วันจันทร์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

BEST PRACTICE

BEST PRACTICE

BEST  PRACTICE

ความหมาย  Best Practice  เป็นวิธีการทำงานที่ดีที่สุดในเรื่องนั้น ๆ ซึ่งอาจจะเป็นระบบบริหาร เทคนิควิธีการต่าง ๆ ที่ทำให้ผลงานบรรลุเป้าหมายระดับสูงสุด ดังนั้น Best Practice จึงไม่ใช่เป็นแค่เพียงวิธีการทำงานที่ดี แต่เป็นการทำงานที่ดีกว่า หรือดีที่สุด ซึ่งมีทั้งการทำงานในเชิงระบบบริหาร และเทคนิควิธีการต่าง ๆ ทำให้ผลงานนั้นบรรลุเป้าหมายสูงสุด

จุดเริ่มต้น    Best Practice เริ่มต้นจากวงการแพทย์ เป็นวิธีการปฏิบัติงานที่ดีไม่ว่าจะนำไปปฏิบัติที่ไหนอย่างไร ซึ่งผลงานที่ปฏิบัตินั้นได้นำไปสู่ผลสำเร็จของหน่วยงาน จำเป็นต้องมีการแลกเปลี่ยนวิธีการปฏิบัติงานที่ดีกับหน่วยงานย่อย และมีการแลกเปลี่ยนระหว่างหน่วยงาน    ต่างๆ  ซึ่งเป็นหน่วยงานภายนอก ผลสุดท้ายของ Best Practice คือการนำไปใช้จนเป็นมาตรฐาน

                   ในสหรัฐอเมริกา ได้มีสมาคมวิชาชีพแพทย์รวมตัวกันเพื่อทำการปรับปรุง  คุณภาพการดูแลผู้ป่วย สมาชิกของสมาคมจะทำการปรับปรุงคุณภาพเครื่องมือ โปรแกรมการดูแลสุขภาพในราคาที่ต่ำ แต่ให้ความพึงพอใจแก่ผู้ป่วย ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ต้องอาศัยการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ซึ่งกันและกัน การจัดกิจกรรมดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง มีการแจกรางวัล Best Practice เพื่อกระตุ้นการปรับปรุงคุณภาพผลงาน รางวัลแบ่งเป็นประเภทต่างๆ ตามลักษณะผลงาน ซึ่งเชื่อถือได้ว่าเป็นผลงานชิ้นเยี่ยมในแต่ละประเภท ส่วนรางวัลใหญ่มีเพียงรางวัลเดียวคือ Grand Prize ผู้ชนะจะได้รับรางวัลเป็นเงิน 2,400,000 บาท ได้เข้าร่วมสัมมนาระดับชาติของสมาคม ผลงานจะได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Best Practice และเว็บไซต์ของสมาคม ตัวอย่างโปรแกรมที่ได้รางวัลคือ โปรแกรมการเชิญชวนดูแลผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งที่ต่อม
ลูกหมากของกลุ่มแพทย์เฮนรี่ฟอร์ด โดยให้ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองได้ที่บ้านร่วมกับการรักษาที่ศูนย์การรักษา โดยดำเนินกิจกรรมในลักษณะการวิจัย ผลของโปรแกรมพบว่า 90 เปอร์เซนต์ของผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยส่วนใหญ่เป็นมะเร็งในระยะแรกเท่านั้น ผู้ป่วยมีความพึงพอใจในการดูแลรักษา การประเมินการให้รางวัลมีทั้งการสังเกตอย่างไม่เป็นทางการ การสนทนา และการใช้แบบสำรวจความคิดเห็นของผู้ป่วย
คำที่มีความหมายใกล้เคียงกับ Best Practice
                   Good Practice  เป็นคำที่มีความหมายค่อนข้างกว้าง ใช้ในความหมายเกี่ยวกับการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพ แต่อาจจะยังไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัด หรือแสดงความถูกต้องอย่างชัดเจน อาจจะเป็นเพียงคำบอกเล่าปากต่อปาก ซึ่งจำเป็นต้องใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์มา
ยืนยันผลงาน Best practice เป็นคำเฉพาะหรือศัพท์ที่ใช้ในวงการวิชาชีพที่แสดงถึงผลงานที่มีมาตรฐาน มีการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง มีหลักฐานสนับสนุน หรือแสดงผลงานหรือความสำเร็จ   ของงาน  
                   Innovative Practice หมายถึง  จุดเน้นและแนวทางการทำงานที่น่าสนใจ แต่ยังไม่มีตัวชี้วัดใดบอกความสำเร็จได้
Best Practice  ทางด้านการศึกษา เป็นเครื่องมือทางด้านการศึกษาที่มีประสิทธิภาพที่ดีเยี่ยม บางครั้ง Best Practice อาจจะเป็นเพียงแค่แนวคิดง่ายๆ แต่เป็นแนวคิดที่ทรงพลานุภาพ  น่าตื่นตาตื่นใจ  เป็นการ
คิดนอกกรอบ เมื่อหน่วยงานมี Best Practice แล้ว ควรได้มีการพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง
การนำแนวคิด Best Practice ไปใช้
                   ความโด่งดังของ Best Practice เกิดขึ้นเมื่อหน่วยงานในภาคธุรกิจได้นำไปใช้เป็นรางวัล หรือสิ่งจูงใจให้กับฝ่ายหรือแผนกต่างๆ  ขององค์กร เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างสรรค์
ผลงาน และวิธีการปฏิบัติงานที่ดี สามารถสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า อันนำมาสู่การสร้างผลกำไรให้บริษัทหรือองค์กร ผลตอบแทนสำหรับฝ่ายหรือแผนกที่จะได้รับรางวัลนั้นในระยะแรกมักจะเป็นถ้วยรางวัล และเงินสดเป็นส่วนใหญ่ แต่ในระยะต่อมา หลายองค์กรเห็นว่าการให้รางวัลดังกล่าวไม่สามารถกระตุ้นการทำงานได้เพียงพอและยั่งยืน จึงได้เปลี่ยนรางวัลและรูปแบบการให้รางวัล โดยเน้นรางวัลในสิ่งที่ไม่สามารถสัมผัสได้ เช่น การให้โอกาสการทำงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้น การผ่อนคลายกฎระเบียบการทำงาน และการให้โอกาสผู้ปฏิบัติระดับล่างเข้าถึงผู้บริหารระดับสูงได้ง่าย และไม่เป็นทางการมากขึ้น
Best practice ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
                   ถึงแม้ว่าในขณะนี้ สพฐ. ยังไม่มีการจัดทำ Best Practice (BP)  อย่างเป็นระบบ แต่แท้ที่จริงแล้วหน่วยงานในสังกัด สพฐ. มี Best Practice อยู่แล้ว และมีมากมายทั้งส่วนที่
เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการศึกษา และการปฏิรูปราชการ แต่ที่นำเสนอมักจะเป็นผลงานเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาเป็นส่วนใหญ่ เช่น รูปแบบเทคนิควิธีการสอนต่างๆ เทคนิคการนิเทศ และการบริหารสถานศึกษา เป็นต้น สำหรับในส่วนของการปฏิรูประบบราชการยังไม่ปรากฏออกมาอย่างชัดเจน ส่วนใหญ่มักจะรู้กันในหน่วยงาน หรือวงการที่เกี่ยวข้อง เช่น การเบิกค่ารักษา 15 นาที การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการบริหารงานธุรการการจัดการศึกษานานาชาติ โรงเรียนในแนวตะเข็บชายแดน One Stop Service เป็นต้น รูปแบบเทคนิควิธีการบริหารราชการเหล่านี้ได้หลบซ่อนอยู่ในสำนักงาน ยังไม่ได้มีโอกาสมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างแพร่พลาย สำหรับสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ทั่วประเทศก็เชื่อว่ามี Best Practice กระจัดกระจายหลบซ่อนอยู่มากมายเช่นเดียวกัน แต่ไม่มีการบันทึกรายงานให้รับทราบกันอย่างกว้างขวาง
BP ในหน่วยงาน สามารถเกิดขึ้นได้หลายช่องทาง ตัวอย่างดังนี้
                   1.  เกิดจากบุคคล อันมาจากการเรียนรู้ ประสบการณ์ ภาวะผู้นำของผู้บริหารที่มุ่งหวังความสำเร็จ คิดเชิงอนาคต คิดเพื่อเปลี่ยนแปลง ส่วนผู้ปฏิบัติงานหรือผู้ใต้บังคับบัญชาก็ได้จากการเรียนรู้ในการปฏิบัติ  การคิดริเริ่มสร้างสรรค์  การแก้ปัญหาการทำงาน การให้ข้อเสนอแนะต่อผู้บริหาร หรืออาจจะเกิดแนวคิดจากคำปรารภของคณะกรรมการ  ของผู้ปกครอง ของประชาชน หรือผู้รับบริการ ก่อให้เกิดการสร้างสรรค์วิธีการใหม่ หรือที่ดีกว่า
                   2.  เกิดจากปัญหาอุปสรรค ในการบริหารจัดการทั้งระบบ ทั้งปัจจัยนำเข้า กระบวนการ และผลผลิต ไม่ได้ตามเป้าหมาย ความกดดันจากผู้รับบริการ การขับเคลื่อนนโยบายของผู้บริหารระดับสูง ภาวะข้อจำกัดของทรัพยากรทางการบริหาร ภาวะวิกฤติ ทำให้มีการแสวงหาแนวทาง กระบวนการ วิธีการที่ดีกว่า เพื่อให้ได้ผลผลิตความสำเร็จสูงสุด
                   3.  เกิดจากแรงขับเคลื่อนการพัฒนา  ค้นหาวิธีใหม่เพื่อเพิ่มผลผลิต กำไร หรือสร้างความพึงพอใจให้ผู้รับบริการ เสริมสร้างประสิทธิภาพขององค์การ
ขั้นตอนการดำเนินงาน BP เสนอแนะได้ ดังนี้
                   ขั้นตอน 1       การวิเคราะห์ภารกิจที่แท้จริงของหน่วยงานนั้น ๆ
                   ขั้นตอน 2      การศึกษาวิเคราะห์สภาพของหน่วยงานซึ่งอาจดำเนินการได้หลายวิธี  เช่น  ใช้วิธีการสำรวจ  การระดมความคิด  
การใช้กระบวนการ AIC (Appreciation – Influence - Control) หรือ SWOT เป็นต้น
                   ขั้นตอน 3      การกำหนดภาพความสำเร็จในอนาคต จัดทำรูปแบบ (Model) วิธีการดำเนินงาน
                   ขั้นตอน 4      การปฏิบัติตามแบบวิธีการ อาจจะเริ่มทดลองนำร่องตรวจสอบ ประเมินผลอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ
                   ขั้นตอน 5      ประเมินผลวิเคราะห์เปรียบเทียบในด้านขั้นตอน  ระยะเวลา งบประมาณ และผลที่ได้รับกับวิธีการเดิม
                   ขั้นตอน 6      ปรับปรุง พัฒนา และขยายผลการนำไปใช้ในหน่วยงานให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
                   ขั้นตอน 7      การบันทึก เขียนรายงาน ใช้เป็นมาตรฐานในการปฏิบัติ
                   นอกจากข้อเสนอ 7 ขั้นตอนข้างต้นแล้ว หน่วยงานสามารถจะดำเนินการได้อีกหลายกระบวนการ เช่น ตามแนวทางวงจรเดมมิ่ง (Demming circle) ซึ่งประกอบด้วย
                   P :  การวางแผน
                   D:  การปฏิบัติ
                   C :  การตรวจสอบประเมินผล
                   A :  การปรับปรุง พัฒนา กำหนดกิจกรรมใหม่ เป็นต้น 
คุณลักษณะ BP
                   BP นอกจากลักษณะที่ทรงพลัง มีความตื่นตาตื่นใจในตัวมันเองแล้ว ควรจะมีประเด็นการพิจารณา ดังต่อไปนี้ด้วย คือ
                   1.  เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับภารกิจโดยตรงของหน่วยงานนั้น
                   2.  สนองต่อนโยบายการแก้ปัญหา การพัฒนาประสิทธิภาพของหน่วยงาน
                   3.  ลดขั้นตอน ลดรอบระยะเวลาการทำงาน
                   4.  ลดทรัพยากร ลดค่าใช้จ่าย
                   5.  การนำเทคโนโลยีมาใช้ประกอบการทำงาน
                   6.  วิธีการที่ริเริ่มสร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่ หรือประยุกต์ขึ้นใหม่
                   7.  สามารถทำแผนผังเชิงเปรียบเทียบวิธีการเก่าและใหม่
                   8.  อำนวยความสะดวกในการใช้
                   9.  วางระบบการให้บริการ  มีช่องทางการให้บริการ
                   10. สามารถเทียบเคียงวิธีการทำงานลักษณะเดียวกันกับหน่วยงานอื่นได้
                   11. ผลผลิต / ความสำเร็จเพิ่มขึ้น
                   12. ความพึงพอใจของผู้รับบริการ หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
                   13. สามารถนำไปใช้เป็นมาตรฐานการทำงานต่อไปได้ยั่งยืนพอสมควร
                   14. การพัฒนาปรับปรุงต่อไป

                    
      ขอบข่าย BP ในหน่วยงานทางการศึกษา
             BP ด้านบริการ เสนอแนะได้ดังนี้
                   ·   การประหยัดงบประมาณ
                   ·   การลดรอบระยะเวลาของขั้นตอนในการให้บริการ
                        -     การออกใบสุทธิ
                        -     การขอใช้อาคารสถานที่
                        -     การออกใบรับรองการสำเร็จการศึกษา
                        -     การให้บริการข้อมูลสารสนเทศ
                        -     การเบิกจ่ายงบประมาณ
                              ฯลฯ
                   ·   การส่งเสริมศักยภาพของหน่วยงาน และสถานศึกษา สามารถนำระบบ
                        อิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการปฏิบัติงานและพัฒนา
                   ·   ระบบการวัดผลผลิต (ขอบข่ายการวัดปริมาณคุณภาพ เวลา ค่าใช้จ่าย)
                   ·   การเปิดโอกาสให้เอกชน หรือองค์กรพัฒนาที่ไม่แสวงหากำไรเข้ามามี
                        ส่วนร่วมการบริหารจัดการ
                   ·   การบริการที่เน้นความพึงพอใจของผู้รับบริการ
                   ·   การรับฟังและตอบสนองความคิดเห็นของประชาชน
                   ·   การบริหารอัตรากำลังให้คุ้มค่า
                        -     การเกลี่ยอัตรากำลัง
                        -     การบรรจุ แต่งตั้งบุคลากรลงในอัตราว่างอย่างรวดเร็ว
                        -     การมอบหมายงานให้บุคคล หรือกลุ่มบุคคลตรงกับความรู้ความสามรถ
                                      และความถนัด
                        -     การส่งเสริมบุคลากรให้ทำงานเต็มตามศักยภาพ
                        -     การติดตาม ประเมินผลการปฏิบัติงานของบุคลากร
                              ฯลฯ
                   ·   การจัดองค์กรให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้
                        -     การส่งเสริมหรือพัฒนาให้บุคลากรพัฒนาความรู้และทักษะการปฏิบัติงาน
                        -     การจัดบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้
                        -     การจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่หลากหลาย สม่ำเสมอ และต่อเนื่อง
                              ฯลฯ
                   ·   การถ่ายทอดเป้าหมายและตัวชี้วัดขององค์กรให้ถึงระบบบุคคล
                   ·   การพัฒนาระบบควบคุมภายใน
                        -     การบริหารความเสี่ยง
                        -     การรายงาน
                              ฯลฯ
                        BP ด้านคุณภาพ
                   ·   ระบบการรับนักเรียนเข้าเรียน
                        -     การจัดทำข้อมูลสารสนเทศ กลุ่มอายุ 3  -  5 ปี และ  7  -  16 ปี
                        -     การวางแผนการรับนักเรียน
                        -     Educational Mapping
                        -     ระบบการติดตามนักเรียน
                   ·   การจัดรูปแบบการจัดการศึกษา
                        -     การจัดการศึกษาเด็กปัญญาเลิศ
                        -     การจัดการศึกษาเด็กด้อยโอกาส
                        -     การจัดการศึกษาเด็กพิการ
                   ·   การลดการออกกลางคัน
                   ·   การส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย
                   ·   การจัดสรรโอกาสให้นักเรียนได้ศึกษาต่อจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน
                   ·   การจัดระบบสนับสนุน เกื้อกูล ช่วยเหลือให้นักเรียนจบการศึกษาภาคบังคับ และการศึกษาขั้นพื้นฐาน
                        -     ทุน
                        -     อาหารกลางวัน
                        -     การทำงานนอกเวลาเรียน (Part Time)
                        -     การมีรายได้ระหว่างเรียน (รายได้ที่เกิดจากกิจกรรมการเรียนรู้)
                   ·   การบริหารจัดการหลักสูตร
                        -     การจัดทำและพัฒนาหลักสูตร สถานศึกษา
                        -     การนำหลักสูตรไปใช้
                        -     การประเมินผลติดตามการใช้หลักสูตร
                   ·   การใช้แหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น
                   ·   การจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการ และยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ
                   ·   การประกันคุณภาพภายใน
                   ·   ระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน
                        -     การศึกษานักเรียนรายบุคคล
                        -     การคัดกรองนักเรียน
                        -     การส่งเสริมสนับสนุนนักเรียน
                        -     การป้องกันแก้ไข
                        -     การส่งต่อนักเรียน
                              ฯลฯ
     การเขียนรายงาน BP
     เค้าโครงรายงาน BP ควรจะประกอบด้วยประเด็นหลัก ๆ ดังต่อไปนี้
  • ชื่อหน่วยงาน
  • ชื่อผลงาน
  • ผลสำเร็จ
  • กิจกรรม / วิธีการ /ขั้นตอนที่สำคัญ และเวลาแต่ละขั้นตอน
  • แผนผังแสดงขั้นตอนและระยะเวลา (ถ้ามี) ของการปฏิบัติงานก่อนปรับปรุงผลงาน (ที่กำหนดไว้เดิม)
  • แผนผังแสดงขั้นตอนและระยะเวลา (ถ้ามี) ของการปฏิบัติงานหลังปรับปรุงผลงาน (ที่ปรับปรุงใหม่)
  • งบประมาณที่ใช้เพื่อการพัฒนาปรับปรุงผลงาน
  • เงื่อนไข / ข้อจำกัดของผลงาน
  • แผนการพัฒนากิจกรรม / โครงการในอนาคต (สรุปเป็นความเรียงไม่เกิน 1 หน้ากระดาษ A 4)
  • แหล่งอ้างอิงผลงาน เช่น รายงาน บันทึก เอกสารหลักฐานอื่น ๆ และผลการสำรวจ เป็นต้น ทั้งนี้  ต้องขึ้นอยู่กับ BP เรื่องนั้น ๆ

สรุป

                   Best Practice เป็นวิธีการทำงานที่ดีที่สุดในแต่ละเรื่อง ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกหน่วยงานจากหลายช่องทาง ทั้งตัวผู้นำ ผู้ร่วมงาน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือภาวะปัญหาและการริเริ่มสร้างสรรค์พัฒนาที่มีขั้นตอน ในหน่วยงานทางการศึกษา อาจจะมี BP อยู่แล้วทั้งด้านบริการ ด้านคุณภาพ หรือด้านอื่น  การจะพิจารณาว่าเป็น BP หรือไม่ มีข้อควรคำนึง เช่น ภารกิจที่แท้จริง การลดเวลา ค่าใช้จ่าย ได้ผลผลิตเท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้น ใช้เป็นมาตรฐานการปฏิบัติ ความพึงพอใจของผู้รับบริการ
                   BP ที่ได้ควรมีการบันทึกเขียนรายงานเพื่อการศึกษาพัฒนาและเผยแพร่ได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการบริหารจัดการศึกษาอย่างยิ่ง และอาจนำไปสู่การตอบแทนหรือให้รางวัลในลักษณะต่าง ๆ ได้

หนังสืออ้างอิง

กลุ่มพัฒนาระบบบริหาร, สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. รูปแบบการจัดระบบงานและกระบวนการทำงานที่มีประสิทธิภาพดีเยี่ยม. ถ่ายสำเนา, 2547.
เกรียงศักดิ์  เจริญวงศ์ศักดิ์, การคิดเชิงอนาคต. บริษัทซักเซส มีเดียจำกัด, กรุงเทพมหานคร, 2546.
คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, สำนักงาน องค์ความรู้การพัฒนาระบบราชการ. หจก.ภาพพิมพ์จำกัด, กรุงเทพมหานคร, 2547

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น