วันศุกร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

เก็บแต้ม!


เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2558 ราชบัณฑิตยสถานได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นราชบัณฑิตยสภา ไปเรียบร้อยแล้วตามพระราชบัญญัติราชบัณฑิตยสภา พ.ศ.2558 ที่มีผลใช้บังคับในวันนั้น

ที่จริงชื่อ ราชบัณฑิตยสภา นั้นเป็นชื่อดั้งเดิมตั้งแต่แรกตั้งขึ้นมา แต่มาสมัยหนึ่งได้เปลี่ยนแปลงเป็น ราชบัณฑิตยสถาน มายาวนานจนผู้คนเริ่มคุ้นชิน

หน้าที่ของ ราชบัณฑิตยสภา หรือ ราชบัณฑิตยสถาน นั้นมีหลากหลายพอสมควรแต่ที่รับรู้รับทราบกันโดยทั่วไปคือการจัดทํา พจนานุกรมที่เรียกว่า พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ฉบับล่าสุดคือ พ.ศ.2542 เป็นเวลา 16 ปีมาแล้ว ซึ่งต่อไปถ้ามีการปรับปรุงใหม่ก็ต้องเรียกว่า พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสภา

มีการชี้แจงแสดงเหตุผลในการประกาศใช้ พระราชบัญญัติราชบัณฑิตยสภา พ.ศ.2558 คือ โดยที่เป็นการสมควรเปลี่ยนชื่อ “ราชบัณฑิตยสถาน” เป็น “ราชบัณฑิตยสภา” อันเป็นชื่อเดิมที่ใช้เรียกสืบมานับแต่เมื่อ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ 19 เมษายน พุทธศักราช 2469 เพื่อเฉลิมพระเกียรติยศ ในโอกาส 120 ปี พระบรมราชสมภพ รวมทั้งปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของราชบัณฑิตยสภาและการบริหารงานวิชาการของราช บัณฑิตยสภาให้แพร่หลายแก่วงวิชาการของประเทศและประชาชนทั่วไปมากยิ่งขึ้น ฯลฯ

พ.ร.บ.ใหม่กำหนดให้ ราชบัณฑิตยสภา เป็นสถานที่บํารุงสรรพวิชา ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสถาปนาขึ้น มีวัตถุประสงค์ที่จะค้นคว้าและวิจัยเพื่อเผยแพร่ ส่งเสริม แลกเปลี่ยนความรู้ พัฒนา อนุรักษ์ และให้บริการทางวิชาการให้เป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศและประชาชน

และให้ สํานักงานราชบัณฑิตยสภา เป็นส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ซึ่งไม่สังกัดสํานักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน

หน้าที่สำคัญนอกจากการดําเนินงานเกี่ยวกับการจัดทําพจนานุกรม สารานุกรม อักขรานุกรม อนุกรมวิธาน การบัญญัติศัพท์วิชาการสาขาต่างๆ รวมทั้งการจัดทําพจนานุกรมศัพท์วิชาการภาษาต่างประเทศ เป็นภาษาไทยและงานวิชาการอื่นๆ แล้วก็คือ
กําหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย การอนุรักษ์ภาษาไทย มิให้แปรเปลี่ยนไปในทางที่เสื่อม การส่งเสริมภาษาไทยซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาติให้ปรากฏเด่นชัดยิ่งขึ้น

ให้บริการทางวิชาการแก่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญ องค์การมหาชน หน่วยงานอื่นของรัฐ สถาบันการศึกษา หน่วยงานของเอกชน และประชาชน ตลอดจนให้ความเห็น คําแนะนํา และคําปรึกษาทางวิชาการแก่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรี ฯลฯ

ราชบัณฑิตยสภา ในปัจจุบันจึงมี ศาสตราจารย์พิเศษสันทัด โรจนสุนทร เป็น นายกราชบัณฑิตยสภา ศาสตราจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็น อุปนายกราชบัณฑิตยสภา คนที่ 1 ศาสตราจารย์อุดม วโรตม์สิกขดิตถ์ เป็น อุปนายกราชบัณฑิตยสภา คนที่ 2 และมี นางสาวกนกวลี ชูชัยยะ เป็น เลขาธิการราชบัณฑิตยสภา อันเป็นตำแหน่งฝ่ายราชการประจำ

ทั้งหมดนี้อยู่ในตำแหน่งเดิมมาตั้งแต่ครั้งเป็นราชบัณฑิตยสถานโดยได้อยู่ต่อไปจนครบวาระ.

“ซี.12”

ขอบคุณที่มาจาก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ



ข้อมูลเพิ่มเติม จากเฟซบุ๊คของราชบัณฑิตยสภา
ตามมาตรา ๔ ของพระราชบัญญัติราชบัณฑิตยสภา พ.ศ. ๒๕๕๘ ที่ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๓๒ ตอนที่ ๑๐ ก วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ นั้น ชื่อ “ราชบัณฑิตยสถาน” เปลี่ยนเป็น “สํานักงานราชบัณฑิตยสภา” ทั้งนี้ รายละเอียดพระราชบัญญัติราชบัณฑิตยสภา พ.ศ. ๒๕๕๘ สามารถเข้าไปดาวน์โหลดได้ที่ http://www.royin.go.th/upload/193/FileUpload/3083_4300.PDF


นอกจากนี้ วันครบรอบวันสถาปนาราชบัณฑิตยสภา จะตรงกับวันที่ ๑๙ เมษายน ของทุกปี (วันสถาปนาราชบัณฑิตยสภา ตรงกับวันที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๙) ซึ่งวันที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๘ จะครบรอบปีที่ ๘๙ แห่งการสถาปนาราชบัณฑิตยสภา (เดิมวันครบรอบการสถาปนาราชบัณฑิตยสถาน ตรงกับวันที่ ๓๑ มีนาคม ของทุกปี) และจะกำหนดใช้รหัสพยัญชนะประจำสำนักงานราชบัณฑิตยสภา เป็น รภ (จากที่เดิม “ราชบัณฑิตยสถาน” ใช้ว่า รถ)

ขอบคุณ ครูบ้านนอก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น