วันอาทิตย์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2558

บันทึกประเทศไทย2557

รายงานพิเศษ

ศูนย์ข้อมูลมติชน

12 เดือน 12 ข่าวเด่น บันทึกประเทศไทย 2557

365 วันของปี 2557 ผ่านพ้นไปแล้ว

มีเหตุการณ์อะไรบ้าง ที่เป็นเรื่องใหญ่ๆ ในแต่ละเดือน

(มติชนสุดสัปดาห์ 2-8 มกราคม 2558)



มกราคม

กปปส. ชัตดาวน์กรุงเทพฯ


การชุมนุมขับไล่รัฐบาล "ยิ่งลักษณ์" ของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปลายปี 2556 เข้าสู่จุดเดือดในเดือนมกราคม

กปปส. ใช้ยุทธการ "ปิดล้อม" กรุงเทพฯ ตั้งเวทีชุมนุมบริเวณทางแยกและถนนสายสำคัญของเมืองกรุง

ไล่ตั้งแต่ด้านเหนือสุดลงมาที่ถนนแจ้งวัฒนะ-แยกลาดพร้าว-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ-แยกอโศก-แยกปทุมวัน-แยกราชประสงค์-สวนลุมพินี

ตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม ต่อเนื่องจนถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์ พร้อมกิจกรรม "ดาวกระจาย" เคลื่อนขบวนไปปิดล้อมหน่วยงานราชการหลายแห่ง

แม้ว่าเวทีม็อบจะถูกก่อกวนจากระเบิดและปืนจนมีผู้เสียชีวิต-บาดเจ็บจำนวนมาก รวมทั้งรัฐบาลประกาศพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม

ทว่า ไม่อาจหยุดยั้ง "มวลมหาประชาชน" ที่มี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นแกนนำได้



กุมภาพันธ์

ขัดขวางเลือกตั้ง ส.ส.


การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทั่วประเทศในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ เป็นการเลือกตั้งที่วุ่นวาย ไร้ระเบียบ และมีการปะทะกันจนถึงกับเสียชีวิตเลือดเนื้อ

เริ่มตั้งแต่การเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวันที่ 26 มกราคม ผู้ชุมนุม กปปส. และแนวร่วมเข้าขัดขวางไม่ให้มีการลงคะแนนหลายเขตเลือกตั้งในกรุงเทพฯ และในภาคใต้อีก 9 จังหวัด

ที่เขตบางนา มีการปะทะกันด้วยอาวุธปืน ทำให้ นายสุทิน ธราทิน แกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) เสียชีวิต

ต่อเนื่องถึงวันเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ หลายหน่วยเลือกตั้งในกรุงเทพฯ ก็ยังมีการปะทะกันระหว่างกลุ่มไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้งกับกลุ่มผู้ต้องการใช้สิทธิ

แม้รัฐบาลและคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดให้มีการเลือกตั้งทดแทน แต่สุดท้ายถูกยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ตัดสินว่า เป็นโมฆะ



มีนาคม

"ถวิล เปลี่ยนศรี" ได้คืนตำแหน่ง


เมื่อวันที่ 7 มีนาคม ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งและประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2554 ที่ให้ นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

โดยให้คืนตำแหน่งเลขาธิการ สมช. แก่นายถวิลภายใน 45 วันนับแต่วันที่มีคำพิพากษา

คำพิพากษาดังกล่าว นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ เมื่อ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งในเวลาต่อมา



เมษายน

"สุเทพ" ลั่นเป็นรัฏฐาธิปัตย์

นปช. อุ่นเครื่องชุมนุม


กปปส. นัดประชุมใหญ่แกนนำทั่วประเทศในวันที่ 5 เมษายน โดยนายสุเทพประกาศกลางที่ชุมนุมว่า จะเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ตั้งนายกรัฐมนตรี-คณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสภาประชาชนเพื่อปฏิรูปประเทศ

วันเดียวกัน แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือคนเสื้อแดง เดินทางเข้าร่วมชุมนุมกันที่ถนนอักษะ ย่านพุทธมณฑล เป็นเวลา 3 วัน

เป็นการชุมนุมอุ่นเครื่อง ก่อนจะระดมพลใหญ่อีกครั้งเพื่อแสดงกำลังตอบโต้ กปปส.

กระทั่งช่วงปลายเดือนเมษายน ทั้ง กปปส. และ นปช. ต่างก็กำหนดดีเดย์เริ่มการชุมนุมใหญ่พร้อมกันในวันที่ 5 พฤษภาคม



พฤษภาคม

รัฐประหาร

22 พฤษภาคม 2557


การชุมนุมท้าทายพลังกันของทั้งสองกลุ่ม ทำให้ฝ่ายทหารเริ่มขยับ

วันที่ 20 พฤษภาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ออกประกาศกองทัพบก ฉบับที่ 1/2557 ประกาศใช้ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก โดยให้เหตุผลเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ป้องกันเหตุรุนแรงที่จะเกิดขึ้น พร้อมกับจัดตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียนร้อย (กอ.รส.) และสั่งยุบศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ของรัฐบาล

วันถัดมา กองทัพบกเชิญคณะบุคคลสำคัญร่วมประชุม 7 ฝ่าย ได้แก่ ผู้แทนรัฐบาล, วุฒิสภา, คณะกรรมการการเลือกตั้ง, พรรคเพื่อไทย, พรรคประชาธิปัตย์, กปปส. และ นปช.

การหารือไม่สามารถตกลงอะไรกันได้ จึงเชิญประชุมต่อในวันรุ่งขึ้น แต่วงหารือในวันที่ 22 พฤษภาคม ก็ไม่อาจหาข้อสรุปใดได้

กระทั่งเมื่อฝ่ายรัฐบาลแจ้ง พล.อ.ประยุทธ์ ว่า จะไม่ลาออก พล.อ.ประยุทธ์ จึงประกาศต่อหน้าทุกคนในที่นั้นว่า "ถ้างั้นตั้งแต่นาทีนี้ ผมตัดสินใจยึดอำนาจการปกครอง"

หลังจากนาทีนั้นเป็นต้นไป ประเทศไทยก็อยู่ภายใต้การบริหารงานของ "คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)"



มิถุนายน

คสช.ลุยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ


การยึดอำนาจไร้การต่อต้าน จะมีก็เพียงกลุ่มมวลชนที่แสดงสัญลักษณ์การคัดค้านการรัฐประหารด้วยการชู 3 นิ้ว อ่านหนังสือ และกินแซนด์วิช

คสช. จึงเดินหน้าจัดกิจกรรมสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ด้วยสโลแกน "คืนความสุขให้คนไทย" พร้อมๆ กับการเดินเกมชี้แจงต่อต่างประเทศที่คัดค้านการรัฐประหาร ตามโรดแม็ปของ คสช. ในระยะที่ 1

รวมทั้งการขับเคลื่อนทางด้านเศรษฐกิจ โดย พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ. และรองหัวหน้า คสช. ฝ่ายเศรษฐกิจ เป็นกลจักรสำคัญในการผลักดันให้กระทรวงทางด้านเศรษฐกิจลุยงานเร่งด่วน และกำหนดยุทธศาสตร์ต่างๆ



กรกฎาคม

รธน.ชั่วคราว-สภานิติฯ


ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม เข้าสู่โรดแม็ปของ คสช. ในระยะที่ 2 เริ่มจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม มีทั้งสิ้น 48 มาตรา

สาระสำคัญกำหนดให้มีคณะรัฐมนตรีเพื่อบริหารราชการแผ่นดิน, สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อออกกฎหมาย และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อปฏิรูปประเทศและร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับถาวร

จากนั้นในวันที่ 31 กรกฎาคม ก็มีพระบรมราชโอการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง สนช. จำนวน 200 คน



สิงหาคม

ตั้งนายกฯ-ครม.

สรรหา สปช.


สนช. ประชุมเลือกนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม มีผู้เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพียงผู้เดียว จากนั้นก็ลงมติเป็นเอกฉันท์ด้วยคะแนน 191 ต่อ 0 งดออกเสียง 3 คะแนน เห็นชอบให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของประเทศไทย

หลังจากนั้นอีก 10 วัน มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรีอีก 32 คน

ส่วนการสรรหา สปช. 250 คน มาจาก 2 ส่วน คือ ส่วนแรก คณะกรรมการสรรหาของจังหวัด เสนอชื่อบุคคลจังหวัดละ 5 คน ให้ คสช. คัดเลือกเหลือจังหวัดละ 1 คน รวม 77 คน

ส่วนที่สอง คณะกรรมการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิ จากการแต่งตั้งโดย คสช. จำนวน 11 ด้าน คัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมด้านละไม่เกิน 50 คน รวม 550 คน ส่งให้ คสช. พิจารณาคัดเลือกเหลือด้านละไม่เกิน 173 คน



กันยายน

"อุดมเดช" นั่ง ผบ.ทบ.


ปกติแล้วในเดือนกันยายนทุกปี เป็นฤดูการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ

การแต่งตั้งโยกย้ายทหาร มักจะเป็นที่สนใจของสังคมมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งกุมขุมกำลังใหญ่สุดในบรรดาเหล่าทัพต่างๆ

บุคคลที่อยู่ในข่ายคั่วเก้าอี้นี้ ถูกจับตาอยู่ 2 รายคือ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร (ตท.14) รอง ผบ.ทบ. กับ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา (ตท.15) ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก (ผช.ผบ.ทบ.)

สุดท้าย พล.อ.อุดมเดช ได้ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. ส่วน พล.อ.ไพบูลย์ ถูกโยกไปเป็น รอง ผบ.สส.



ตุลาคม

ตั้ง 36 กมธ. ยกร่าง รธน.


คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นกลุ่มบุคคลอีกคณะหนึ่งที่ถูกจับจ้องว่า จะมีใครกันบ้าง

โดยที่มาของ กมธ. ชุดนี้มาจาก 4 ส่วน

1.ที่ประชุม สปช. คัดเลือก 20 คน 2.ที่ประชุม สนช. คัดเลือก 5 คน 3.คณะรัฐมนตรีคัดเลือก 5 คน และ 4.คสช. คัดเลือก 5 คน

และคนสุดท้าย คสช. คัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งประธาน กมธ. อันได้แก่ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ



พฤศจิกายน

จับนายตำรวจใหญ่

"พงศ์พัฒน์-โกวิทย์"


ข่าวใหญ่ในเดือนพฤศจิกายน คงหนีไม่พ้นกรณีที่ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. สั่งย้ายและดำเนินคดี พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ หรือบิ๊กกิ๊ก อดีต ผบช.ก. พร้อมกับนายตำรวจใกล้ชิด นำโดย พล.ต.ต.โกวิทย์ วงศ์รุ่งโรจน์ อดีตรอง ผบช.ก. พล.ต.ต.บุญสืบ ไพรเถื่อน อดีต ผบก.ตำรวจน้ำ และนายตำรวจระดับรองลงมาอีกหลายนาย ในข้อหาร้ายแรงหลายข้อหา รวมทั้งข้อหาหมิ่นเบื้องสูงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

รวมทั้งดำเนินคดีบุคคลในเครือญาตินามสกุล "อัครพงศ์ปรีชา" หลายคน

ต่อมากองกิจการในพระองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร สำนักงานราชเลขานุการในพระองค์ฯ พระที่นั่งอัมพรสถาน ได้มีหนังสือเลขที่ พว 0005.1/ ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2557 เรื่อง ยกเลิกชื่อสกุลพระราชทาน "อัครพงศ์ปรีชา"

ทำให้บรรดาผู้ที่ใช้นามสกุลดังกล่าว ต้องกลับไปใช้นามสกุลเดิมคือ "สุวะดี"

คดีนี้ยังคงมีความต่อเนื่องเรื่อยมาจนแม้พ้นปี 2557 ไปแล้ว



ธันวาคม

"องค์ศรีรัศมิ์" ทูลลาออก

จากฐานันดรศักดิ์


ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 131 ตอนที่ 29 ข ลงวันที่ 12 ธันวาคม 2557 ลงประกาศ ณ วันที่ 11 ธันวาคม เรื่อง ลาออกจากฐานันดรศักดิ์ ความว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร

มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูล สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นลายลักษณ์อักษรว่า ขอพระราชทานกราบบังคมทูลลาออกจากฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ ความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว พระราชทานพระบรมราชานุญาต

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ จึงกลับสู่สถานะของสามัญชนในชื่อ น.ส.ศรีรัศมิ์ สุวะดี และกลับไปใช้ชีวิตอย่างสงบที่บ้าน ณ อ.วัดเพลง จ.ราชบุรี

และโดยที่เคยได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้า (ป.จ.) จึงใช้คำนำหน้าชื่อว่า ท่านผู้หญิง ได้...

ทั้งหมดเป็นเหตุการณ์ส่วนหนึ่งที่เรียงร้อยบันทึกร่วมกับข่าวอื่นๆ ไว้รวมแล้วกว่า 500 หน้าใน มติชน บันทึกประเทศไทย ปี 2557

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น