นิเทศการศึกษา
บทบาทของผู้บริหารกับการนิเทศการศึกษา
งานบริหารการศึกษา มีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่คุณภาพของผู้เรียน ซึ่งเป็นผลผลิตของการจัดการศึกษา ดังนั้นในการบริหารการศึกษาผู้บริหารจำเป็นจะต้องทำงานสองอย่างคือ งานบริหารและงานนิเทศ ซึ่งในปัจจุบันนี้ผู้บริหารมีบทบาทในการนิเทศมากโดยเฉพาะการนิเทศภายในสถานศึกษาของตนเอง
ไวส์ (Wiles) ได้กล่าวถึงบทบาทของผู้บริหารสถานศึกษาฐานะผู้นิเทศไว้ดังนี้
1 ) บทบาทด้านมนุษยสัมพันธ์ ของผู้บริหารสถานศึกษามีหน้าที่ทำให้เกิดความเข้าใจอันดีภายในกลุ่มและพยายามขจัดข้อขัดแย้งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในกลุ่ม
2 ) บทบาทในฐานะผู้นำ ผู้บริหารสถานศึกษาทำหน้าที่ดังต่อไปนี้คือ พัฒนาความเป็นผู้นำให้เกิดขึ้นแก่ตัวผู้อื่น ช่วยให้ผู้อื่นมีความรับผิดชอบ มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ร่วมในการใช้อำนาจ และมีส่วนร่วมในความรับผิดชอบ
3 ) บทบาทในด้านการจัดและดำเนินงานในหน่วยงาน ผู้บริหารสถานศึกษามีหน้าที่ดังนี้ คือพัฒนาการจัดองค์การของหน่วยงานในสถานศึกษา ช่วยให้ดำเนินงานของคณะกรรมการต่าง ๆ ในองค์การดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ ในการตัดสินใจเรื่องใดก็ตามต้องดำเนินไปตามขั้นตอนของกระบวนการตัดสินใจ เมื่อกลุ่มตัดสินใจในเรื่องใดไปแล้วจะต้องไม่คัดค้าน พยายามทำให้ทุกคนในกลุ่มมีเป้าหมายอันเดียวกัน เพื่อให้เกิดวินัยในกลุ่ม และส่งเสริมให้มีวินัยในตนเอง
4 ) บทบาทในการคัดเลือกและการใช้ประโยชน์บุคลากร ผู้บริหารสถานศึกษามีหน้าที่ดังนี้คือ พิจารณาเลือกบุคลากรใหม่ให้ตรงกับความต้องการ โดยให้ครูในสถานศึกษามีส่วนร่วมในการพิจารณาเลือกด้วย ช่วยให้บุคลากรที่เข้าทำงานใหม่รู้สึกว่าเขาเป็นที่ต้องการของสถานศึกษา มีความอบอุ่นใจ และมีความเชื่อมั่นในตนเอง
5 ) บทบาทในการสร้างขวัญของครู ผู้บริหารสถานศึกษามีหน้าที่ดังต่อไปนี้ คือช่วยให้ครูพอใจ งานที่ทำ มีความสะดวกสบายปลอดภัยในการปฏิบัติงาน ให้ครูมีส่วนร่วมในการวางโครงการและนโยบายต่าง ๆ ของสถานศึกษา ช่วยให้ครูเชื่อมั่นในความสามารถของตนเอง ให้ครูรู้สึกว่าตนเองมีความสำคัญและเป็นที่ต้องการของบุคคลอื่น จัดให้มีการบริการต่าง ๆ คู่มือครู การศึกษาต่อ การอบรม ฯลฯ ตามที่ครูต้องการ
6 ) บทบาทในการพัฒนาบุคลากร ผู้บริหารสถานศึกษามีหน้าที่ดังต่อไปนี้ คือ จัดให้มีการอบรมในหน่วยงาน โดยจัดให้ตรงตามความต้องการของครู การประชุมครูที่จัดให้มีขึ้นช่วยให้ครูมีความก้าวหน้าใช้วิธีการสังเกตการสอน แต่ต้องมีความเข้าใจกันทั้งสองฝ่ายใช้วิธีการวัดผลเพื่อพัฒนาบุคลากรให้เกิดประสิทธิภาพการเรียนการสอน
สุจริต เพียรชอบ ได้กล่าวถึงบทบาทผู้บริหารสถานศึกษาในการนิเทศการศึกษา ภายในสถานศึกษาดังนี้
1 ) ช่วยเหลือทางด้านวิชาการ และด้านบริการ ได้แก่ปฐมนิเทศครูใหม่ จัดประชุมครูก่อนเปิดภาคเรียน สังเกตการณ์สอนในชั้น การเยี่ยมชั้นเรียนอื่น ๆ การสาธิต การสอน การนิเทศด้วยการให้คำปรึกษาหารือเป็นรายบุคคล หรือรายหมู่ การประชุมปฏิบัติการ การอบรมครู การสัมมนา จัดหนังสือที่มีคุณค่าทางวิชาการให้ครูได้ศึกษา ปรับปรุงห้องสมุดให้ทันสมัยและแนะนำครูให้ใช้ห้องสมุด แนะนำให้ครูเป็นสมาชิกของสมาคมทางวิชาการต่าง ๆ จัดบริการโสตทัศนศึกษาให้แก่ครูเป็นอย่างดี และสนับสนุนให้ครูใช้อุปกรณ์เหล่านั้น ตลอดจนสนับสนุนให้ครูไปศึกษาต่อ
2 ) ช่วยเหลือครูในด้านปัญหาส่วนตัว
3 ) การสร้างขวัญของคณะครูในสถานศึกษา
4 ) การประเมินผลการปฏิบัติงานในสถานศึกษา
อำนวยพร วงษ์ถนอม ได้กล่าวถึงบทบาทของผู้บริหารสถานศึกษาในการนิเทศการศึกษา ดังนี้
1 ) จัดให้การปฐมนิเทศครูใหม่ให้เข้าใจในหน้าที่การงานที่ตนรับผิดชอบ
2 ) สถานศึกษาจัดการอบรม หรือให้การนิเทศด้วยการสอนแก่ครูอย่างสม่ำเสมอ
3 ) แนะนำให้ครูรู้จักดัดแปลงเนื้อหาวิชาที่สอนให้เหมาะสมแก่สภาพท้องถิ่น
4 ) ช่วยให้ครูมีความเชื่อมั่นในความสามารถของตนที่จะแก้ปัญหา และอุปสรรคในการเรียนการสอน
5 ) เสนอแนะวิธีสอนที่เหมาะสมกับเนื้อหาวิชา และสภาพแวดล้อมให้ครู
6 ) ส่งครูไปสังเกตการสอนในสถานศึกษาอื่น ๆ ที่เห็นว่าเป็นตัวอย่างที่ดีได้
7 ) ให้ครูได้เข้าร่วมการฝึกอบรมทางวิชาการที่จัดขึ้นภายในและภายนอกกลุ่มสถานศึกษา
8 ) จัดให้มีการติดตามผลภายหลังการฝึกอบรม
9 ) จัดหาหนังสือทางวิชาการ คู่มือครู วารสาร และบริการอื่น ๆ เพื่อช่วยเหลือครูก้าวหน้าทางวิชาการ และวิชาชีพ
10 ) ผู้บริหารควรเยี่ยมชั้นเรียน เพื่อมุ่งที่จะให้คำปรึกษาช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาทางการสอน
11 ) การบำรุงขวัญและให้กำลังใจแก่ครู
12 ) ผู้บริหารควรมีเกณฑ์ในการพิจารณาความดีความชอบของครู โดยใช้วิธีความเป็นธรรมให้มากที่สุด
13 ) จัดให้มีการสัมมนาของคณะครู เพื่อแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเรียนการสอน
14 ) สนับสนุนให้ครูมีโอกาสศึกษาในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง และจะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อการศึกษา
15 ) จัดให้มีการประกวดการเรียนการสอนระหว่างสถานศึกษาภายในกลุ่ม
นอกจากนี้ พนัส หันนาคินทร์ ได้กล่าวถึงหน้าที่ที่จะต้องกระทำเกี่ยวกับการนิเทศการศึกษาของผู้บริหารสถานศึกษาไว้ 3 ประการดังนี้
1 ) ทำหน้าที่ตรวจสอบความเป็นไปเกี่ยวกับการเรียนการสอน ขั้นตรวจสอบถือว่าเป็นขั้นเริ่มต้นการนิเทศ เรื่องที่ควรจะตรวจสอบได้แก่ ความเข้าใจในการใช้หลักสูตรของครู ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ของครูเกี่ยวกับเนื้อหาของหลักสูตร การใช้กลวิธีการสอนต่าง ๆ ตลอดจนการใช้สื่อการสอน ลักษณะของนักเรียนในแต่ละห้อง
2 ) ทำหน้าที่ประเมินผลการเรียนการสอน
3 ) ทำหน้าที่ช่วยส่งเสริมและปรับปรุงการเรียนการสอน อันได้แก่ความเข้าใจของครูเกี่ยวกับหลักการ จุดหมาย และโครงสร้างของหลักสูตร แนะแนวการทำโครงการสอนทั้งระยะสั้นและระยะยาวจัดหาเครื่องมือประกอบการสอน และแหล่งวิชาการ จัดบรรยากาศทางกายภายในห้องเรียนให้น่าเรียนส่งเสริมให้ครูปรับปรุงตัวเองทั้งด้านวิชาการ และวิชาชีพตลอดจนการพยายามให้ครูประเมินผลการเรียน
******************
อัญชลี ธรรมะวิธีกุล: http://panchalee.wordpress.com/2009/03/30/admin-role/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น