มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม
Distance Learning Foundation
มูลนิธิการ ศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (Distance Learning Foundation) การดำเนินงานของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมตลอดระยะเวลา 14 ปี ที่ผ่านมาได้ “ถ่ายทอดสด 1 ช่อง 1 ชั้น” ตั้งแต่ประถมศึกษาปีที่ 1 - มัธยมศึกษาปีที่ 6 12 ช่อง 12 ชั้น และมีช่องการอาชีพ ช่องมหาวิทยาลัยและรายการนานาชาติอีกอย่างละ 1 ช่อง รวมทั้งสิ้น 15 ช่อง 24 ชั่วโมง จากโรงเรียนวังไกลกังวล โรงเรียนราษฎร์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยผู้เรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น ผู้ที่มีจาน Ku band หรือเป็นสมาชิก UBC Dstv จะสามารถชมได้ทั้ง 15 ช่อง ตั้งแต่ช่อง True vision 81 – 95 ซึ่งเป็น ระบบ DTH (Direct To Home) สอนโดยครูคนเดียวกัน เวลาเดียวกัน คุณภาพเดียวกัน ถ่ายทอดโดยตรงจากโรงเรียนวังไกลกังวล เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้โรงเรียนต่างๆที่ขาดแคลนครูโดยเฉพาะครูประจำวิชา โดยแต่ละโรงเรียนติดตั้งจานดาวเทียมเพียงจานเดียว และติดตั้งเครื่องรับสัญญาณ (IRD) จำนวนเท่ากับจำนวนห้องเรียน สำหรับห้องเรียนที่มีนักเรียนน้อยกว่า 15 คน ใช้โทรทัศน์เครื่องเดียวในระดับสายตา แต่ถ้ามากกว่า 20 คน ใช้โทรทัศน์จำนวน 2 เครื่อง
นอกจากนั้นแล้วยังสามารถรับชมการเรียนการเรียนการสอนด้วยระบบ eLearning ที่ www.dlf.ac.th ซึ่งถ่ายทอดการเรียนการสอนจากโรงเรียนวังไกลกังวลทุกชั้นเรียนผ่านทางอิน เทอร์เน็ต (Internet) โดยเลือกเข้าชมได้ทั้งการถ่ายทอดสดเช่นเดียวกับที่ออกอากาศทางทีวี (Live Broadcast) หรือเลือกชมย้อนหลัง(On Demand) ได้ตามอัธยาศัย
eSchool ก็เป็นอีกระบบหนึ่งที่มูลนิธิฯ ได้พัฒนาขึ้นเพื่อรองรับผู้เรียนด้วยตนเองโดยเฉพาะผู้เรียนในต่างประเทศ เป็นการสอนนอกระบบ ให้ผู้เรียน เรียนรู้ด้วยตนเอง มีให้เลือกเรียนหลากหลาย เช่น รายการศึกษาทัศน์ ซึ่งรวมถึงเรื่องฝนเทียมที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสอนนักเรียน โรงเรียนวังไกลกังวล ด้วยพระองค์เอง รายการสารคดีเกี่ยวกับวัฒนธรรมประเพณีไทย และความรู้ทั่วไป เป็นต้น โดยสามารถชมได้ที่ www.dlfeschool.in.th
มูลนิธิฯ ได้ดำเนินการมากว่า 14 ปีแล้ว สำนักงานตั้งอยู่ในกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีอุปกรณ์สำหรับการประชุมทางไกลผ่านจอภาพด้วย(Videoconference) มูลนิธิฯ ได้รับเงินสนับสนุนการดำเนินงานรายปีจากรัฐบาล ผ่านทางกระทรวงศึกษาธิการปีละประมาณ 350 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายของมูลนิธิฯ รวมทั้งค่าอุปกรณ์ติดตั้งระบบการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ที่มูลนิธิฯ นำไปติดตั้งให้แก่โรงเรียนทั่วประเทศ ตั้งแต่ปีแรกที่เริ่มก่อตั้งมูลนิธิฯ (พ.ศ. 2538) จนถึงปัจจุบัน รวมกว่า 16,000 โรงเรียน เพราะฉะนั้นไม่ว่ามูลนิธิฯ จะจัดซื้อหรือจัดหาเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ เพื่อใช้งานที่สถานีหรือสำนักงานมูลนิธิฯ ก็มาจากงบประมาณของรัฐบาลด้วย ดังนั้นทรัพย์สินทุกอย่างของมูลนิธิฯก็ถือเป็นทรัพย์สินรวมของกระทรวง ศึกษาธิการ
ขณะนี้มูลนิธิฯ มีความร่วมมือกัน NECTEC ตามโครงการในพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ในเรื่องการสนับสนุนการเรียนการสอนทุกกลุ่มสาระ โดย NECTEC ได้นำเทปการสอนทุกกลุ่มสาระของมูลนิธิฯ ไปปรับให้อยู่ในรูปแบบของ Soft Copy โดยส่งกลับให้ครูประจำวิชาที่โรงเรียนวังไกลกังวลตรวจสอบความถูกต้อง ก่อนจะนำเข้าระบบคอมพิวเตอร์แม่ข่าย(Server) เพื่อเผยแพร่ตามโรงเรียนต่างๆที่ร่วมโครงการ
ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ที่เป็นผลจากการเรียนกับระบบการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม หรือ “ครูตู้” เป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง และมีสถิติสูงขึ้นทุกปี ขณะนี้มีผู้สำเร็จการศึกษาจากการศึกษาด้วยระบบทางไกลผ่านดาวเทียม จากทุกภาคของประเทศไทย กว่า 684 คน (สถิติจากนักเรียนที่จบจาก รร.ราชประชานุเคราะห์ทั่วประเทศ) และ สามารถเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาและประสบความสำเร็จเป็นจำนวนมาก และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี ดังนี้
ปี 2544 เกียรตินิยมอันดับ 1 4 คน ปี 2545 เกียรตินิยมอันดับ 1 4 คน
ปี 2546 เกียรตินิยมอันดับ 1 5 คน ปี 2547 เกียรตินิยมอันดับ 1 12 คน ปี 2548 เกียรตินิยมอันดับ 1 24 คน
ปี 2549 เกียรตินิยมอันดับ 1 22 คน ปี 2550 เกียรตินิยมอันดับ 1 25 คน
ปัจจุบันสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงให้มูลนิธิฯ ร่วมกับรัฐบาลติดตั้งระบบการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมให้แก่โรงเรียนใน จังหวัดภาคใต้ โดยได้รับงบประมาณจำนวน 45 ล้านบาท ติดตั้งได้ 900 โรงเรียน รวมจากเดิมเป็น 1,200 โรงเรียนทั้งภาคใต้ ปัจจุบันนักเรียนในโรงเรียนปอเนาะ ที่มีนักเรียนประมาณ 1,000 คน ศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ประมาณ 100 คน สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ 70 คน หมายความว่ามีนักเรียนประสบความสำเร็จในการเรียนคิดเป็นเปอร์เซ็นต์แล้ว มีมากถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ตัวอย่างเช่น โรงเรียนพัฒนาวิทยา อ.เมือง จ.ยะลา เป็นต้น
ส่วนในจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีนักเรียนที่เรียนจบจาก ”ครูตู้” และเรียนจบถึงระดับปริญญาโท ตัวอย่างเช่น นางสาวจินตนา วรรณยง จ.ยโสธร , นางสาวสรัลนุช ทองกอง จ.อุดรธานี ปัจจุบันทำงานเป็นเจ้าหน้าที่มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม นางสาวจันทร์ดี วงศ์สวัสดิ์ เรียนจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 ด้วยคะแนนเฉลี่ย 3.65 และได้รับทุนพระราชทานเข้าเรียนระดับอุดมศึกษาคณะนิติศาสตร์ ซึ่งตลอดเวลาที่เรียนตั้งแต่ปี 1-4 ได้คะแนนเฉลี่ย 4.00 เมื่ออยู่ชั้นปี 3 ได้เข้าร่วมแข่งขันในวันระพี โดยการแข่งขันโต้เถียงปัญหาทางกฎหมายโดยการแถลงด้วยวาจาในชั้นศาลอุทธรณ์ ชิงรางวัลสมเด็จพระบรมโอรสสาธิราชฯ สยามบรมราชกุมารร่วมกับ 20 มหาวิทยาลัยรวมทั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยนางสาวจันทร์ดี ได้รับรางวัลชนะเลิศ ในปีต่อมามูลนิธิฯสนับสนุนให้เรียนเนติบัณฑิตและสามารถศึกษาจบภายในปีเดียว
นักเรียนจากภาคเหนือแม้จะเป็นชาวเขาเผ่าลีซอก็สามารถเรียนกับ “ครูตู้ ”และประสบความสำเร็จได้ เช่น นางสาววนิดา เลาหมู่ จ.แม่ฮ่องสอน เกรดเฉลี่ย 3.84 ปัจจุบันศึกษาอยู่คณะบริหารธุรกิจ สาขาบัญชี ปี 3 มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ นางสาวจิรวรรณ สุขจิตร จ.แพร่ เกรดเฉลี่ย 3.54 ปัจจุบันศึกษาคณะนิติศาสตร์ ปี 2 มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีศิษย์เก่า “ครูตู้” ที่จบการศึกษาระดับปริญญาโท และเข้าทำงานที่มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม และมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ เช่น นางสาวกาญจนา สุริยะ จ.แม่ฮ่องสอน ตำแหน่งเจ้าหน้าที่วิเทศสัมพันธ์ นางสาวสุวิมล กุณะจันทร์ จ.แพร่ ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ eLarning ฝ่ายอบรมและพัฒนาครู นางสาวพัชริญา ชนะเดช จ.ลำพูน ตำแหน่งเจ้าหน้าที่สงเคราะห์ผู้ประสบภัย นางสาววิไส สีแสง จ.พิษณุโลก ตำแหน่งเจ้าหน้าที่การเงิน
ในส่วนของโรงเรียนวังไกลกังวล ซึ่งเป็นโรงเรียนต้นทาง ก็มีนักเรียนที่ประสบความสำเร็จในการศึกษา เช่น นายลัญชกร กตัญชลี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทจากประเทศอังกฤษ ด้วยการสนับสนุนของมูลนิธิฯ นางสาวภัทรรินทร์ ศิริรัตน์ เจ้าหน้าที่มูลนิธิฯกำลังจะจบการศึกษาระดับปริญญาเอกในเร็วๆนี้
สิ่งเหล่านี้พิสูจน์ได้ว่าการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม หรือ “ครูตู้” ไม่ได้ด้อยกว่าการเรียนในชั้นเรียนปกติ อีกทั้งนอกจากวิชาสามัญทั่วไปตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้ว ทางโรงเรียนวังไกลกังวลได้กำหนดวิชาชีพให้เป็นวิชาเลือก เช่น การโรงแรม ช่างกล ฯลฯ ทำให้นักเรียนที่จบมัธยมศึกษาปีที่ 6 สามารถช่วยตนเองได้เพิ่มขึ้น ไม่ต้องเป็นภาระกับผู้ปกครองและสังคม
ภาคเอกชนหลายหน่วยงานเข้ามามีบทบาท ช่วยเหลือนักเรียนที่จบการศึกษาจากโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ด้วยมูลนิธิการศึกษาทางไกล และมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ไม่ สามารถมอบทุนให้กับนักเรียนที่มีคะแนนเฉลี่ย 3.00 - 3.50 ได้ทั้งหมด องค์การยูนิเซฟและสมาคมสตรีฯจึงจัดโครงการฝึกวิชาชีพด้านวิชาการโรงแรมให้ กับนักเรียนเหล่านั้นที่จบชั้นมัธยม ศึกษาแล้ว นอกจากนี้ โรงพยาบาลเอกชนต่างๆ เช่น โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท ยังรับช่วยเหลือผู้ซึ่งจบจากโครงการฝึกวิชาชีพการโรงแรมเพื่อฝึกอบรมวิชาชีพ การพยาบาลต่ออีก 6 เดือน เมื่อสำเร็จการฝึกอบรมแล้ว ก็รับเข้าทำงานที่โรงพยาบาล มีเงินเดือนสามารถส่งให้กับทางบ้านได้ นอกจากนั้นแล้วยังให้ทุนศึกษาต่ออีกด้วย
นอกจากจะเน้นให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการศึกษาด้วยระบบการศึกษาทางไกลผ่าน ดาวเทียมแล้ว มูลนิธิฯ ยังให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับการส่งเสริมนักเรียนให้รักความเป็นไทย ซึ่งสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงคือ กิริยามารยาท จริยธรรม คุณธรรม มิใช่การเรียนหนังสือเพียงอย่างเดียวแต่นักเรียนควรรู้จักช่วยเหลือตนเอง มีความเมตตากรุณา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รู้จักกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ โดยเน้นให้น้กเรียนรู้ทันเทคโนโลยีและเรียนรู้ความเป็นไทยควบคู่ไปด้วย ก็จะสามารถเติบโตเป็นคนไทยที่สมบูรณ์แบบ ช่วยพัฒนาประเทศชาติได้ต่อไป
ประธานมูลนิธิ นายขวัญแก้ว วัชโรทัย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น