดี จึงย่อมต้องสำเหนียก และ จักต้องมีความสำนึก ในหน้าที่ความรับผิดชอบต่อสถาบันหลักทั้ง 3 นี้ อย่างจริงใจ และจะต้องรับช่วยกันดำเนินการ ให้ความคุ้มครอง ป้องกันแก้ไข บำรุงรักษา อย่างเข้มแข็งจริงจัง และต่อเนื่อง ให้เกิดความเจริญ และความสันติสุขอย่างมั่นคงให้ได้
7. มีความมั่นใจตนเอง (Self Confidence) สูง หมาย ถึง มีความมั่นใจโดยธรรมคือมีความมั่นใจในความรู้ ความสามารถ สติปัญญาและวิสัยทัศน์ และทั้งคุณธรรม คือความเป็นผู้มีศีลมีธรรม อันตนได้ศึกษาอบรมมาดีแล้ว มิใช่มีความมั่นใจอย่างผิดๆ ลอยๆ อย่างหลงตัวหลงตน ทั้งๆที่แท้จริง ตนเองหาได้มีคุณสมบัติและคุณธรรมดีสมจริงไม่ และจักต้องรู้จักแสดงความมั่นใจ ในเวลา คิด พูด ทำ ให้เหมาะสมกับกาละ เทศะ บุคคล สถานที่ และประชุมชน ด้วย
8. เป็นผู้ประกอบด้วย “หลักธรรมาภิบาล” คือ คุณธรรมของนักปกครอง นักบริหาร ที่ดี (Good Governance) คือ 1.1 หลักความถูกต้อง คือ มีการพิจารณาวินิจฉัยปัญหา การทำการตัดสินใจ (Decision Making) และสั่งการ (Command) ด้วยความถูกต้องตามกฎหมายบ้านเมือง และกฎระเบียบข้อบังคับขององค์กร ที่ออกตามกฎหมาย ถูกต้องตามหลักศีลธรรมเนียมประเพณีที่ดีของสังคม ถูกต้องตามนโยบายของผู้บังคับบัญชาหน่วยเหนือ และถูกต้องตรงประเด็นตามหลักวิชาและได้รับความพึงพอใจจากชนที่เกี่ยวข้องทุก ฝ่าย
1.2 หลักความเหมาะสม คือ รู้จักคิด พูด ทำ กิจการงาน และปฏิบัติงานได้เหมาะสมถูกกาละ เทศะ บุคคล สังคม และสถานการณ์ กล่าวคือ เป็นผู้มีสัปปุริสธรรม คือ คุณธรรมของสัตบุรุษคือคนดีมีศีลธรรม มี 7 ประการ คือ 1) ธัมมัญญุตา รู้จักเหตุ ได้แก่ ปัญญารู้เหตุแห่งทางเจริญ และทางเสื่อม เป็นต้น 2) อัตถัญญุตา รู้จักผล ได้แก่ ปัญญารู้ผล ที่เป็นมาแต่เหตุ หรือปัจจัยให้เกิดผลต่างๆ ตามที่เป็นจริง
3) อัตตัญญุตา รู้จักตน คือ รู้ภูมิธรรม ภูมิปัญญา และฐานะของตน ตามที่เป็นจริงแล้ววางตนให้เหมาะสมแก่ฐานะ
4) มัตตัญญุตา รู้จักประมาณ ปฏิบัติตน วางตนให้เหมาะสมแก่ฐานะ และรู้จักประมาณในการบริโภคใช้สอนทรัพย์ที่มีอยู่ และตามมีตามได้
5) กาลัญญุตา รู้จักกาล คือ รู้จักเวลา หรือโอกาสที่สมควร และไม่ควรพูด หรือกรทำการต่างๆ
6) ปริสัญญุตา รู้จักชุมชน ว่ามีอัธยาศัยใจคอ ฐานะความเป็นอยู่ และขนบธรรมเนียมประเพณี ของหมู่ชนต่างๆ เพื่อให้รู้จักวางตัวให้เหมาะสม
7) ปุคลัญญุตา รู้จักบุคคล ว่ามีอัธยาศัยใจคอ มีภูมิธรรม ภูมิปัญญา และมีฐานะ อย่างไรเพื่อปฏิบัติตน หรือวางตน ให้เหมาะสมตามฐานะของเราและของเขา
1.3 หลักความบริสุทธิ์ คือ มีการวินิจฉัย สั่งการ กระทำกิจการงาน ด้วยความบริสุทธิ์ใจ คือ ด้วยเจตนา ความคิดอ่าน ที่บริสุทธิ์
1.4 หลักความยุติธรรม คือ มีการวินิจฉัย สั่งการ และปฏิบัติต่อผู้อยู่ใต้ปกครอง และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ด้วยความชอบธรรม บนพื้นฐานแห่งหลักธรรม หลักการ เหตุผล และข้อมูลที่ถูกต้องเชื่อถือได้ และตรงประเด็น และด้วยความเที่ยงธรรม คือ ไม่อคติ หรือ ลำเอียง ด้วยความหลงรัก หลงชังด้วยความกลังเกรง และด้วยความหลง ไม่รู้จริง คือขาดข้อมูลที่ถูกต้องเชื่อถือได้ และสมบูรณ์ เป็นเครื่องประกอบการวินิจฉัย ตัดสินใจ ให้ความเที่ยงธรรม
คุณธรรม-จริยธรรมตามแนวพระบรมราโชวาท
หลัก
“ธรรมาภิบาล” นี้ เมื่อกระจายเป็นข้อปฏิบัติดี-ปฏิบัติชอบ
สำหรับพระราชามหากษัตริย์ที่ทรงใช้ปกครองพระราชอาณาจักร
ให้อาณาประชาราษฎร์อยู่เย็นเป็นสุข ชื่อว่า “ทศพิธราชธรรม” อันผู้
ปกครอง/ผู้บริหารประเทศชาติทุกระดับ และแม้ผู้บริหารองค์กรอื่นๆ
พึงใช้ประกอบการปฏิบัติงานของตน ให้บรรลุความสำเร็จตามเป้าหมาย
เพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชนโดยส่วนรวม ได้เป็นอย่างดี“ทศพิธราชธรรม” อัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงคุณอันประเสริฐของเรา ได้ทรงถือเป็นหลักปฏิบัติ ในการครองราชอาณาจักร ให้พสนิกรของพระองค์อยู่เย็นเป็นสุข เป็นที่ประจักษ์ตา ประจักษ์ใจแก่ชาวโลกเสมอมานั้น มี 10 ประการ ตามพระพุทธภาษิตดังต่อไปนี้ คือ
1) ทาน การให้
2) ศีล การสังวรระวังกายและวาจา ให้เรียบร้อยดีไม่มีโทษ
3) ปริจจาคะ การเสียสละ
4) อาชชวะ ความซื่อตรง
5) มัททวะ ความสุภาพอ่อนโยน
6) ตปะ ความเพียรเพ่งเผากิเลส
7) อักโกธะ ความไม่โกรธ
8) อวิหิงสา การไม่เบียดเบียนผู้อื่น ตลอดทั้งสัตว์ให้ได้ทุกข์ยาก
9) ขันติ ความอดทน
10) อวิโรธนะ ความประพฤติปฏิบัติที่ไม่ผิดทำนองคลองธรรม และดำรงอาการคงที่ ไม่หวั่นไหว ด้วยอำนาจยินดียินร้าย
การเสริมสร้างคุณธรรม-จริยธรรมสำหรับนักบริหารนักบริหารที่ดีควรมีหลักธรรมสำหรับพัฒนาตน เพื่อเสริมสร้างคุณธรรม ได้แก่
1. ศีล คือ การสำรวมระวัง ความประพฤติปฏิบัติ ทางกาย และทางวาจา ให้เรียบร้อยดีงามไม่ประพฤติเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น2. สมาธิ คือการรักษาใจให้ผ่องใสปราศจากกิเลสนิวรณ์ แล้วให้ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดี่ยว
3. ปัญญา คือ การรอบรู้กองสังขาร รอบรู้สภาวธรรมที่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง (สังขาร) และที่ไม่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง (สังขาร คือพระนิพาน) และรู้แจ้งเห็นแจ้งพระอริยสัจ 4 รวมเป็นผู้มีปัญญาอันเห็นชอบรอบรู้ทางเจริญ ทางเสื่อม แห่งชีวิต ตามที่เป็นจริง
ศีล สมาธิ และปัญญานี้ รวมเรียกว่า ไตรสิกขา คือ หลักธรรมที่ควรศึกษาปฏิบัติ 3 ประการ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น