วันจันทร์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ผู้บริหารสถานศึกษา

ผู้บริหารสถานศึกษา
ผู้บริหารสถานศึกษา  
ผู้บริหารสถานศึกษา เปรียบกับผู้บริหารระดับสูงในองค์กรภาคธุรกิจที่มีอำนาจตัดสินใจทั้งด้านการวางแผน การจัดสรรงบประมาณ การพัฒนาบุคลากร และการสร้างความร่วมมือ ซึ่งต้องอาศัยความรู้และทักษะการบริหารจัดการ เพื่อให้การบริหารสถานศึกษามีความสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของสังคม ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของผู้บริหารมาโดยตลอด โดยส่งเสริมการพัฒนาทักษะ ความรู้ความสามารถด้านการบริหาร โดยมีวัตถุประสงค์หลัก คือ การพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพ และมีทักษะที่จำเป็นสำหรับการเอาตัวรอดในสังคมที่มีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าผู้บริหารสถานศึกษายังคงต้องปรับปรุงในบางด้าน ที่จำเป็นต่อการพัฒนาผู้เรียนตามวัตถุประสงค์โดยเฉพาะบทบาทการบริหารที่ครอบคลุมถึงการป้องกันและแก้ปัญหาของผู้เรียนด้วย
จากการประเมินผู้บริหารสถานศึกษายุคใหม่ พบว่า ผู้บริหารยังไม่เข้าใจถึงการปฏิรูปการศึกษาและบทบาทตนเอง จึงทำให้การแก้ปัญหาผู้เรียนมีความจำกัด เน้นเฉพาะการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การสร้างอาคารเรียน การจัดซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ การจัดฝึกอบรมและดูงานนอกสถานที่ เป็นต้น เพื่อรองรับการประเมินภายนอก ในขณะที่ปัญหาผู้เรียนกลับไม่ได้รับการแก้ไขเท่าที่ควร เช่น ปัญหายาเสพติด ปัญหาความรุนแรง ปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียน ความเลื่อมล้ำทางการศึกษา ฯลฯ ซึ่งเป็นผลมาจากกระแสโลกาภิวัตน์ ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสังคม นอกจากนี้ การสร้างความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาผู้เรียนยังมีน้อยมาก
ศาสตราจารย์สุมน อมรวิวัฒน์ เคยกล่าวถึงความสำคัญของผู้บริหารสถานศึกษาไว้ในงานวิจัยเรื่อง กัลยาณมิตรสำหรับผู้บริหาร กลยุทธ์ในการนิเทศเพื่อสร้างโรงเรียนให้เข้มแข็ง ว่า “ผู้บริหารสถานศึกษายุคปฏิรูปคือ ผู้ที่เอาใจใส่และส่งเสริมผู้เรียนตามความถนัดและความสามารถ รวมทั้งเฝ้าระวังผู้เรียนมิให้เกิดภาวะเสี่ยงในอนาคต มิใช่ง่วนอยู่กับเอกสาร งานบริหารและธุรการ แต่เพื่อหันมามองผู้เรียนมากยิ่งขึ้น” 

ดังนั้น บทบาทที่ผู้บริหารสถานศึกษาควรให้ความสำคัญเพิ่มมากขึ้น คือ การแก้ไขปัญหาผู้เรียน นอกจากการพัฒนาสถานศึกษาในด้านต่าง ๆ ซึ่งแนวทางดังนี้
 กำหนดวิสัยทัศน์เพื่อพัฒนาผู้เรียน 
 ผู้บริหารควรกำหนดวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนว่าจะพัฒนาเยาวชนในด้านใดบ้าง โดยก่อนอื่นผู้บริหารควรมีการประเมินสถานการณ์ทางสังคมในปัจจุบันว่าจะมีผล กระทบต่อผู้เรียนอย่างไร รวมถึงการนำผลการทำวิจัยที่เกี่ยวกับผลกระทบของสภาพสังคมต่อผู้เรียน เพื่อดูข้อเสนอในการพัฒนาผู้เรียน แล้วนำวิเคราะห์ว่า จากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของสังคม และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้เรียน เช่น ปัญหายาเสพติด วัตถุนิยม การมีเพศสัมพันธ์ในวันเรียน เป็นต้น สถาบันการศึกษาควรพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้และทักษะความสามารถในเรื่องใด บ้าง ที่จำเป็นต่อการเอาตัวรอดในสังคม
 ปรับเปลี่ยนการบริหารเป็นแบบเชิงรุก 
ผู้บริหารควรไวต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม เพราะมีความสำคัญต่อการพัฒนาผู้เรียนและเตรียมผู้เรียนให้พร้อมรับสภาพสังคม ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นลักษณะ การบริหารจัดการควรเปลี่ยนจาก “เชิงรับ” สู่ เชิงรุก” มากขึ้น ผู้บริหารควรสามารถคาดการณ์ได้ว่า การพัฒนาผู้เรียนควรไปในทิศทางใดในอนาคต อาทิ ปัจจุบัน การแข่งขันของอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ทำให้เกิดการผลิตเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ ๆ ซึ่งกลุ่มผู้บริโภคที่มีขนาดใหญ่ที่สุดคือ กลุ่มเด็กและเยาวชน ผู้บริหารฯ สามารถคาดการณ์ได้ทันทีว่า ผู้เรียนอาจตกเป็นทาสของเทคโนโลยีหรือใช้เทคโนโลยีไปในทางที่ผิดได้ ดังนั้น สถานศึกษาจำเป็นต้องมีการสอนทักษะการใช้เทคโนโลยีอย่างถูกต้องและวิธีหลีก เลี่ยงการตกเป็นเหยื่อของเทคโนโลยี

บริหารองค์ความรู้เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาผู้เรียน 
การบริหารองค์ความรู้จะทำให้ผู้บริหารฯ สามารถดึงทรัพยากรและองค์ความรู้มาใช้ได้ง่าย สามารถลดความผิดพลาดและความสิ้นเปลือง โดย จัดทำฐานข้อมูลของสถานศึกษา ผู้บริหารควรให้สถานศึกษามีฐานข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาผู้เรียน อาทิ ปัญหาของผู้เรียนเป็นรายบุคคล เช่น ปัญหาผลการเรียนตกต่ำ พนันบอล ยกพวกตีกัน ยาเสพติด ติดเกม ฯลฯ ปัญหาของชุมชนที่อาจส่งผลกระทบต่อผู้เรียน เช่น ชุมชนมีปัญหาการลักเล็กขโมยน้อย ปัญหายาเสพติด ปัญหาความยากจน ฯลฯ ทรัพยากรในชุมชนที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาผู้เรียน เช่น ลานกีฬา สวนสาธารณะ ศูนย์เรียนรู้ภายในชุมชน
ข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาและแก้ไขปัญหาผู้เรียน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งฐานข้อมูลเหล่านี้ มีประโยชน์ต่อการแก้ปัญหาผู้เรียนเป็นรายบุคคล การพัฒนากิจกรรมการเรียนการสอน การป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นแก่ผู้เรียนในสถานศึกษา รวมถึงสามารถเป็นประโยชน์ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกับผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น พ่อแม่ผู้ปกครอง นักจิตวิทยา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ฯลฯ เพื่อสร้างความร่วมมือในการป้องกันและแก้ปัญหาผู้เรียน
นอกจากการแสดงบทบาทตามที่กล่าวมาข้างต้น ในส่วนของผู้บริหารสถานศึกษา จำเป็นต้องมีทักษะที่จำเป็นบางอย่างที่เอื้อต่อการบริหารสถานศึกษาและพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพ ดังนี้
มีความคิดเชิงสร้างสรรค์ ผู้บริหารฯ ควรมีหัวคิดก้าวหน้า กล้าคิดหาสิ่งใหม่ ๆ ที่สามารถนำมาใช้พัฒนาสถานศึกษาและผู้เรียน โดยไม่ยึดติดกับประสบการณ์และระบบราชการแบบเดิม แต่ทั้งนี้ให้เป็นไปตามความเหมาะสมของอำนาจหน้าที่และทรัพยากรของสถานศึกษา ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริหารฯ สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารจัดการตามบริบทของสังคมที่มีการเปลี่ยน แปลงอย่างรวดเร็ว

เรียนรู้ไม่อยู่นิ่งผู้บริหารควรมีความกระตือรือร้น ใฝ่รู้ ติดตามสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของสังคม เพื่อให้เกิดความเข้าใจในสถานการณ์หรือทิศทางการศึกษาทั้งในเชิงลึก เชิงกว้างและมองไกล รวมถึง การใฝ่รู้ในด้านเทคโนโลยี ภาษาต่างประเทศ องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการบริหาร อนาคตศึกษา จิตวิทยา การเมือง เศรษฐศาสตร์ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ผู้บริหารสามารถเชื่อมโยงองค์ความรู้เหล่านี้มาพัฒนาสถานศึกษา และพัฒนาผู้เรียน

ขยันสร้างทีมงานการพัฒนาผู้เรียน ผู้บริหารฯ ไม่สามารถดำเนินงานได้คนเดียว จำเป็นต้องสร้างทีมงานเพื่อช่วยบริหารจัดการให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยอธิบายวิสัยทัศน์และเป้าหมายให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้ทราบ เพื่อให้มีทิศทางการทำงานแบบเดียวกัน สังคมที่อยู่ภายใต้กระแสโลกภิวัตน์ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและควบคุมได้ยาก นั่นหมายถึงผลกระทบด้านลบที่เกิดขึ้นกับผู้เรียนย่อมควบคุมได้ยากเช่นเดียว กัน ผู้บริหารสถานศึกษาในวันนี้จึงควรบริหารจัดการในรูปแบบใหม่ ๆ และพัฒนาทักษะความสามารถของตนเองอยู่เสมอ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น