วิจัยเชิงคุณภาพ
การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) น.ต.ดร.สุมิตร สุวรรณ
สมาชิกข่าวทหารอากาศคงจะคุ้นเคยกับการตอบแบบสอบถามที่มีใครก็ไม่รู้ ส่งมาให้ตอบอยู่บ่อย ๆ นั่นคือ รูปแบบของการวิจัยชนิดหนึ่งที่เรียกว่า การวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) ที่ให้ความสำคัญแก่ข้อมูลที่แจงนับได้ วัดได้ ใช้วิธีการทางสถิติในการวิเคราะห์ข้อมูลที่เป็นตัวเลข ผลการวิเคราะห์ข้อมูลอาจบอกว่าอะไรมากน้อยกว่ากัน อะไรสัมพันธ์หรือไม่สัมพันธ์กับอะไร อะไรต่างจากอะไร เช่น ศึกษาเรื่องขวัญกำลังใจของข้าราชการทหารอากาศ ผลการวิเคราะห์ข้อมูล พบว่า ขวัญกำลังใจของข้าราชการทหารอากาศ มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.25 ก็แปลความได้ว่า ข้าราชการทหารอากาศมีขวัญกำลังใจอยู่ในระดับปานกลาง หรือถ้าแยกข้อมูลตามชั้นยศ เช่น ชั้นยศ ร.ต. - ร.อ. มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.20 ชั้นยศ น.ต. - น.อ. มีค่าเฉลี่ย เท่ากับ 3.45 ดูตัวเลขแล้วชั้นยศต่างกันอาจมีขวัญกำลังใจไม่แตกต่างกัน นั่นคือ อยู่ในระดับปานกลางเหมือนกัน แต่ยังตอบไม่ได้ต้องทดสอบความหมายหรือนัยทางสถิติ (significance) เช่น ที่ระดับความมีนัยสำคัญทางสถิติ 0.05 วิธีการในสมัยนี้ก็ง่ายมากด้วยการป้อนข้อมูลเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์โดยโปรแกรมสำเร็จรูปที่เรียกว่า SPSS มันก็จะคำนวณให้เสร็จว่า Significance หรือไม่ ถ้า Significance ก็แปลว่า ชั้นยศต่างกันมีขวัญกำลังใจต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 แล้วแปลว่าอะไร ก็แปลได้ว่าชั้นยศต่างกันมีขวัญกำลังใจต่างกันจริง ๆ นะ ซึ่งหมายความว่า คนที่มีชั้นยศมากกว่ามีขวัญกำลังใจสูงกว่าคนที่มีชั้นยศต่ำกว่า ผู้เขียนคิดว่าไม่มีความหมายอะไรมากนัก
ดังนั้นจึงอยากเสนอรูปแบบการวิจัยอีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่า การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ซึ่งเป็นการแสวงหาความรู้โดยการพิจารณาปรากฏการณ์สังคมจากสภาพแวดล้อมตามความจริงในทุกมิติ สนใจข้อมูลด้านความรู้สึกนึกคิด การให้ความหมายหรือคุณค่ากับสิ่งต่าง ๆ ตลอดจนค่านิยมหรืออุดมการณ์ของบุคคล เน้นการเข้าไปสัมผัสกับข้อมูลหรือปรากฏการณ์โดยตรง มักใช้เวลานานในการศึกษาติดตามระยะยาว ไม่เน้นการใช้สถิติตัวเลขในการวิเคราะห์ข้อมูล ใช้การสังเกตและการสัมภาษณ์เป็นวิธีหลักในการเก็บรวบรวมข้อมูล และวิเคราะห์ข้อมูลโดยการตีความสร้างข้อสรุปแบบอุปนัย (inductive) เช่น ถ้าเราอยากจะรู้ว่าทำไมผู้หญิงหรือนักศึกษาจึงไปขายตัว หากไปแจกแบบสอบถามคงไม่มีใครตอบหรอกว่าทำไมเขาถึงขายตัว ขายมาแล้วกี่ครั้ง ซึ่งไม่มีความหมายอะไรและทดสอบไม่ได้ด้วยค่าทางสถิติ เราต้องเข้าไปสังเกตดูพฤติกรรมของผู้หญิงกลุ่มนี้ อาจเป็นในสถานอาบอบนวดแห่งใดแห่งหนึ่งก็ได้ ต้องไปพูดคุยแบบเจาะลึก (indepth interview) กับเขาดูว่าเขาให้ความหมายและคุณค่ากับอะไร “พรหมจรรย์” หรือ “เงิน” และถ้าเป็นผู้ชายไปถามเขาอาจไม่ตอบก็ได้ เมื่อได้ข้อมูลในระดับหนึ่งแล้วก็นำข้อมูลเหล่านั้นมาตีความสร้างข้อสรุปว่า ทำไมผู้หญิงถึงขายตัวหรือไปเป็นโสเภณีได้ เขาให้ความหมายและคุณค่าอะไร ดังนั้นการจะเลือกใช้วิธีการวิจัยอย่างไรนั้นต้องดูลักษณะของเรื่องที่จะทำการวิจัยด้วย
โดยทั่วไปลักษณะของการวิจัยเชิงคุณภาพจะมีลักษณะดังนี้
ดังนั้นจึงอยากเสนอรูปแบบการวิจัยอีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่า การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ซึ่งเป็นการแสวงหาความรู้โดยการพิจารณาปรากฏการณ์สังคมจากสภาพแวดล้อมตามความจริงในทุกมิติ สนใจข้อมูลด้านความรู้สึกนึกคิด การให้ความหมายหรือคุณค่ากับสิ่งต่าง ๆ ตลอดจนค่านิยมหรืออุดมการณ์ของบุคคล เน้นการเข้าไปสัมผัสกับข้อมูลหรือปรากฏการณ์โดยตรง มักใช้เวลานานในการศึกษาติดตามระยะยาว ไม่เน้นการใช้สถิติตัวเลขในการวิเคราะห์ข้อมูล ใช้การสังเกตและการสัมภาษณ์เป็นวิธีหลักในการเก็บรวบรวมข้อมูล และวิเคราะห์ข้อมูลโดยการตีความสร้างข้อสรุปแบบอุปนัย (inductive) เช่น ถ้าเราอยากจะรู้ว่าทำไมผู้หญิงหรือนักศึกษาจึงไปขายตัว หากไปแจกแบบสอบถามคงไม่มีใครตอบหรอกว่าทำไมเขาถึงขายตัว ขายมาแล้วกี่ครั้ง ซึ่งไม่มีความหมายอะไรและทดสอบไม่ได้ด้วยค่าทางสถิติ เราต้องเข้าไปสังเกตดูพฤติกรรมของผู้หญิงกลุ่มนี้ อาจเป็นในสถานอาบอบนวดแห่งใดแห่งหนึ่งก็ได้ ต้องไปพูดคุยแบบเจาะลึก (indepth interview) กับเขาดูว่าเขาให้ความหมายและคุณค่ากับอะไร “พรหมจรรย์” หรือ “เงิน” และถ้าเป็นผู้ชายไปถามเขาอาจไม่ตอบก็ได้ เมื่อได้ข้อมูลในระดับหนึ่งแล้วก็นำข้อมูลเหล่านั้นมาตีความสร้างข้อสรุปว่า ทำไมผู้หญิงถึงขายตัวหรือไปเป็นโสเภณีได้ เขาให้ความหมายและคุณค่าอะไร ดังนั้นการจะเลือกใช้วิธีการวิจัยอย่างไรนั้นต้องดูลักษณะของเรื่องที่จะทำการวิจัยด้วย
โดยทั่วไปลักษณะของการวิจัยเชิงคุณภาพจะมีลักษณะดังนี้
1. เน้นข้อมูลด้านความรู้สึกนึกคิด จิตใจ การให้ความหมายหรือคุณค่ากับสิ่งต่าง ๆ ตลอดจนค่านิยมหรืออุดมการณ์ของบุคคล
2. เป็นการศึกษาปรากฏการณ์ในบริบทสังคมและวัฒนธรรม หรือสภาพแวดล้อมตามความเป็นจริง ในภาพรวมโดยการมองจากหลายแง่มุม มักจะมีการวิจัยในสนาม (Field research)
3. เป็นการศึกษาติดตามระยะยาวและเจาะลึกเพื่อให้เข้าใจการเปลี่ยนแปลงของปรากฏการณ์สังคม
4. คำนึงถึงความเป็นมนุษย์ของผู้ถูกวิจัยโดยการเข้าไปสัมผัส สร้างความสนิทสนมและความไว้เนื้อเชื่อใจ
5. ใช้การพรรณนาให้เห็นรายละเอียดเกี่ยวกับสภาพทั่วไปของชุมชนหรือกรณีที่ศึกษา และใช้การวิเคราะห์ตีความโดยนำข้อมูลเชิงรูปธรรมย่อย ๆ หลาย ๆ กรณีมาสรุปเป็นเชิงนามธรรมโดยพิจารณาจากลักษณะร่วมที่พบ
อาจสรุปความแตกต่างระหว่างการวิจัยเชิงปริมาณกับการวิจัยเชิงคุณภาพ ได้ดังนี้
1. การวิจัยเชิงปริมาณเป็นเรื่องของการหาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรอย่างน้อย 2 ตัว เพื่อตรวจสอบสมมติฐาน แต่การวิจัยเชิงคุณภาพจะเป็นเรื่องปรากฏการณ์ทางสังคม เป็นการอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมซึ่งต้องดูเป็นองค์รวม (holistic) เพราะชีวิตคนหรือสังคมมีเรื่องที่เข้ามาเกี่ยวพันธ์กันหลายเรื่อง ไม่สามารถดูตัวแปร 2-3 ตัวได้ การวิจัยเชิงคุณภาพจึงเป็นการสร้างสมมติฐานหรือทฤษฎีใหม่ ๆ ตลอดจนข้อเท็จจริงใหม่จากที่เคยรู้มาแต่เดิม
2. การวิจัยเชิงปริมาณไม่สนใจบริบทรอบ ๆ ว่าเป็นอย่างไร เพราะสามารถควบคุมตัวแปรได้หมด แต่การวิจัยเชิงคุณภาพสนใจเรื่องบริบท (context) เพราะบริบทแต่ละแห่งไม่เหมือนกัน ในเมืองกับชนบทนั้นต่างกัน
3. การวิจัยเชิงปริมาณลักษณะข้อมูลที่ได้จะเป็นตัวเลขหรือสถิติ สามารถแจงนับได้ แต่การวิจัยเชิงคุณภาพ ลักษณะข้อมูลเป็นการพรรณนาเกี่ยวกับสภาพแวดล้อม บริบททางสังคมหรือวัฒนธรรม ความรู้สึกนึกคิด การให้ความหมายหรือคุณค่ากับสิ่งต่าง ๆ ตลอดจนค่านิยมหรืออุดมการณ์ของบุคคล
4. การวิจัยเชิงปริมาณเก็บรวบรวมข้อมูลโดยการใช้แบบสอบถามเป็นหลัก ใช้ระยะเวลาไม่นานไม่ต้องทำความรู้จักหรือสร้างความคุ้นเคยสนิทสนมก่อน เมื่อตอบแบบสอบถามให้เสร็จเรียบร้อยแล้วผู้วิจัยก็จากไปหรือที่เรียกว่า “ตีหัวแล้ววิ่งหนี” และแบบสอบถามอาจมีข้อจำกัด เช่น ถ้าทำวิจัยในสังคมที่มีผู้ไม่รู้หนังสือหรือมีการศึกษาต่ำจะไม่สามารถตอบได้ แต่การวิจัยเชิงคุณภาพเก็บรวบรวมข้อมูลโดยผู้วิจัยต้องออกไปสัมผัสข้อมูลด้วยตนเอง ใช้ระยะเวลานาน ต้องสร้างความคุ้นเคยสนิทสนมก่อนโดยใช้วิธีการสังเกต การสัมภาษณ์ การสัมภาษณ์แบบเจาะลึกหรือการตะล่อมกล่อมเกลา เป็นหลักในการเก็บรวบรวมข้อมูล
5. การวิจัยเชิงปริมาณวิเคราะห์ข้อมูลโดยอาศัยคณิตศาสตร์หรือสถิติขั้นสูงด้วยการป้อนข้อมูลลงในเครื่องคอมพิวเตอร์ซึ่งในปัจจุบันมักจะนิยมใช้โปรแกรมสำเร็จรูป เช่น SPSS แต่การวิจัยเชิงคุณภาพเป็นการวิเคราะห์โดยการตีความในคำพูด ความรู้สึกหรือความคิดเห็นของคนที่เกี่ยวโยงไปถึงแนวคิดทฤษฎีเพื่อให้ความหมายแก่ข้อมูลที่ได้โดยใช้วิธีการสร้างข้อสรุปแบบอุปนัย (induction) หากเป็นการศึกษาเอกสาร (Document Research) ก็จะใช้การวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis)
จะเห็นได้ว่าการวิจัยทั้ง 2 วิธีนี้มีความแตกต่างกัน การจะเลือกใช้วิธีการวิจัยอย่างไรผู้วิจัยต้องตระหนักถึงเนื้อหาของความรู้ในศาสตร์นั้นๆ หรือลักษณะของเรื่องที่จะทำการวิจัย รวมทั้งความถนัดหรือความสนใจของผู้วิจัยด้วย อย่างไรก็ตามวัตถุประสงค์ของการวิจัยจะเป็นตัวกำหนดวิธีการวิจัยว่าจะเลือกใช้วิธีการอย่างไร ในขณะที่การวิจัยเชิงคุณภาพมีข้อจำกัดในเรื่องของเวลาและทำได้เฉพาะกรณี ไม่ใช่ทำได้กับประชากรทั้งหมด ดังนั้นข้อค้นพบจึงไม่สามารถนำไปใช้อ้างอิงกับกรณีอื่น ๆ (generalization) ได้หรือได้น้อย อีกทั้งตัวผู้วิจัยในภาคสนามคือเครื่องมือที่สำคัญจะต้องได้รับการฝึกฝนมาเป็นพิเศษสำหรับการวิจัยชนิดนี้ จึงมักถูกโจมตีในเรื่องความเที่ยงตรงและความน่าเชื่อถือของข้อมูล
หากสนใจรายละเอียดเพิ่มเติมอ่านได้ในหนังสือ “วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ” ของ ศาสตราจารย์ ดร.สุภางค์ จันทวานิช คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือหากต้องการคำแนะนำติดต่อผู้เขียนได้ตลอดเวลาที่ภาควิชาสังคมศาสตร์ กองการศึกษา โรงเรียนนายเรืออากาศ โปรดอ่านต่อฉบับหน้าเกี่ยวกับเทคนิคของวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น