วันอังคารที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2558

แนวทางการปฏิรูปการศึกษา


แนวทางการปฏิรูปการศึกษา การกีฬา และศิลปวัฒนธรรม:
ปฏิรูปการศึกษาแบบครบวงจรและทุกมิติ อนุรักษ์และอภิวัฒน์ ศิลปะ วัฒนธรรม พัฒนาการกีฬาสู่มาตรฐานสากล
เสนอโดย ศาสตราจารย์ ดร.ชัยยงค์ พรหมวงศ์ 
ศาสตราจารย์ ระดับ ๑๑ สาขาการศึกษา
นับตั้งแต่พ.ศ.๒๔๓๕ เป็นต้นมา ระบบการศึกษาไทย เดินตามระบบการศึกษาตะวันตก โดยเฉพาะอังกฤษ ฝรั่งเศส และอเมริกา จนทิ้งศาสตร์ วิทยาการ และวิถีไทย นับเป็นร้อยปีแห่งการหลงทาง จนทำให้ประเทศไทย (ควรจะคงชื่อ "สยาม" ที่แปลว่า ศักดิ์สิทธิ์ รุ่งเรือง เจริญ มาจาก "สี">>สย>>สยม เช่น สยมพร>> สยาม) สูญเสียดินแดนแก่ฝรั่งเศส (๕๒๕,๕๐๐ ตรม.) อังกฤษและพม่า (๓๒๕,๓๓๕ ตรม.) สูญเสียอิสรภาพทางวิชาการ และอิสรภาพทางเศรษฐกิจ เพราะนำวิชาการจากตะวันตกมาบรืหารราชการแผ่นดินโดยไม่ดูบริบทไทย
เพื่อให้สามารถจัดการศึกษาได้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ จำเป็นต้องปฏิรูปการศึกษาตาม ๑๕ แนวทางคือ
1. ปฏิรูปการศึกษา โดยปรับและทบทวนกฎหมายการศึกษาและระบบการศึกษาระดับชาติ 
ระดับภูมิภาค และระดับท้องถิ่น ให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศและความเจริญก้าวหน้าของโลก ให้มีสมดุลระหว่างการศึกษาเพื่อเสริมสร้างลักษณะความเป็นไทย และวิถีไทย และความเป็นสากล กำหนดให้สถานศึกษา สถาบันอุดมศึกษา และเขตพื้นที่ตราธรรมนูญและระบบการศึกษาของตนเองเพื่อเป็นกฎหมายรองจากกฎหมายหลัก และมีการพัฒนาแผนแม่บทวิชาการนำแผนแม่บทการบริหาร
2. ปฏิรูปวิชาชีพครูให้เป็นวิชาชีพชั้นสูง เพื่อนำไปสู่การปฏิรูประบบฝึกหัดครูของวิทยาลัย
ครู คณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ โดยจัดให้ครบตาม ไตรยางค์วิชาชีพ (Professional Triad)” ที่มีองค์ ๓ คือ (๑) การปฏิบัติวิชาชีพการสอน ในรูปคณะการศึกษา (Faculty of Education) (๒) วิทยาศาสตร์การศึกษา โดยจัดในรูป คณะวิทยาการศึกษา (Faculty of Educational Science)” และ (๓) เทคโนโลยีการศึกษา โดยจัดในรูป "คณะเทคโนโลยีการศึกษา (Faculty of Educational Technology)" ในนัยยะเดียวกับวิชาชีพแพทย์ที่ประกอบด้วย คณะแพทย์ (Faculty of Medicine) คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ (Faculty of Medical Science) และคณะเทคโนโลยีการแพทย์ (Faculty of Medical Technology) หรือวิชาชีพการเกษตรที่ประกอบด้วย คณะการเกษตร (Faculty Agriculture) คณะวิทยาการเกษตร (Faculty of Agricultural Science) และคณะเทตโนโลยีการเกษตร (Faculty of Agricultural Technology)
การจัดการพัฒนาวิชาชีพตามแนวทาง "ไตรยางค์วิชาชีพ" ก็เพื่อให้สามารถผลิต ครูมืออาชีพที่คัดเลือกจากผู้ที่มีความถนัด มีสถิติปัญญา และทัศนคติ ความเป็นครู เน้นการเป็นครูอย่างมีระบบตามขั้นตอนการผลิตนักวิชาชีพ โดยมีเงินเดือนและค่าตอบแทนครูสูง และช่วยเหลือให้ครูปลดหนี้ตนเอง และทบทวนระบบการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งของครูในสถานศึกษาที่เน้นการสอนเป็นหลัก ส่งเสริมให้ครูสร้างผลงานวิชาการโดยใข้ห้องเรียน และโรงเรียนเป็นฐาน (School'based) มิใช่ให้ครูสร้างผลงานในแนวเดียวกับการเข้าสู่ตำแหน่งของคณาจารย์มหาวิทยาลัย
3. ปรับปรุงหลักสูตรทุกระดับการศึกษา ที่เน้นความเป็นไทย ไม่ลอกเลียนรูปแบบและสาระ
จากต่างประเทศ ยึดหลักการพัฒนาเนื้อหา สาระไทยควบคู่ไปกับ สาระเทศเน้นการพัฒนาทักษะชีวิต เพื่อพัฒนาเด็กไทยให้เติบใหญ่เป็น คนไทยที่มีสำนึกและภาคภูมิใจในความเป็นไทย มีความรู้ในประวัติศาสตร์ไทย ในฐานะถิ่นกำเนิดศาสนาและวัฒนธรรมของโลก ภาคภูมิใจในขนบธรรมเนียม ประเพณี วิถีไทย ศาสตร์ วิทยาการ เทคโนโลยีและความเป็นไทย
4. กำหนดสมดุลระหว่างหลักสูตรแกนกลาง หลักสูตรท้องถิ่น และหลักสูตรโรงเรียน ที่เน้นให้นักเรียนศึกษาหาความรู้ ตามความสนใจของตนเอง ปรับ
เนื้อหาสาระในหลักสูตรแกนกลาง ให้มีสมดุลระหว่างสาระไทยและสาระเทศ ที่นำความรู้จากตะวันตกมาสอน ผิดๆ ถูก ในระดับประถมศึกษา และโดยเสนอสาระเทศ ในระดับมัธยมศึกษา สร้างสำนึกรู้ดี รู้ชั่ว รู้ถูกรู้ผิด รู้ควรไม่ควร มีคุณธรรม จริยธรรม และความเป็นพลเมืองดี (เน้น ดีและเก่ง มากกว่า เก่งและดี) ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ ตระหนักในสิทธิและหน้าที่ตน ในระบอบธรรมาประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เน้นการสอน ประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองและพัฒนาการธรรมาประชาธิปไตย และปรับปรุงทักษะทางอาชีพและทักษะสำหรับศตวรรษที่ 26 (นับตามพ.ศ.)
5. พัฒนาระบบการศึกษาระดับสถานศึกษา และเพิ่มทางเลือก ในการศึกษาระดับพื้นฐาน 
การศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย การศึกษาเอกชน และการศึกษาในบ้าน (Home Schooling) เพื่อนำไปสู่การศึกษาภควันตภาพ (Ubiquitous Education) ที่จัดการศึกษาให้ความรู้ไปปรากฏทุกแห่งหนและทุกเวลา
6. ทบทวนหรือยกเลิก การจัดเขตพื้นที่การศึกษา ที่ใช้วิธีรวม 2-3 อำเภอมาหนึ่งเขตพื้นที่การศึกษา มาเป็น
การยึดเขตพื้นที่จังหวัดและอำเภอเป็นฐาน และจำแนกอำเภอหรือเขตปกครองเป็น เขตโรงเรียน (School District)” ที่ยึดตำบลหรือกลุ่มตำบล (อบต. หรือ สหอบต.) เป็นฐาน เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของประชาชน เน้นการพัฒนาคุณภาพของโรงเรียนประจำหมู่บ้านหรือโรงเรียนขนาดเล็ก ด้วยการใช้เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษามาช่วยในการจัดการศึกษา อาทิ การใช้คอมพิวเตอร์แผ่นหรือแท็บเล็ตเป็นแหล่งความรู้ติดตัว แทนการปิดโรงเรียนขนาดเล็กเพื่อคุณภาพการศึกษาและคุณภาพชีวิตของนักเรียนและผู้ปกครอง
7. พัฒนาระบบการบริหารและ การจัดการ การจัดการควรครอบคลุมการบริหาร ๗ ขอบข่าย 
ได้แก่การบริหารทั่วไป การบริหารวิชาการ การบริหารกิจการนักเรียนนักศึกษา การบริหารบุคลากร การบริหารเงินและงบประมาณ การบริหารกิจการชุมชน และการบริหารวิสาหกิจสถานศึกษา (มิใช่การรวบเหลือเพียง ๔ ขอบข่าย คือ การบริหารทั่วไป การบริหารวิชาการ การบริหารบุคลากร และการบริหารเงินและงบประมาณ แต่ให้การบริหารกิจการนักเรียนนักศึกษา การบริหารกิจการชุมชน และการบริหารวิสาหกิจสถานศึกษา ไปอยู่ในการบริหารทั่วไป)
8. พัฒนาระบบการเรียนการสอน และระบบการประเมินที่เป็นของไทย แทนการนำเข้าจาก
ต่างประเทศ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้เมื่อประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยเน้นการสอนที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เน้น การเรียนคิด เรียนทำ เรียนแก้ปัญหา มิใช่ "เรียนรู้" โดยพัฒนาหรือปรับใข้ระบบที่เหมาะสม เช่น ระบบการสอนแบบอิงประสบการณ์ ระบบการสอนแบบศูนย์การเรียน ระบบการสอนผ่านสื่อสังคม เป็นต้น
9. พัฒนาระบบและขยายการศึกษาพื้นฐาน ให้ครบวงจร ด้วยการสร้างศูนย์การเรียนชุมชน
ประกอบด้วยสถานเด็กเลี้ยงดูอ่อน ปฐมวัยศึกษาหรืออนุบาล เพิ่มจากประถมศึกษาในระดับท้องถิ่น เพื่อลดภาระของผู้ปกครองและแก้ปัญหาโครงสร้างประชากร สร้างห้องสมุด 24 ชั่วโมงสำหรับการเรียนรู้ในชุมชน พัฒนารูปแบบโรงเรียนสามภาษา คือ ภาษาไทย อังกฤษ จีนหรือภาษาอื่นในชุมชนที่มีความพร้อม
10. ส่งเสริมบทบาทการจัดการศึกษา ของภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและชุมชนท้องถิ่น
โดยเฉพาะในท้องถิ่น และลดบทบาทของภาครัฐให้เน้นการจัดสรรงบประมาณอุดหนุนฝั่งผู้เรียน (Demand-Side Subsidy) เช่น ผ่านกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย
11. เน้นการจัดการศึกษา แบบอิงประสบการณ์ ที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง มากกว่าการศึกษา
แบบอิงเนื้อหาจากการสอนแบบบรรยายโดยยกระดับอาชีวศึกษาและเทคนิคศึกษา 
(Technical & Vocational Education)
ให้เป็นสายหลักคู่ขนานกับสายสามัญในการพัฒนาประเทศ สามารถพัฒนาอาชีวะและเทคนิคศึกษาถึงความเป็นเลิศ ทั้งทางวิชาการ วิจัย และประสบการณ์การปฏิบัติอย่างมืออาชีพ
12. จัดระบบการพัฒนาการกีฬา สู่มาตรฐานสากล เพื่อพัฒนาความมีระเบียบวินัย และการ
รักษาสุขภาพในระยะยาว ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก พัฒนากีฬาและการร้อง การรำ และการละเล่นท้องถิ่นและภูมิภาค
13. พัฒนาระบบเทคโนโลยีและ สื่อสารการศึกษา ให้มีนักเทคโนโลยีการศึกษาเป็นตำแหน่ง
ครูอาจารย์สำหรับสถานศึกษาประจำโรงเรียนในตำแหน่งครู เพื่อทำหน้าที่นักเทคโนโลยีการศึกษาอย่างเดียว มิใช่ต้องสอนวิชาสามัญด้วย สร้างระบบคลังสื่อการสอนทั่วประเทศ และระบบจัดอันดับสื่อการสอนเพื่อเป้าหมายการพัฒนาคุณภาพการสอน
ทางการแพทย์ นักเทคโนโลยีการแพทย์เป็นผู้วิจัยค้นคว้านวัตกรรม อุปกรณ์ทางการแพทย์นับตั้งแต่เข็มฉีดยา อุปกรณ์ผ่าตัดเพื่อให้หมอนำไปรักษาคนไข้ ทางการศึกษา จำเป็นต้องมีนักเทคโนโลยีการศึกษาพัฒนาระบบ ออกแบบการสอน การกำหนดพฤติกรรมครูและผู้เรียน เทคนิควิธีการ การสื่อสาร การจัดสภาพแวดล้อม การจัดการความรู้และการเรียนการสอน และการประเมิน หากไม่มีนักเทคโนโลยีการศึกษา ครูก็จับเสือด้วยมือเปล่า สอนไปวันๆ เพราะขาดการออกแบบระบบ ขาดสื่อการสอน และเครื่องมือที่จะทำไปพัฒนาพฤติกรรมนักเรียน จินตนาการดูนะว่า หากหมอไม่มีนักเทคโนโลยีการแพทย์ช่วยพัฒนาเครื่องมือแพทย์ หมอจะเอาอะไรไปรักษาคนไข้ ซึ่งหากรักษาผิด คนไข้ตายก็ไม่อยู่หนักแผ่นดิน แต่ครูรักษาจิต และสติปัญญาของคน รักษาล้มเหลว ก็ไม่ตายแต่จะอยู่เป็นปัญหาสังคม
14. จัดระบบการวิจัยและรวบรวมศิลปะ วัฒนธรรมแขนงต่างๆ ของประเทศ สร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์และส่งเสริมความคิดและทักษะในทางสร้างสรรค์เพื่ออภิวัฒน์ศิลปะวัฒนธรรมให้เจริญก้าวหน้าและได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายโดยนานาอารยะประเทศ
15. จัดระบบการวิจัย พัฒนา และเผยแพร่ และถ่ายทอดศาสตร์และเทคโนโลยีไทย ในด้าน
การแพทย์ การอาชีพ และการดำรงชีวิตในโรงเรียนและชุมชน


ที่มา  ศาสตราจารย์ ดร.ชัยยงค์ พรหมวงศ์ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น