วันอังคารที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

การศึกษาทางเลือก

การศึกษาทางเลือก

ความหมายของการศึกษาทางเลือกจาก Dictionary of Education ของประเทศอังกฤษที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (สกศ.) จัดแปลไว้เป็นเอกสารอัดสำเนา มีดังนี้

การศึกษาทางเลือก ( Alternative Education) เป็นการศึกษาเชิงอุดมคติ เพื่อแสดงถึงคุณลักษณะของรูปแบบการศึกษาที่ไม่ใช่การศึกษาแบบเดิม มักจะถือว่าเป็นโรงเรียนอิสระ ( Free School) หรือเป็นการเรียนรู้ตามอัธยาศัย ไม่มีสถาบันการศึกษา (non-institutional) และยึดชุมชนเป็นหลัก (community – base) ลดบทบาทของการจัดการศึกษาในรูปแบบโรงเรียน และหากเป็นการจัดการศึกษาในโรงเรียน ก็จะเป็นการจัดการศึกษาแบบก้าวหน้า (progressive)

พิภพ ธงไชย (ผู้ก่อตั้งโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก จ.กาญจนบุรี) ผู้บุกเบิกการศึกษาทางเลือกเมื่อ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ถอดบทเรียนเขียนถึงการศึกษาทางเลือกไว้ในเวลาต่อมาว่า  การศึกษาทางเลือก คือ ระบบการจัดการศึกษาที่หลากหลาย ยืนอยู่บนรากฐานทางศาสนธรรม รากฐานทางปัญญา รากฐานทางจิตวิทยา เพื่อพัฒนาเด็กให้เจริญเติบโตตามศักยภาพ ในธรรมชาติของตัวเด็กโดยเน้นที่ความสุขและการอยู่ร่วมกันแบบสันติ รูปแบบการศึกษาทางเลือกจะเป็นรูปแบบที่สอดคล้องกับธรรมชาติของผู้เรียน และกระบวนการเรียนรู้ รวมทั้งเนื้อหาสาระที่เรียนรู้

งาน วิจัยเรื่อง “การศึกษาทางเลือกในสังคมไทย ข้อเสนอยุทธศาสตร์เพื่อการขับเคลื่อน” โครงการศึกษาวิจัยการศึกษาทางเลือกเพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะ ได้พยายามหาความหมายของ “การศึกษาทางเลือก” ในบริบทสังคมไทย ด้วยการสรุปกรอบแนวคิดความหมายการศึกษาทางเลือกในหลายลักษณะอย่างพยายามให้ ครอบคลุมมิติต่างๆ ดังนี้
 
1. การศึกษาทางเลือกในฐานะคุณค่าและความหมายอันแท้จริงของการศึกษาเรียนรู้
 
1.1 การศึกษาคือการพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ 
การศึกษาต้องมีทัศนะต่อ มนุษย์ในฐานะชีวิตที่มีทั้งปัญญาและหัวใจ มีศักยภาพที่จะเรียนรู้และพัฒนาตนไปสู่คุณค่าอันสูงส่งคือความเป็นมนุษย์ที่ สมบูรณ์ มีอิสรภาพในทางจิตวิญญาณ มีความสุขและความสร้างสรรค์อย่างเต็มที่ได้ เพื่อให้พ้นจากความคับแคบของการ ศึกษาแบบบริโภคนิยมที่มองมนุษย์ในฐานะทรัพยากรเพียงผลิตคนเข้าสู่ตลาดจ้าง งาน ภายใต้ค่านิยมการแข่งขันเอารัดเอาเปรียบกัน การละโมบในอำนาจและความมั่งคั่งจนเกินควร
 
ความเป็นมนุษย์อยู่เหนือ วัตถุ ด้วยสามารถเข้าถึงมิติทางนามธรรม ระบบคุณค่า ความรับผิดชอบชั่ว-ดี มนุษย์จึงไม่เพียงแต่มีความสามารถในการเรียนรู้ ฝึกฝนตนเอง ค้นพบและแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ หากยังวินิจฉัยไตร่ตรองแยกแยะบาป-บุญได้ด้วย จากผลของการเรียนรู้ที่ไม่ละเลยมิติทางนามธรรมหรือมิติทางจิตวิญญาณ 
 
เมื่อเรียนรู้อย่างไม่ขาด หายมิติทางจิตวิญญาณ การเรียนรู้ก็สามารถนำไปสู่ภาวะที่พุทธศาสนาเรียกว่า “ปัญญา” มีความตื่น เบิกบาน ประจักษ์แจ้งในความจริงตามที่เป็นจริง ครองตนอยู่ในคุณธรรมความดีงาม เกิดวิถีของการดำเนินชีวิตบนความไม่ประมาท รู้จักประมาณ ไม่เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่น
 
สอดคล้องตามกำหนดในมาตรา 6 ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542  การจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่าง กาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้ และคุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข
 
1.2 การศึกษาคือทางเลือกหลากหลายอันเป็นภาวะตามธรรมชาติ
การศึกษาต้องสร้างวิถีการ เรียนรู้ที่สอดคล้องกับวิถีของธรรมชาติ ที่คนแต่ละคนย่อมมีความแตกต่างกันไป ทั้งในลักษณะ ลีลา ความถนัด ความสนใจ ความพร้อม รวมถึงสภาพแวดล้อมในวิถีชีวิตครอบครัว โดยที่คนทุกคนมีศักยภาพที่จะเรียนรู้อย่างน้อยก็ในทางใดทางหนึ่ง 
 
ด้วยการเปิดโอกาสสร้างทาง เลือกของการศึกษาเรียนรู้ที่ทำให้คนแต่ละคนได้แสดงออก ได้ค้นพบตัวเอง พบทั้งข้อเด่นข้อด้อยที่จะต้องส่งเสริมและแก้ไข เกิดพัฒนาการทั้งในทางพรสวรรค์ให้โดดเด่นขึ้นมาอย่างมีความสมดุลกับพัฒนาการ ด้านอื่นๆ จนสามารถประสบความสำเร็จได้ตามธรรมชาติและเต็มศักยภาพของตน 
 
สอดคล้องตามกำหนดในมาตรา 22 ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542  การจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตน เองได้ และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็ม ศักยภาพ
 
1.3 การศึกษาคือการสร้างสรรค์วิถีการเรียนรู้ที่สมดุลและผสมผสาน
การศึกษาต้องนำไปสู่ความ รู้เท่าทัน บนพื้นฐานของความสมดุลและการผสมสาน ที่กำลังเป็นทิศทางใหม่ของโลกภายหลังการเปลี่ยนแปลง คือการพยายามหลุดออกจากวัฒนธรรมในระบบทุนนิยมเสรีหรือวัตถุนิยมแบบแข่งขัน เอารัดเอาเปรียบ รวมทั้งความหลงในการพัฒนาเทคโนโลยีไม่มีขีดสุดจนทำลายธรรมชาติและเกิดภัยคุก คามครอบงำมนุษย์ ด้วยการสร้างสรรค์วัฒนธรรมวิถีชีวิตแบบใหม่ที่ใฝ่หาชุมชน ที่สงบสันติ ในความสัมพันธ์ต่อกันที่มีความซื่อตรงและความรู้สึกพอเพียง เป็นมิตรต่อตนเอง ต่อผู้อื่นและธรรมชาติ
 
สอดคล้องตามกำหนดในมาตรา 23 ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่ให้เน้นความสำคัญของทั้งความรู้และคุณธรรม กำหนดให้การศึกษาทุกรูปแบบจะต้องให้มีองค์ความรู้สำคัญที่เสมือนเป็นแกนกลาง ที่ทุกคนต้องรู้ ได้แก่ ความรู้ในตัวเอง และความสัมพันธ์ของตนเองกับครอบครัว ชุมชน สังคมไทย สังคมโลก ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของสังคมไทยและระบบการเมืองการปกครอง , ความรู้และทักษะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี , ความรู้เกี่ยวกับศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม การกีฬา ภูมิปัญญาไทยและการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญา , ความรู้และทักษะด้านคณิตศาสตร์และภาษาโดยเฉพาะภาษาไทย และความรู้และทักษะใน การประกอบอาชีพ การดำรงชีวิตอย่างมีความสุข
 
1.4 การศึกษาคือการสร้างสรรค์วิถีการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับธรรมชาติในการเรียนรู้ของมนุษย์
การศึกษาต้องสร้างความสุข ในการเรียนรู้  เรียนรู้อย่างบูรณาการในองค์รวมของชีวิต  ผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ไม่แยกออกจากกัน วิชาการกับวิถีชีวิตเป็นเนื้อเดียวกัน  เรียนรู้จากความเป็นจริง เรียนรู้แล้วนำไปใช้ในชีวิตจริงได้  เกิดความรักในการเรียนรู้ รู้ได้หลากหลาย รู้เชื่อมโยง รู้สร้างสรรค์ รู้ได้ทั้งจากสิ่งที่ชอบใจและไม่ชอบใจ  สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองและเรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิต  
 
สอดคล้องตามกำหนดในมาตรา 24 ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่กำหนดแนวทางการจัดกระบวนการเรียนรู้โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่าง บุคคล , ฝึกทักษะการคิด การจัดการ การเผชิญสถานการณ์ การแก้ปัญหา , เรียนรู้จากประสบการณ์จริง เกิดการใฝ่รู้ต่อเนื่อง , มีการผสมผสานความรู้ด้านต่างๆ อย่างได้สัดส่วนสมดุลกัน , จัดให้มีบรรยากาศสภาพแวดล้อมและสิ่งที่เอื้ออำนวยแก่การเรียนรู้ และจัดการ เรียนรู้ให้เกิดขึ้นได้ในทุกเวลาทุกสถานที่
 
1.5 การศึกษาคือการค้นพบตนเองและนำทางให้ประสบความสำเร็จได้ตามศักยภาพของตน
การศึกษาจะต้องเป็นกระบวน การของการพัฒนาเพื่อช่วยสร้างความสุขความสำเร็จให้กับคนทุกคนตามศักยภาพของ ตัวเขา การศึกษาที่โหดร้ายก็คือการศึกษาที่สร้างการแข่งขันและพิพากษาให้คนต้อง หดหู่สิ้นหวังจากการสูญเสียความมั่นใจในตนเอง 
 
แนวคิดและวิธีการในการวัด และประเมินผลการศึกษาจำเป็นจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง การศึกษาทุกรูปแบบควรยกเลิกระบบการแข่งขันและพิพากษาผู้เรียน ซึ่งกลายเป็นการกีดกัน สร้างปมด้อยและการสูญเสียความมั่นใจในตนเองให้กับคนจำนวนมากมาย เพียงเพื่อจะคัดคนเก่งทางเทคนิควิชาการจำนวนหนึ่งเข้าสู่ตลาดการจ้างงาน แล้วละเลยศักยภาพด้านอื่นๆ ของคนที่มีความแตกต่างออกไป การวัดและประเมินผลการศึกษาย่อมต้องเป็นไปในทิศ ทางเดียวกันกับปรัชญา รูปแบบ สาระ และวิธีการจัดการเรียนรู้ จึงจะแสดงผลสัมฤทธิ์ที่แท้จริงได้ โดยหันมามุ่งพิจารณาวัดและประเมินผลจาก องค์รวมในคุณลักษณะของผู้เรียน หรือพัฒนาการตามสภาพจริงของตัวผู้เรียนเป็นสำคัญ อย่างสอดคล้องกับรูปแบบ สาระและกระบวนการเรียนรู้ที่จัด และอย่างไม่ยึดติดกับมาตรฐานกลางเพียงมาตรฐานเดียว
 
สอดคล้องตามกำหนดในมาตรา 26 ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ให้สถานศึกษาจัดการประเมินผลผู้เรียนโดยพิจารณาจากพัฒนาการของผู้เรียน ความประพฤติ การสังเกตพฤติกรรมการเรียน การร่วมกิจกรรมและการทดสอบควบคู่ไปในกระบวนการเรียนการสอนตามความเหมาะสมของ แต่ละระดับและรูปแบบการศึกษา รวมทั้งให้สถานศึกษาใช้วิธีการที่หลากหลายในการจัดสรรโอกาสการเข้าศึกษาต่อ โดยให้นำผลการประเมินในทางพัฒนาการของผู้เรียนมาใช้ประกอบการพิจารณาด้วย
 
1.6 การศึกษาเป็นของชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน
การศึกษาจะต้องทำให้คนอยู่ ได้และอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีในท้องถิ่นของตน ผลสำเร็จของการศึกษาที่แท้จริงจะต้องนำไปสู่ความเข้มแข็งของชุมชน-สังคมโดย รวม จากการทำให้การศึกษาเป็นของชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน ตั้งแต่ต้นจนถึงผลสุดท้าย
 
โดยต้องเริ่มต้นจากความ เคารพในภูมิปัญญาดั้งเดิมของชุมชน ในฐานะสมบัติล้ำค่าที่จะช่วยให้เรารู้จักตนเอง มีรากหยั่งลงลึกจนเพียงพ่อต่อการที่จะพุ่งทะยานขึ้นไปอย่างไม่หักโค่นลงมา ง่ายๆ การเรียนรู้ในประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชุมชน ภูมิรู้ภูมิธรรมของชุมชน องค์ความรู้ต่างๆ ที่มีอยู่ในชุมชน ตลอดจนวิถีชีวิตและภาวการณ์ที่เป็นจริงอยู่ในปัจจุบัน เพื่อความภาคภูมิใจและความปักใจที่จะมีส่วนร่วมในชะตากรรมทุกอย่างของบ้าน เกิดเมืองนอนของตน ในนามของหลักสูตรท้องถิ่น เป็นเรื่องพื้นฐานเรื่องแรกที่จะยืนยันได้ถึงการมอบคืนการศึกษาให้กับชุมชน คืนเด็กๆ ลูกหลานให้กับชุมชน
 
พร้อมกันนี้ ในแง่ของการกำกับ ตรวจสอบ ประเมินหรือประกันคุณภาพการศึกษาทั้งภายในภายนอก ก็ไม่ต้องรอให้มีใครที่ไหนที่ไม่รู้จริงมาประเมิน  โดยชุมชนสามารถประเมินได้เอง ประเมินได้ทุกวัน ด้วยเป็นลูกหลานของเขาเองและอยู่ใกล้กันตรงนั้นจะละเลยไปบ้างก็ไม่นาน 
 
สอดคล้องตามกำหนดในมาตรา 8 (2) ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ให้สังคมมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา 
 
มาตรา 9 (6) ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 การมีส่วนร่วมของบุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถานประกอบการ และสถาบันสังคมอื่น
 
มาตรา 12 ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 นอกเหนือจากรัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้บุคคล ครอบครัว องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันสังคมอื่น มีสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน
 
มาตรา 27 และมาตรา 28 ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542  ให้คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนดหลักสูตรแกนกลาง และสถานศึกษาขั้นพื้นฐานจัดทำหลักสูตรในส่วนที่สอดคล้องกับสภาพชุมชนและ สังคม ภูมิปัญญาท้องถิ่น คุณลักษณะอันพึงประสงค์เพื่อเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว ชุมชน สังคมและประเทศชาติ หลักสูตรจะต้องมีลักษณะหลากหลาย จัดตามความเหมาะสมของแต่ละระดับโดยมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคคลให้เหมาะสม แก่วัยและศักยภาพ
 
2. การศึกษาทางเลือกในมิติคุณค่าและความหมายทางปรัชญาการศึกษา
 
2.1 ในมิติของการเปลี่ยนแปลงวิวัฒนาการ
การศึกษาทางเลือกคือการมา ถึงของสิ่งใหม่ คือการริเริ่มสร้างความก้าวหน้าใหม่ๆ เมื่อการศึกษาในกระแสหลักเดิมถูกตั้งคำถามอย่างหนักหน่วง เกิดความล้มเหลว และไม่สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย การศึกษาทางเลือกคือความพยายาม ในการแก้ปัญหาจากการแสวงหานวัตกรรม วิถีทางใหม่ เพื่อนำเสนอทางออกจากวิกฤตการณ์ต่างๆ ให้เกิดการพัฒนาในก้าวต่อไป อันเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ ที่จะต้องมีสิ่งใหม่เข้าแทนที่สิ่งเก่าในลักษณะของวิวัฒนาการ เช่นเดียวกับแนวทางเลือกอื่นๆ เช่น เกษตรกรรมทางเลือก เศรษฐศาสตร์ทางเลือก เทคโนโลยีทางเลือก พลังงานทางเลือก การแพทย์ทางเลือก เป็นต้น
 
2.2 ในมิติของความแตกต่างหลากหลาย
การศึกษาทางเลือกคือการ จัดการศึกษาที่มีความแตกต่างอย่างสำคัญไปจากการศึกษาตามแนวกระแสหลักทั่วไป ความแตกต่างนี้แสดงออกทั้งในทางกระบวนทัศน์หรือปรัชญาความเชื่อ เนื้อหาสาระและกระบวนการเรียนรู้ วิธีการวัดและประเมินผลการศึกษา ตลอดจนการบริหารจัดการศึกษา  การมีอยู่ของศึกษาทางเลือกเป็นการยืนยันว่าการศึกษาไม่ใช่เส้นตรงเพียงเส้น เดียวเฉพาะการศึกษาในระบบกระแสหลัก แต่จะต้องมีทางเลือกของการศึกษาเรียนรู้ที่หลากหลาย ที่ทำให้คนแต่ละคนที่มีความแตกต่างกันโดยธรรมชาติสามารถประสบความสำเร็จได้ ตามธรรมชาติและเต็มศักยภาพของตน ภายใต้ศรัทธาและความเชื่อมั่นในคุณค่าความเป็นมนุษย์ ว่าจะสามารถค้นพบศักยภาพภายในตนได้ในที่สุด แล้วนำมาทำประโยชน์ให้แก่ตนเอง ชุมชน สังคมและโลก
 
2.3 ในมิติของสิทธิเสรีภาพทางการศึกษาของประชาชน
การศึกษาทางเลือกคือความ ศักดิ์สิทธิ์และความชอบธรรมในสิทธิเสรีภาพทางการศึกษาของประชาชน ซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน บุคคลและครอบครัวพึงมีสิทธิที่จะเลือกรับ การศึกษาเรียนรู้ตามปรัชญาความเชื่อ ความต้องการและความจำเป็นตามพื้นฐานแห่งชีวิตของตน ครอบครัว และชุมชน ตราบที่ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีงามของสังคม
 
3.การศึกษาทางเลือกเมื่อเทียบกับรูปแบบการศึกษาในกฎหมายการศึกษาของชาติ
 
3.1 การศึกษาทางเลือกร่วมอยู่ในการศึกษาตลอดชีวิต
ในตลอดเส้นทางของการเรียน รู้ ฝึกฝนและพัฒนา ที่เกิดขึ้นตลอดช่วงชีวิตของบุคคลตั้งแต่เกิดจนตาย เพื่อความเจริญงอกงามเต็มศักยภาพของบุคคลและสังคม ครอบคลุมการเรียนรู้ที่ เกิดขึ้นที่บ้าน สถานศึกษา ที่ทำงาน แหล่งเรียนรู้ ชุมชน สื่อมวลชน ตลอดจนสถานการณ์และกิจกรรมในทุกรูปแบบที่แวดล้อมชีวิตอยู่
 
3.2 การศึกษาทางเลือกสามารถร่วมอยู่ในการศึกษาในระบบ
ในลักษณะที่เป็นนวัตกรรม ของการศึกษาเรียนรู้ที่มีความแตกต่างไปจากหลักเกณฑ์หรือแบบแผนเดิมทั่วไป เพื่อแก้ปัญหาความติดตันของการศึกษาในระบบ และ/หรือเติมเต็มให้การศึกษาในระบบสามารถทำหน้าที่พัฒนาความเป็นมนุษย์ได้ สมบูรณ์ยิ่งขึ้น 

ยกตัวอย่างเช่น การสร้างสรรค์วิถีการเรียนรู้ที่สอดคล้องเหมาะสมกับธรรมชาติในการเรียนรู้ ของมนุษย์อย่างแท้จริงตามแนวปรัชญาใหม่ๆ อย่างซัมเมอร์ฮิล มอนเตสเซอร์รี่ วอลดอร์ฟ วิถีพุทธ พหุปัญญา BBL ฯลฯ , การสร้างสรรค์สาระหลักสูตรท้องถิ่นจากการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อให้รู้จัก รัก และช่วยกันดูแลชุมชน , การออกแบบกระบวนการเรียนรู้ใหม่ให้สามารถตอบสนองและพัฒนาตามศักยภาพของผู้ เรียนอย่างแผนการเรียนรู้รายบุคคลเพื่อเด็กที่มีความต้องการพิเศษ เด็กออกกลางคัน เด็กไร้สัญชาติ เหล่านี้เป็นต้น
 
3.3 การศึกษาทางเลือกมีลักษณะร่วมกับการศึกษานอกระบบ
ตามนิยามที่ให้มีความ ยืดหยุ่นในการกำหนดจุดมุ่งหมาย รูปแบบ วิธีการจัดการศึกษา ระยะเวลาของการจัดการศึกษา การวัดและประเมินผล ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการสำเร็จการศึกษา โดยที่เนื้อหาและหลักสูตรจะต้องมีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพปัญหาและความ ต้องการของบุคคลแต่ละกลุ่ม แต่จะต่างจากการศึกษานอกระบบของ กศน. ตรงที่ไม่เน้นเฉพาะการศึกษาผู้ใหญ่หรือผู้ที่พลาดจากการศึกษาใน ระบบ(ประชากรนอกโรงเรียน) โดยจะรวมกลุ่มเป้าหมายทุกวัยตั้งแต่เด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงวัย รวมทั้งเด็กในวัยเรียนที่ไม่ต้องการเรียนในระบบโรงเรียนปกติ
 
3.4 การศึกษาทางเลือกมีลักษณะร่วมกับการศึกษาตามอัธยาศัย
ตามนิยามที่ให้ผู้เรียนได้ เรียนรู้ด้วยตนเองตามความสนใจ ศักยภาพ ความพร้อมและโอกาส โดยศึกษาจากบุคคล ประสบการณ์ สังคม สภาพแวดล้อม สื่อ หรือแหล่งความรู้อื่นๆ แต่จะต่างตรงที่มีเจตนารมณ์หรือความตั้งใจของการ จัดการศึกษาเรียนรู้ มีกระบวนการเรียนรู้เกิดขึ้น(แม้ไม่มีหลักสูตรชัดเจน) มีการจัดองค์กรในระดับใดระดับหนึ่ง และเป็นการเรียนรู้ทั้งโดยตัวบุคคลและจากกลุ่มเรียนรู้ร่วมกัน อย่างต้องการให้เป็นอีกระบบหรืออีกรูปแบบหนึ่งของการจัดการศึกษาที่มีความ เท่าเทียมกับรูปแบบอื่น ไม่ใช่แค่เรื่องเฉพาะบุคคลที่ตัวใครตัวมันต่างคนต่างสนใจกันไป
 
4. การศึกษาทางเลือกเมื่อพิจารณาจากจุดมุ่งหมายและสถานภาพ
 
4.1 “สถานศึกษาทางเลือก”
หมายถึง การดำเนินงานจัดการศึกษาทางเลือกที่มุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายเด็กในวัยเรียน โดยส่วนใหญ่เป็นการจัดการศึกษาปฐมวัยและการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีความต่อเนื่องและมีแบบแผนในการจัดการศึกษา อย่างต้องการให้มีวุฒิการศึกษารับรองผลสำเร็จของการศึกษาที่มีศักดิ์และ สิทธิ์เท่าเทียมกับการศึกษาในระบบกระแสหลัก
สถานศึกษาทางเลือกในสังคมไทยปัจจุบัน อาจแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่
 
4.1.1 “โรงเรียนทางเลือก” หมายถึง สถานศึกษาที่มีสถานภาพเป็นโรงเรียนตามที่มีกฎหมายรองรับแต่ละประเภท ทั้งที่เป็นโรงเรียนของรัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และที่องค์กรชุมชน/องค์กรเอกชนจัดตั้งขึ้นโดยจดทะเบียนเป็นโรงเรียน เอกชน สิ่งที่บอกถึงความเป็นโรงเรียนทางเลือก พิจารณาจากการที่โรงเรียนเหล่านี้แม้จำเป็นต้องจัดการศึกษาภายใต้หลักสูตร และการกำกับควบคุมเข้มงวดของรัฐ แต่ก็พยายามจัดการศึกษาอย่งมีปรัชญาหรือจุดมุ่งหมายโดยเฉพาะของตน และ/หรือมีการจัดสาระและกระบวนการเรียนรู้ในลักษณะนวัตกรรมที่แตกต่างจาก หลักเกณฑ์หรือแบบแผนในโรงเรียนในระบบกระแสหลักทั่วไป เพื่อให้เป็นไปตามแนว ปรัชญาการศึกษาของตน เติมเต็มความสมบูรณ์ให้แก่การศึกษาในระบบ หรือเพื่อแก้ปัญหาความติดตันของการจัดการศึกษาบางประการที่มีความสำคัญ 
 
4.1.2 “ศูนย์การเรียนขั้นพื้นฐาน” หมายถึง สถานศึกษาที่มีสถานภาพเป็นศูนย์การเรียน ตามมาตรา 18(3) ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฯ ที่ให้บุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบ และสถาบันสังคมอื่น มีสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน บางส่วนสามารถจดทะเบียนเป็นศูนย์การ เรียนอย่างมีกฎกระทรวงรองรับแล้ว ได้แก่ ศูนย์การเรียนของครอบครัวหรือโฮมสคูล ศูนย์การเรียนของสถานประกอบการ และศูนย์การเรียนของสถาบันศาสนา แต่ส่วนใหญ่ที่ดำเนินงานโดยองค์กร ชุมชน/องค์กรเอกชน ยังไม่มีสถานภาพทางกฎหมายที่สมบูรณ์เพราะยังไม่มีกฎกระทรวงมารองรับ โดยหลายแห่งจะใช้ชื่อโรงเรียนหรือศูนย์การเรียนนำหน้าไปก่อน เพื่อบอกจุดมุ่งหมายของความต้องการเป็นสถานศึกษา ยกตัวอย่างเช่น โรงเรียนห้องเรียนต้นรักเพื่อเด็กที่มีความต้องการพิเศษ-กทม. , โรงเรียนเด็กม่อนแสงดาว-เชียงราย , โรงเรียนภูมิปัญญาไทบ้าน-อุบลราชธานี , ศูนย์การเรียนเมล็ดดาวกล่อมฝัน-กาญจนบุรี เป็นต้น
 
4.1.3 “ศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต”
 ยังมีการศึกษาทางเลือกภาคประชาชนอยู่อีกมากที่ต้องการเป็นสถานศึกษาทางเลือก แต่จะไม่จำกัดเฉพาะจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้กับเด็กวัยเรียนเท่านั้น เป้าหมายจริงๆ ต้องการจัดการศึกษาได้กับทุกกลุ่มวัย ในลักษณะที่เป็นสถานศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต มุ่งเรียนรู้ในเชิงปฏิบัติที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาชีวิต/ชุมชนได้จริง หรือมุ่งฟื้นคืนภูมิปัญญาและวิถีชีวิตที่ดีงาม ปัจจุบันมีปัญหาว่ายังไม่มี สถานภาพทางกฎหมายที่ชัดเจนรองรับเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา-เชียงใหม่ , มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน-เชียงใหม่ , มหาวิทยาลัยชาวบ้าน-บุรีรัมย์ , มหาวิชชาลัยศิลปินพื้นบ้านศรีวิชัย-นครศรีธรรมราช , เสมสิกขาลัย-กทม. , โรงเรียนชาวนา-น่าน-สุพรรณบุรี-พะเยา , กลุ่มลิเกพื้นบ้าน-อ่างทอง เป็นต้น ซึ่งไม่เข้าข่ายทั้งโรงเรียนและศูนย์การ เรียน หากยึดตามนิยามตามมาตรา 18(2) และ 18(3) ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฯ จะต้องพิจารณาว่าควรจะแก้ไขหรือเพิ่มเติมในทางกฎหมายอย่างไร เพื่อที่จะรับรองให้ความคุ้มครองและส่งเสริมต่อการจัดการศึกษาทางเลือกของ ประชาชนในกลุ่มนี้

 
4.2 “แหล่งเรียนรู้ทางเลือก”
หมายถึง การดำเนินงานที่มีจุดมุ่งหมายให้ความรู้ ส่งเสริมสนับสนุนเพื่อการศึกษาเรียนรู้ตลอดชีวิต มากกว่าจะเป็นการจัดการศึกษาเพื่อให้ได้วุฒิการศึกษา โดยที่ไม่ได้จัดตั้งและดำเนินงานโดยหน่วยงานของรัฐ แต่เกิดขึ้นและดูแลโดยบุคคล ชุมชน องค์กรและสถาบันทางสังคมต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น หอดูดาวเกิดแก้ว-กาญจนบุรี , พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี บูรณเขต-พิษณุโลก , โรงเรียนวัฒนธรรมพ่อครูพัน-เชียงใหม่ , สถาบันหริภุญไชย-ลำพูน , ห้องสมุดเด็ก สมาคมไทสร้างสรรค์-ขอนแก่น , ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อสังคม มูลนิธิข้าวขวัญ-สุพรรณบุรี เป็นต้น ปัญหาของกลุ่มนี้ก็คือ แม้จะสร้างประโยชน์ช่วยเติมเต็มให้แก่ผู้เรียนของการศึกษาในระบบและผู้สนใจ เป็นอย่างมาก ในฐานะครูภูมิปัญญาช่วยสอนบ้าง บุคลากรและทรัพยากรสนับสนุนการจัดการศึกษาบ้าง แหล่งอบรมเรียนรู้ดูงานบ้าง แต่กลับไม่ได้รับการดูแลสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องที่รับผิด ชอบเท่าที่ควร
 
และทั้งหมดนี้คือนิยามความ หมายของการศึกษาทางเลือก เรียบเรียงจากงานวิจัยเรื่อง “การศึกษาทางเลือกในสังคมไทย ข้อเสนอยุทธศาสตร์เพื่อการขับเคลื่อน” โครงการศึกษาวิจัยการศึกษาทางเลือกเพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะ


ที่มา  :  http://www.radompon.com
          http://ppvoice.thainhf.org

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น