วันจันทร์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ระบบอุปถัมภ์

ระบบอุปถัมภ์
ระบบอุปถัมภ์กับการเมืองการบริหารในสังคมไทย
                            ศ.ดร.ลิขิต  ธีรเวคิน  ราชบัณฑิต
ระบบอุปถัมภ์ หรือที่เรียกว่าในภาษาอังกฤษว่า  The patron-client system เป็นระบบที่อยู่ในสังคมจารีตนิยม  ซึ่งได้แก่  ประเทศจีน  ประเทศอินเดีย  ประเทศไทย  อินโดนีเซีย  ฯลฯ ระบบอุปถัมภ์เกิดจากความเหลื่อมล้ำของมนุษย์ในแง่ทรัพย์ศฤงคาร  สถานะ  และอำนาจ  (wealth, status and power)  แต่ยังมีอีกส่วนหนึ่งซึ่งได้แก่  จิตใจ  ศีลธรรมและจริยธรรม  ผู้อุปถัมภ์ (patron) จะเป็นผู้ที่อยู่ในฐานะเอื้ออำนวยประโยชน์ได้ทั้งในทางอำนาจทางการเมือง  ตำแหน่งหน้าที่ราชการ  ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ  สถานะทางสังคม  และสำหรับบางกรณีผู้อุปถัมภ์คือบุคคลที่เป็นที่เคารพนับถือในคุณความดี  สามารถให้ความรู้สึกที่ดีกับผู้อยู่ใต้อุปถัมภ์  มีลักษณะคล้ายเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ  ส่วนผู้อยู่ใต้อุปถัมภ์คือบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ต้องอาศัยผู้อุปถัมภ์เพื่อผลประโยชน์ดังกล่าว  รวมทั้งส่วนที่เป็นบวกในทางจิตใจ  เป็นทั้งที่พึ่งในทางวัตถุและในทางจิตใจ  ในกรณีของสังคมไทยนั้นผู้อุปถัมภ์จะต้องมีบารมี  ซึ่งความหมายได้แก่  การเป็นที่ยอมรับว่ามีลักษณะเป็นผู้นำ  สามารถอุปถัมภ์ผู้ตามได้  ขณะเดียวกันผู้ตามก็หวังพึ่งผู้อุปถัมภ์ทั้งผลประโยชน์ต่างๆ ดังกล่าวมารวมทั้งกรณีทางจิตใจด้วย 
ระบบอุปถัมภ์ที่ส่งผลโดยตรงในสังคมไทยในอดีตคือระบบการบริหารราชการแผ่นดิน  เนื่องจากสังคมในสมัยก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นเป็นสังคมเกษตร  ทั้งหมดขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจที่สามารถให้คุณให้โทษได้  ระบบที่จะให้ความสมบูรณ์พูนสุขดีที่สุดคือระบบราชการ  ผู้ที่รับราชการเป็นขุนนางย่อมจะมีทั้งอำนาจ  ทรัพย์ศฤงคาร  สถานะทางสังคม และบ่อยครั้งก็จะเป็นกลุ่มชนชั้นนำทางสังคม (social elite) ซึ่งจะเป็นแบบอย่างของการพูดจา  แต่งเนื้อแต่งตัว  หรือกล่าวง่ายๆ คือแบบอย่างในการดำรงชีวิตให้กับผู้อื่นในทางสังคม  ชัย เรืองศิลป์ เคยเขียนว่า คนไทยเชื้อสายจีนในสำเพ็งเมื่อออกมาข้างนอกจะมีบ่าวไพร่ตามเป็นแถว  มีคนถือกระโถนน้ำหมากและเครื่องใช้อื่นๆ ในลักษณะของบริวารผู้ติดตามซึ่งเป็นการเลียนแบบเจ้านายในสมัยนั้น  แต่เมื่อสังคมเปลี่ยนไปแบบอย่างการดำรงชีวิตก็เปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่น  โฆษณาในทีวีปัจจุบันจะเป็นเรื่องของนักธุรกิจระดับชาติ  จึงเป็นแบบอย่างทั้งในแง่การแต่งตัว  การใช้ชีวิตเช่นการดื่มไวน์  เป็นต้น
เนื่องจากอาชีพรับราชการเป็นอาชีพที่สำคัญในสมัยก่อน  จึงมีคำกล่าวที่ว่า  "สิบพ่อค้า ก็ไม่เท่าหนึ่งพระยาเลี้ยง" แปลว่า พ่อค้าวานิช 10 คนเทียบไม่ได้กับคนที่พระมหากษัตริย์ทรงชุบเลี้ยงให้เป็นขุนนางหนึ่งคน  โลกทัศน์  วิธีคิด  การดำรงชีวิต  บุญวาสนา  ลาภยศสรรเสริญ  จึงขึ้นอยู่กับระบบราชการซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของระบบอุปถัมภ์ทั้งสิ้น  ถ้าระบบอุปถัมภ์มีจุดบกพร่องก็อาจนำไปสู่ความเสียหายได้  ในขณะเดียวกันผู้อยู่ใต้อุปถัมภ์ในระบบราชการก็มีความคิด  ปรัชญา  การปฏิบัติที่สอดคล้องกับระบบ  เมื่อใดที่ผู้อุปถัมภ์สิ้นบุญวาสนาผู้อยู่ใต้อุปถัมภ์ก็จะหมดอำนาจวาสนาไปด้วย  ทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าวนี้เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในระบบอุปถัมภ์
ตัวอย่างของระบบอุปถัมภ์ที่อาจนำไปสู่ความเสียหายนั้น  ได้มีการตักเตือนโดยพระบวรราชนิพนธ์เพลงยาวเรื่องตีเมืองพม่า  ความตอนหนึ่งว่า ".....จะตั้งแต่งเสนาธิบดี  ไม่ควรอย่าให้อรรคฐาน  จะเสียการแผ่นดินกรุงศรี  เพราะไม่ฟังตำนานโบราณมี  จึงเสียทีเสียวงษ์กระษัตรา  เสียยศเสียศักดินัคเรศ  เสียทั้งพระนิเวศน์วงษา  เสียทั้งตระกูลนานา  เสียทั้งไพร่ฟ้าประชากร  สารพัดจะเสียสิ้นสุด  ทั้งการยุทธก็ไม่เตรียมฝึกสอน  จึงไม่รู้กู้แก้พระนคร   เหมือนหนอนเบียนให้ประจำกรรม....."
จะเห็นได้ว่า  ถ้ามีการแต่งตั้งคนผิดมาดำรงตำแหน่งอาจจะนำไปสู่ความเสียหายได้  ขณะเดียวกันภายใต้ระบบดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะเกิดความขัดแย้งเนื่องจากลูกน้องที่ประจบสอพลอทั้งสองฝ่ายเกิดเขม่นกันเอง  เช่น  กรณีประวัติศาสตร์ความขัดแย้งระหว่างวังหลวงและวังหน้าคณะโขนของทั้งสองวังยกพวกตีกัน  นอกจากนั้นยังมีการขัดแย้งในเรื่องการแข่งเรือระหว่างสองวัง  จนสุดท้ายก็เอาปืนใหญ่หันหน้าเข้าหากัน  เดชะบุญที่ไม่เกิดความขัดแย้งจนถึงกับเป็นสงครามกลางเมือง
นอกเหนือจากนี้บ่อยครั้งผู้ซึ่งต้องการจะก้าวลงจากตำแหน่งจะถูกลูกน้องดึงไว้โดยอ้างว่า  บ้านเมืองจะเสียหาย  ไม่มีใครเหมาะสมเท่ากับนาย  ทั้งนี้ก็เพราะว่าอำนาจวาสนาของตนเองขึ้นอยู่กับผู้อุปถัมภ์  จึงพยายามที่จะให้อยู่ในตำแหน่งนานที่สุด  ผลสุดท้ายนายก็ตกที่นั่งลำบาก
ในส่วนของการรับราชการภายใต้ระบบอุปถัมภ์นั้น  เห็นได้ชัดจากคำกล่าวที่ว่า  "ผู้ใหญ่ดึง ผู้น้อยดัน คนเสมอกันสนับสนุน"  ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของระบบอุปถัมภ์  ในส่วนคนเสมอกันสนับสนุนนั้นอาจไม่ใช่ทุกกรณี  เพราะส่วนใหญ่คนเสมอกันจะเป็นผู้แย่งชิงตำแหน่งหรือที่เรียกว่าเลื่อยขาเก้าอี้  ในแง่ของนโยบายปฏิบัติมีการกล่าวซึ่งเป็นคำกลอนว่า  "ลินเตีย สินมาก  ปากสอพลอ  ล่อไข่แดง  แกร่งวิชา  บ้าการเมือง"
ระบบราชการยังนำไปสู่วัฒนธรรมแบบประจบสอพลอ  เสแสร้งในการแสดงความซื่อสัตย์  และจงรักภักดี  จนไม่สามารถแยกแยะว่าอะไรถูกอะไรผิด  เช่น  มีคำกล่าวว่า "ได้ครับพี่  ดีครับนาย  สบายครับผม  เหมาะสมครับท่าน"
หลังจากนั้นระบบราชการภายใต้ระบบอุปถัมภ์ดำเนินมาด้วยดีในระดับหนึ่งจนหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง  มีการเลือกตั้งมีนักการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องกับการบริหาร  ทำให้ทุกสิ่งแห่งการต่อสู้ให้ได้มาซึ่งตำแหน่งยากยิ่งขึ้นเพราะต้องใช้กลเม็ดภายในระบบราชการเอง พร้อมๆ กับเกี่ยวกับกระบวนการทางการเมืองซึ่งมาจากนักการเมือง  อันจะเห็นได้จากส่วนสุดท้ายที่ผูกกับคำกลอน  "บ้าการเมือง"
เมื่อบุญวาสนาของผู้อยู่ใต้อุปถัมภ์ขึ้นอยู่กับความอุปถัมภ์ของผู้อุปถัมภ์  เมื่อผู้อุปถัมภ์สิ้นบุญลงตัวเองก็พลอยสิ้นบุญวาสนาไปด้วย  ซึ่งในส่วนนี้อาจเกิดขึ้นได้ 2 กรณี กรณีที่หนึ่งคือ  การที่ผู้อุปถัมภ์สิ้นบุญวาสนา  ผู้อยู่ใต้อุปถัมภ์ก็ตกระกำลำบาก  กรณีที่สอง  ผู้อยู่ใต้อุปถัมภ์ถูกทำลายล้างจนสิ้นหรือตีจาก  ทำให้ผู้อุปถัมภ์หมดการสนับสนุนก็จะสิ้นบุญวาสนาไปด้วย  อันจะเห็นได้จากสิ่งที่สุนทรภู่ได้กล่าวไว้ในนิราศภูเขาทอง  ความว่า 
"เคยหมอบใกล้ได้กลิ่นสุคนธ์ตลบ     ละอองอบรสรื่นชื่นนาสา
 
สิ้นแผ่นดินสิ้นรสสุคนธา                 วาสนาเราก็สิ้นเหมือนกลิ่นสุคนธ์ฯ"
ในกรณีที่ผู้อยู่ใต้อุปถัมภ์ถูกทำลายล้างจนผู้อุปถัมภ์หมดผู้สนับสนุน  ก็เห็นได้จากกรณีของรามเกียรติ์ที่มีการกล่าวถึงอยู่หลายตอนว่า
"ทั้งหมู่ม้ารถคชพล  จะเหลือแต่สักตนก็หาไม่" หรือ  "สิ้นหมู่ม้ารถคชพล  เสนาสามนต์อกนิษฐ์"
ในกรณีของรามเกียรติ์นั้นได้มีการกล่าวล้อกันในหมู่ข้าราชการที่เกษียณอายุ  ในวันที่ 1 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันเกษียณอายุก็จะมีการกล่าวพร้อมกันว่า  "ทั้งหมู่ม้ารถคชพล จะเหลือแต่สักตนก็หาไม่"
ในกรณีของผู้อุปถัมภ์หรือผู้ที่มีบุญวาสนาในสังคม  อันประกอบด้วย  อำนาจ  ทรัพย์ศฤงคาร  และสถานะทางสังคมนั้น  ในขณะที่สังคมกำลังเคว้งคว้างไร้ที่พึ่ง  อาจจะโหยหาผู้มีบารมีในมิติที่สี่คือผู้มีศีลธรรม  จริยธรรม  ซื่อสัตย์สุจริต  เพื่อเป็นที่พึ่งทางใจ  เสมือนหนึ่งคนกำลังจมน้ำที่พยายามคว้าขอนไม้  ใบหญ้า  หรืออะไรก็ตามที่ลอยน้ำมา  ถ้าหาตัวบุคคลที่เป็นมนุษย์ไม่ได้ก็จะวิ่งไปหาสิ่งที่เชื่อว่ามีอำนาจเหนือธรรมชาติ  ปรากฏการณ์ดังกล่าวนั้นสะท้อนถึงสภาวะจิตใจที่ต้องโหยหาผู้อุปถัมภ์เพื่อการอยู่รอดในการดำรงชีวิต  และการรักษาไว้ซึ่งจิตวิญญาณ  เพื่อจะได้มีความหวังและมีที่พึ่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น