วันเสาร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ประเด็นเสนอแนะสำหรับการปรับแก้ไข พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ #3/6


ประเด็นเสนอแนะสำหรับการปรับแก้ไข พรบ.การศึกษาแห่งชาติ: ประเด็นที่ ๓ เขตพื้นที่การศึกษา
นำเสนอ คณะทำงานยกร่างฯ กมธ.การศึกษาฯ สนช 
ผ่าน ผศ.ดร.สุรวาท ทองบุ ประธานที่ประชุมคณบดีศึกษาศาสตร์ 
โดย ศาสตราจารย์ ดร.ชัยยงค์ พรหมวงศ์
ศาสตราจารย์ ระดับ ๑๑ สาขาการศึกษา
นายกสมาคมเทคโนโลยีการศึกษาแห่งประเทศไทย

ประเด็นที่ ๓ เขตพื้นที่การศึกษา
สาระสำคัญ เขตพื้นที่การศึกษา (Educational Areas) เป็นการจัดแนวคิดการให้บริการการศึกษาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างจากสหรัฐอเมริกา ที่มีการแบ่งเขตการปกครองเป็นเขตบริการการศึกษาเป็น โดยจำแนกเป็นตามกลุ่มโรงเรียน กล่าว คือ จากระดับกรุง ระดับเมืองใหญ่ ระดับเมือง เป็นเขตโรงเรียน (School Districts)
เมื่อนำมาปฏิบัติในประเทศไทย ก็ดำเนินการตรงข้ามกับแนวคิดของตะวันตกด้วยการจัดเขตบริการการศึกษาโดยการรวมตั้งแต่ ๒ อำเภอขึ้นไปเป็นเขตพื้นที่ประถมศึกษา และรวม ๒ จังหวัดหรือมากกว่า เป็นเขตพื้นมัธยมศึกษา (เช่น สพม. ๕ มีมากกว่า ๒ จังหวัด) ถือว่า ผิดหลักการจัดเขตบริการการศึกษาของตะวันตก แทนที่จะยึดเขตโรงเรียน เป็นหลักเหมือนในต่างประเทศ
ที่จริงก่อนมี พรบ.การศึกษาแห่งชาติ ๒๕๔๒ ประเทศไทยแบ่งส่วนการศึกษา เป็นเขตการศึกษา ๑-๑๓ เขต กระจายไปทั่วประเทศ และให้เขตบริการการศึกษายึดจังหวัดและอำเภอเป็นฐาน เรียกว่า ที่ทำการศึกษาธิการจังหวัด มี "ศึกษาธิการจังหวัด" (Provincial Superintendent) เป็นหัวหน้า และที่ทำการศึกษาธิการอำเภอ มี "ศึกษาธิการอำเภอ" (District Superintendent) เป็นหัวหน้า ก็ไม่เห็นมีปัญหาอะไร คำว่า "อำเภอ" ก็เป็นภาษาไทยที่มีความหมายชัดเจน ไม่จำเป็นต้องไปใช้คำว่า "เขต" ที่มีความหมายหลากหลาย จะตรงกับคำว่า Area (พื้นที่) Zone (พื้นที่) คงเห็นว่าอำเภอ เป็นคำโบราณกระมัง การใช้ระบบเรียกชื่อเดิม ก็ไม่มีผลต่อคุณภาพการศึกษา คุณภาพน่าจะอยู่ที่การบริหารและการจัดการมากกว่า
ดังนั้น จึงควรปรับเปลี่ยนแนวคิดเขตพื้นการศึกษาเป็น เขตบริการการศึกษา” (Educational Service Areas) ยึดจังหวัด อำเภอ และตำบลเป็นฐาน กล่าวคือ
๑) เขตบริการปฐมวัยศึกษา (Early Childhood Educational Service Area-CESA) เป็นเขตบริการศูนย์เด็ก การศึกษาปฐมวัย และการศึกษาอนุบาลยึดระดับตำบล เป็นเขตบริการการศึกษาปฐมวัย โดยเขตบริการปฐมวัยศึกษากำกับดูแลการศึกษาระดับเด็กเล็กและอนุบาลศึกษา
๒) การประถมศึกษา (Elementary Educational Service Area-EESA) เป็นเขตบริการการศึกษาระดับประถมศึกษา (ป.๑-๖) ยึดระดับอำเภอเป็นฐาน (แต่ไม่ควรมีการจัดการศึกษาขยายโอกาส ม.๑-๓ เพราะเป็นการจัดการศึกษาที่ขัดกับหลักธรรมชาติและความเหมาะสมของครู) โดยเขตบริการประถมศึกษากำกับดูแลการศึกษาระดับประถมศึกษา
๓) เขตบริการการมัธยมศึกษา (Secondary Educational Service Area-SESA) เป็นเขตการจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษา (ม.๑-ม.๖) ยึดระดับจังหวัดเป็นฐาน โดยเขตบริการมัธยมศึกษากำกับดูแลการศึกษาระดับมัธยมศึกษา
๔) เขตบริการการอาชีวศึกษา (Vocational Educational Service Area-VESA) เป็นเขตการจัดการศึกษาระดับอาชีวศึกษา (ปวช.และปวส.) ยึดระดับจังหวัดเป็นฐาน โดยให้เขตบริการอาชีวศึกษากำกับดูแลการศึกษาระดับอาชีวศึกษา
แนวทางปรับปรุง พรบ. --ควรปรับชื่อเรียก เขตพื้นที่การศึกษาเป็น เขตบริการการศึกษาและยึดจังหวัด อำเภอ และตำบลเป็นฐาน โดยปรับสาระของมาตรา ๓๗ ดังนี้
มาตรา ๓๗ การบริหารและการจัดการศึกษาให้ยึดจังหวัดเป็นเขตบริการมัธยมศึกษาและเขตบริการมัธยมศึกษาอาชีวศึกษา ให้อำเภอเป็นเขตบริการประถมศึกษา และให้ตำบลเป็นเขตบริการปฐมวัยศึกษา
ให้แบ่งเขตบริการการศึกษาทุกระดับเป็น เขตโรงเรียน (School Districts) เพื่อให้สามารถจัดการศึกษาที่จะตอบสนองความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของสภาการศึกษา กำหนดเขตบริการการศึกษาเพื่อการบริหารและการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน แบ่งเป็นเขตบริการปฐมวัยศึกษาโดยตำบลเป็นฐาน เขตบริการประถมศึกษาโดยอำเภอเป็นฐาน และเขตบริการและอาชีวศึกษาโดยยึดจังหวัดเป็นฐานโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ในกรณีที่สถานศึกษาใดจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานทั้งระดับปฐมวัยศึกษา ประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษา และเขตบริการอาชีวศึกษา การกำหนดให้สถานศึกษาแห่งนั้นอยู่ในเขตบริการการศึกษาใด ให้ยึดระดับการศึกษาของสถานศึกษานั้นเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

ที่มา โดย ศาสตราจารย์ ดร.ชัยยงค์ พรหมวงศ์
ศาสตราจารย์ ระดับ ๑๑ สาขาการศึกษา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น