วันอังคารที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

แนวปฏิบัติผู้นำ

แนวปฏิบัติผู้นำ
ข้อคิดเป็นแนวปฏิบัติสำหรับผู้นำ
 สง่า โพธิ์วัง
            ขึ้นชื่อว่าผู้นำแล้ว ทุกท่านคงพอมองภาพออกนะครับว่า คนทั่วไปถ้ามีโอกาสก็อยากจะเป็นผู้นำด้วยกันทั้งนั้นในทุกระดับ ทั้งทางราชการ เอกชน และการเมือง    แต่จะเป็นผู้นำได้ประสบผลสำเร็จหรือไม่ ต้องมีปัจจัยหลาย ๆ อย่างสนับสนุนทั้งโดยส่วนตัวและสภาพแวดล้อมอื่น ๆ ในที่นี้จะขอนำมากล่าวเน้นเฉพาะด้านตัวของผู้นำ จากศาสตร์ต่าง ๆ และผู้ทรงคุณวุฒิต่าง ๆ ได้ให้ข้อแนะนำในการเป็นผู้นำที่ดีมี   ประสิทธิภาพเป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นการทบทวน ผมขอกระซิบเบา ๆ เสริมข้อคิดเป็นแนวปฏิบัติสำหรับผู้นำดังต่อไปนี้ ส่วนท่านที่เป็นผู้นำที่ดีมีประสิทธิภาพอยู่แล้ว ขอเป็นการกระซิบเตือนนะครับ
                1. มีความกตัญญูกตเวที
                ความเป็นผู้นำที่ดีต้องเป็นผู้มีความกตัญญูกตเวที จะทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชา นับถือ ศรัทธา ยอมรับในความเป็นผู้นำที่สำคัญในรายละเอียดของความกตัญญูกตเวทีคงจะไม่กล่าวลึกมากเนื่องจากเป็นพื้นฐาน ที่สำคัญของคนไทยอยู่แล้ว แต่จะขอยกข้อคิดสอนใจของ “พระครูวิวัตธรรมโกศล”   กล่าวไว้เกี่ยวข้องกับความกตัญญูกตเวทีไว้อย่างครบถ้วน โดยผู้เขียนไม่ต้องอธิบายเพิ่มเติม คือ
               “กตัญญูควรคิดให้                               เป็นนิตย์
                กตเวทีคิด                                       ค่ำเช้า
                คนจะสรรเสริญกิตติศัพท์                      ซื่อสัตย์แฮ
                ผลจะส่งเสริมเข้า                               เขตข้างทางเกษม”
                2. ความรู้ ความสามารถ
                โบราณกล่าวไว้ว่า “รู้อะไรไม่สู้รู้วิชา รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี”     คำพังเพยที่กล่าวข้างต้นคงจะอธิบายความสำคัญได้เป็นอย่างดี การเป็นผู้นำนั้นต้องเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถในหลาย ๆ ด้าน จึงจะสามารถทำให้ผู้อื่นยอมรับและปฏิบัติตามคงไม่ต้องอธิบายมากกว่านี้
                3. ความมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล
                มีผู้รู้กล่าวเป็นข้อคิดไว้ว่า “มองให้ไกล ไปให้ถึง”  ผู้นำต้องเป็นผู้มีสายตายาวไกล ใจกว้าง   ไม่หูเบาแลไม่ใจแคบ จะสามารถนำองค์กรและหน่วยงานพัฒนาไปอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น ผู้นำต้องวางแผนระยะยาว 5 ปี 10 ปี 15 ปี แล้วนำพาไปสู่เป้าหมายให้ได้จึงจัดว่าเป็นผู้นำที่ดี
                4. การมีคุณธรรม
                มงคลชีวิตของพระธรรมดิลก (จันทร์  กุสโล)  กล่าวเป็นข้อคิดไว้ว่า    “ถ้าท่านอยากมีอำนาจ ก็อย่าขาดความยุติธรรม ถ้าท่านเห็นแก่ได้ ก็อย่าหวังน้ำใจจากคนอื่น”      จากมงคลชีวิตดังกล่าว คงสามารถอธิบายความสำคัญของการมีคุณธรรมได้ดีกว่าที่ผมจะอธิบายต่อ
                5. มีความคิดสร้างสรรค์
                ผู้นำที่ประสบผลสำเร็จจะต้องมีความคิดสร้างสรรค์ คือ การรู้จักใช้ข่าวสารข้อมูลที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เรียกได้ว่า “ระวังอย่านอนหลับทับข้อมูล”   ความคิดสร้างสรรค์จะต้องคิดเรื่องที่เป็นบวก โดยไม่วางกรอบให้กับตนเอง เรื่องนี้ทำได้ เรื่องนี้ทำไม่ได้ ยังไม่ว่าง ผู้นำที่ดีต้องพัฒนาความคิดอยู่เสมอ จึงจะก่อให้เกิดการยอมรับนับถือ และนำหมู่คณะไปสู่เป้าหมายได้ดังจะขอนำข้อคิดที่ รศ.ดร.ประสาร  มาลากุล ณ อยุธยา    ได้ให้ข้อคิดเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ไว้บางส่วนว่า
               “คนทุกคน               มีสิทธิ์                              คิดสร้างสรรค์
                ไม่ใช่ฝัน                อย่างเลื่อนลอย                   คอยเสี่ยงพา
                แต่มีจุด                   มุ่งหมาย                          ช้ปัญญา
                แก้ปัญหา               สร้างประโยชน์                   ขึ้นทดแทน”
                6. มีความสามารถในการพูดที่ดี
                การเป็นผู้นำนั้น ต้องมีความสามารถในการพูดและการสื่อสารที่ดี           เพื่อทำให้ผู้ฟังเกิดความเข้าใจที่ชัดเจน และปฏิบัติตามได้ถูกต้อง ผู้รู้ได้ให้ข้อคิดไว้ว่า ในการพูดแต่ละครั้งจงถือหลักว่า
                                “จงพูดในสิ่งที่เขาอยากฟัง
                                จงอย่าพูดในสิ่งที่เราอยากพูด
                                จงพูดภาษาคนฟัง
                                 จงอย่าพูดภาษาคนพูด”
                7. มีความสามารถในการประสานงานและมีมนุษยสัมพันธ์
                ผู้นำที่ดีต้องเป็นทั้งนักประสานและนักมนุษยสัมพันธ์ จึงจะสามารถทำให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ผู้รู้ได้ให้ข้อคิดเกี่ยวกับการประสานงาน และมนุษยสัมพันธ์ไว้เป็นคติว่า
               “ประสานงาน                      ประสานใจ                           ไว้แต่ต้น
                ประสานวจี                        ทุกคน                                พูดเสริมส่ง
                ประสานกาย                      ร่วมแรง                               ตั้งจำนงค์
                สามประสาน                      สมประสงค์                           สัมฤทธิ์เอย”
                8. ความมีใจหนักแน่น
                ความเป็นผู้นำต้องเป็นตัวของตัวเองในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เนื่องจากจะส่งผลต่อคนกลุ่มใหญ่  ไม่ใช่ใครพูดอะไรก็เชื่อและทำตามไปหมด ต้องวิเคราะห์ถึงประโยชน์ส่วนรวมของกลุ่ม ของทีม    โบราณได้ให้ข้อคิดไว้ว่า ต้องคอยเอา  “ลูกตุ้มถ่วงหูไว้” หรือ “จงรับฟัง แต่ไม่ใช่เชื่อฟังทั้งหมด”  ล้วนแล้วเป็นแนวทางให้กับผู้นำที่ควรพิจารณา
                9. มีสุขภาพที่สมบูรณ์
                ความเป็นผู้นำที่ดีต้องรู้จักรักษาสุขภาพร่างกาย ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ถ้าผู้นำเป็นผู้ที่มีสุขภาพที่ดี จะคิด จะทำอะไรก็จะรวดเร็ว ถูกต้อง เกิดประสิทธิภาพ เรียกว่าคิดดี ทำดี ตรงกันข้ามถ้าผู้นำสุขภาพไม่สมบูรณ์ สามวันดี สี่วันร้าย การจะนำองค์กรหรือกลุ่มไปสู่เป้าหมายนั้นจะไม่สดใสนัก ความสำคัญเกี่ยวกับสุขภาพร่างกายนั้น มีความสำคัญมาก จนมีผู้ให้ข้อคิดเป็นคำภาษิตและคำพังเพยให้ข้อคิดไว้ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาสุขภาพร่างกาย
เช่น “ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ”  “ออกกำลังกายวันละนิด       จิตแจ่มใส” หรือ      “กีฬา ๆ เป็นยาวิเศษ” เป็นต้น ล้วนแล้วเน้นถึงความสำคัญของสุขภาพร่างกายที่ผู้นำพึงปฏิบัติ
                10. มีความสามารถในการบริหารเวลา
                การบริหารเวลาเป็นสิ่งจำเป็น และสำคัญของทุกคน    ผู้นำที่ดีมีประสิทธิภาพจะต้องบริหารเวลาให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผู้นำที่ดีต้อง “รู้จักการบริหารเวลา” ว่างานไหนต้องจัดการเอง งานไหนควรให้คนอื่นไปแทน งานไหนรอได้ งานไหนรองไม่ได้ และงานใดควรทำก่อน, หลัง โดยสรุปต้องวางแผนการบริหารเวลาให้ดีที่สุด 
ในเรื่องของการบริหารเวลา ผู้รู้ได้ให้ข้อคิดไว้เป็นคำกลอนที่ควรพิจารณาว่า
                                “ธรรมชาติให้เวลามาเท่ากัน
                                 24 ชั่วโมง เป็นหนึ่งวัน ไม่ผิดเพี้ยน
                                  แม้เศรษฐีหรือยาจก ไม่วกเยียน
                                  ใครจะเปลี่ยนให้มีค่า น่าสนใจ”
                11. มีความเป็นแบบอย่างที่ดีในทุกด้าน
                ความเป็นผู้นำนั้นต้องเป็นตัวแบบ ต้นแบบ หรือแบบอย่างที่ดีในทุกด้าน เพื่อให้เกิดการยอมรับ – ความศรัทธา – ความเชื่อถือเกิดขึ้นกับกลุ่ม จึงจะสามารถทำให้เกิดความร่วมมือ ร่วมใจในการทำงาน ส่งผลดีต่อองค์กรหรือหน่วยงาน    การเป็นแบบอย่างที่ดีทั้งในด้านความประพฤติ การกระทำนั้นมิใช่เกิดขึ้นโดยง่ายแต่ต้องปฏิบัติสืบเนื่องมาจนเป็นที่ยอมรับของกลุ่ม   มีผู้รู้ได้ให้ข้อคิดไว้ในเรื่องของการเป็นแบบอย่างที่ดี เป็นข้อคิดหลายอย่าง เช่น “ฆ่าความโกรธได้ ย่อมเป็นสุข”  “ความอดทนนำมาซึ่งประโยชน์สุข” “ชนะตนเอง เก่งกว่าชนะใด ๆ “  “อ่อนโยนแต่ไม่อ่อนไหว”  และ  “กว้างอะไร ไม่ยิ่งใหญ่เท่าใจกว้าง” หรือ “อยากให้เขาไหว้เรา ไหว้าเขาก่อน”     เป็นต้น จากข้อคิดต่าง ๆ ที่ผู้รู้ได้กล่าวไว้คงพอสรุปได้ชัดเจนนะครับ ว่าผู้นำจะต้องเป็นแบบอย่างทุก ๆ ด้าน จะส่งผลให้การดำเนินงานสำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพ
                ผมได้กระซิบเบา ๆ เกี่ยวกับข้อคิดแนวปฏิบัติของผู้นำมาพอสมควรแล้ว       ยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่ท่านผู้รู้ได้แนะนำไว้อีกเป็นจำนวนมากที่ผู้อ่านสามารถไปศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม นำมาวิเคราะห์ประยุกต์ใช้ต่อไป วันนี้ถ้าบกพร่องต้องขออภัย รายละเอียดปลีกย่อยกว่านี้คงไม่ต้องสรุปต่อเพียงแต่ขอฝากเป็นคำกลอนที่ท่านผู้รู้ได้เขียนไว้ให้เป็นข้อคิด ดังนี้
                เป็นนายเขา                         ต้องขยัน                                หมั่นศึกษา
                ให้เป็นคน                           ก้าวหน้า                                 ทันสมัย
                ไม่ล้าหลัง                           ห่างเหิน                                  จนเกินไป
                ลูกน้องก้าว                          หน้าไกล                                ตามไม่ทัน
                ไม่จำเป็น                            ต้องศึกษา                              มากกว่าเขา
                ให้เป็นหลัก                          พอเป็นเค้า                              เขาเชื่อมั่น
                แม้เป็นนาย                           รู้จักใช้                                  สบายครัน
             ไม่จำเป็น                                ต้องฟาดฟัน                             อยู่คนเดียว”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น