วันอังคารที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

อำนาจ

อำนาจ

แนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับอำนาจ
http://www.idis.ru.ac.th/report/index.php?topic=5923.0;wap2

ความหมายของอำนาจ

           อำนาจ หมายถึง ความสามารถของบุคคลหนึ่งบุคคลใดหรือกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดที่ทำให้บุคคลอื่นหรือกลุ่มอื่นเปลี่ยนแปลงแนวทางปฏิบัติหรือวิถีชีวิตได้ หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ พลังหรือความสามารถที่มีอิทธิพลก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและทัศนคตินั่นเอง (อรุณ รักธรรม, 2539, หน้า 29)

           อำนาจ หมายถึง การที่บุคคลหนึ่งสามารถที่จะทำให้บุคคลอีกบุคคลหนึ่งทำบางสิ่งบางอย่างตามที่ตนเองต้องการ ทั้งนี้ เพื่อให้เป้าหมายที่ตั้งไว้บรรลุผล (จุมพล หนิมพานิช,2547, หน้า 75)

          Blevins (อ้างถึงใน ติน ปรัชญพฤทธิ์, 2544, หน้า 312) ให้ความหมายของอำนาจว่าหมายถึง ความสามารถของบุคคลในการหันเหความคิดเห็นของบุคคล องค์การ หรือสถานการณ์ของบุคคลอื่นให้เบี่ยงเบนไปในทิศทางที่เป็นประโยชน์แก่ตนเอง

          Kanter (1977, p. 166) ให้ความหมายของอำนาจว่า หมายถึง ความสามารถในการระดมทรัพยากรและใช้ทรัพยากรนั้นตามที่ต้องการหรือปรารถนาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้

          Pfeffer (1981, p. 2) กล่าวว่า อำนาจ หมายถึง ความสามารถของบุคคลในการเอาชนะเหนืออุปสรรคเพื่อบรรลุถึงวัตถุประสงค์หรือผลลัพธ์ที่ปรารถนาดังนั้น อำนาจ หมายถึง ความสามารถในการที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งสามารถที่จะทำให้อีกบุคคลหนึ่งกระทำตามสิ่งที่ตนปรารถนาได้ แม้ว่าบุคคลนั้น จะไม่มีความปรารถนาที่จะกระทำตามก็ตาม

คุณลักษณะของอำนาจ

           ความเข้าใจถึงคุณลักษณะที่สำคัญของอำนาจ จะช่วยทำให้สามารถเข้าใจความหมายที่แท้จริงของคำว่า “อำนาจ” ได้ชัดเจนขึ้น ซึ่ง จุมพล หนิมพานิช (2547, หน้า 95-97)กล่าวว่า คุณลักษณะของอำนาจประกอบด้วยลักษณะสำคัญ ๆ ดังนี้

          1. มีความสัมพันธ์ (relation) หมายถึง อำนาจของบุคคลหนึ่งจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อบุคคลมีความสัมพันธ์กันทางสังคม
          2. มีลักษณะของการพึ่งพา (dependence) หมายถึง การที่บุคคลหนึ่งมีอำนาจเหนือบุคคลหนึ่ง เนื่องมาจากการที่บุคคลหนึ่งต้องพึ่งพาอีกบุคคลหนึ่งนั่นเอง
          3. มีลักษณะของความน่าจะเป็น (probability) หมายถึง ความเป็นไปได้หรือความน่าจะเป็นที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งจะปฏิบัติตามผู้ที่ใช้อำนาจ
          4. มีการขยายเขตอำนาจ (power expansion) หมายถึง อำนาจนั้นสามารถเพิ่มหรือขยายได้ เพราะยิ่งมีอำนาจมากก็ยิ่งมีแนวทางที่จะเลือกปฏิบัติได้มากขึ้น
          5. มีระดับหรือขั้นของอำนาจ (degree) ซึ่งสามารถรับรู้ได้โดยบุคคลอื่น
          6. มีการแลกเปลี่ยนหรือมีความสัมพันธ์ระหว่างกัน
          7. มีความเฉพาะเจาะจง (specificity) คือ อำนาจมักเป็นเรื่องเฉพาะเจาะจงต่อประเด็นใดประเด็นหนึ่ง สถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง หรือเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

           เมื่อคนเราได้รับอำนาจและมีการใช้อำนาจนั้น มักจะมองตนเองในทางที่ดีในขณะเดียวกัน จะมองผู้ใต้บังคับบัญชาในเชิงลบ และอาจทำให้ผู้บังคับบัญชามีการตรวจสอบและควบคุมลูกน้องมากขึ้น ลดการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และมีความห่างเหินหรือแปลกแยกทางสังคมเพิ่มขึ้น (Mitchell, Hopper, Daniels, Falvy, & Ferris, 1998,p. 500) ทำเพื่อประโยชน์และสร้างโอกาสให้กับตนเอง จนในบางครั้งอาจทำในสิ่งที่ผิดกฎหมายได้ (Mitchell et al., 1998, p. 513)ประเภทของอำนาจ

           อำนาจมีความสำคัญต่อองค์การและผู้บริหาร เพราะการกระทำหรือการดำเนินการใด ๆ ให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายขององค์การนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับอำนาจเป็นสำคัญ(จุมพล หนิมพานิช, 2547, หน้า 91) แต่อำนาจที่จำเป็นดังกล่าวนั้น จะมีปริมาณเท่าใด23ขึ้นอยู่กับภารกิจหรืองาน ที่ผู้รับผิดชอบจะดำเนินการให้สำเร็จ รวมถึงความชำนาญและทักษะในการใช้อำนาจของผู้นำ ถ้าผู้นำที่มีทักษะและความชำนาญสูง อาจไม่จำเป็นต้องใช้อำนาจมาก ส่วนผู้นำหรือผู้บริหารที่มีทักษะหรือความชำนาญน้อย ความต้องการเรื่องอำนาจ อาจเป็นเรื่องที่จำเป็น ดังนั้น ผู้นำขององค์การควรรู้และเข้าใจในเรื่องของอำนาจตลอดจนต้องเข้าใจคุณลักษณะและแหล่งที่มาของอำนาจด้วย

           Gallagher (1991, p. 28) จำแนกอำนาจออกเป็น 2 ประเภท คือ อำนาจส่วนบุคคล(personal power) และอำนาจทางอาชีพ (professional power) โดยอำนาจส่วนบุคคลเป็นอำนาจที่บุคคลนำเข้ามาสู่ในตำแหน่ง ส่วนอำนาจทางอาชีพเป็นสิ่งที่บุคคลได้รับมาจากการดำรงตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง และเมื่อบุคคลมีอำนาจที่เพิ่มขึ้น หมายความว่า ความรับผิดชอบของบุคคลก็จะสูงขึ้นด้วย ฉะนั้น การใช้อำนาจจึงเกี่ยวพันกับความรับผิดชอบ(responsibility) หากบุคคลมีความรู้สึกมั่นใจในความเป็นอิสระของตนเองและความสามารถของตนเองในการกำหนดทางเลือกที่มีประสิทธิผล บุคคลนั้นก็จะมีการใช้อำนาจอย่างมีความรับผิดชอบ ส่วนคนที่มักใช้อำนาจในทางที่ผิด จะมีความรู้สึกไม่มั่นคงเกี่ยวกับความสำคัญของตนเอง ดังนั้น จึงยังคงใช้อำนาจแบบเดิม ๆ เพื่อแสดงให้เห็นว่า ตนเองเป็นผู้ควบคุมสถานการณ์

           French and Raven (2001, pp. 321-326) กล่าวไว้ว่า อำนาจแบ่งออกเป็น 5 ประเภทคือ (1) อำนาจการให้รางวัล (reward power) ซึ่งหมายถึง ความสามารถของผู้นำในการให้รางวัลที่มีคุณค่าแก่บุคคลอื่น เช่น การขึ้นเงินเดือน เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง การยกย่องการฝึกอบรมพิเศษ และการมอบหมายงานที่ผู้ใต้บังคับบัญชาต้องการ หากผู้บริหารมีการควบคุมการให้รางวัลมาก อำนาจการให้รางวัลของผู้บริหารก็จะยิ่งสูงขึ้น ในทางกลับกันหากผู้ใต้บังคับบัญชารับรู้ว่า ผู้บริหารควบคุมการให้รางวัลได้น้อย ผู้บริหารก็จะมีอำนาจการให้รางวัลน้อย (2) อำนาจการบังคับ (coercive power) เป็นความสามารถของผู้นำที่จะ ตำหนิ ลดตำแหน่ง ไม่ขึ้นเงินเดือน หรือใช้วิธีอย่างอื่นในการลงโทษบุคคล (3) อำนาจตามกฎหมาย (legitimate power) คือ อำนาจหน้าที่ที่เป็นสิทธิตามตำแหน่งขององค์การดังนั้น ผู้บริหารสามารถสั่งการผู้ใต้บังคับบัญชาได้อย่างชอบธรรม (4) อำนาจการอ้างอิง(referent power) คือ ความสามารถของผู้นำที่จะสามารถปลุกเร้าความเคารพ ความชื่นชมและความจงรักภักดี มักเกิดขึ้นจากคุณสมบัติของบุคคลโดยตรง และ (5) อำนาจจากความเชี่ยวชาญ (expert power) คือ ทักษะ ความรู้และประสบการณ์ส่วนบุคคลของผู้นำอำนาจนี้จะเกี่ยวพันกับความสามารถของบุคคลที่จะเข้าถึงหรือใช้ข้อมูลบุคคล ณ ทุกระดับขององค์การ ผู้บริหารจะมีอำนาจความเชี่ยวชาญมากขึ้น เมื่อพนักงานยอมรับความสามารถและความเชี่ยวชาญของพวกเขา อย่างไรก็ตาม ในปี ค.ศ. 2004 Raven ได้ร่วมกับนักวิชาการท่านอื่นคือ Pierro และ Kruglanski เพิ่มประเภทของอำนาจขึ้นมาอีกหนึ่งประเภท คืออำนาจทางข้อมูล (informational power) คือ ความสามารถของผู้นำที่จะเข้าหาข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับการดำเนินงานและแผนงานของหน่วยงานหรือองค์การ สมาชิกขององค์การและสภาพแวดล้อมภายนอก เมื่อผู้บริหารมีตำแหน่งงานสูงขึ้น สามารถจะหาข้อมูลสำคัญได้มากขึ้น (สมยศ นาวีการ, 2546, หน้า 244)จุมพล หนิมพานิช (2547, หน้า 97-102) กล่าวว่า โดยทั่วไปแล้วอำนาจทางการเมืองจะมาจากอำนาจประเภทต่าง ๆ ดังนี้ 
            1. อำนาจหน้าที่ (authority) หรืออำนาจตามกฎหมาย (legitimate power) เป็นอำนาจที่เกิดจากกฎเกณฑ์ ข้อบังคับ กฎหมาย สถาบัน ขนบธรรมเนียมประเพณี ค่านิยมหรือวัฒนธรรม เป็นอำนาจที่บุคคลส่วนใหญ่ยอมรับ เป็นอำนาจที่ขึ้นอยู่กับตำแหน่งเป็นสำคัญ แต่การที่ผู้บริหารจะได้มาซึ่งอำนาจตามตำแหน่งได้นั้น ผู้บริหารควรดำเนินการดังนี้ (1) เพิ่มบทบาทในงานที่รับผิดชอบตรงส่วนกลางให้มากขึ้น คือ ต้องให้ความสำคัญกับบทบาทส่วนกลางตามการไหลของงาน (workflow) และต้องมีโอกาสในการกลั่นกรองข้อมูล (2) เพิ่มการพินิจพิจารณาหรือการไตร่ตรองส่วนตัว พยายามขยายงานให้มีลักษณะหลากหลาย (3) สร้างงานที่มีความยุ่งยากโดยการทำให้การบรรยายลักษณะงานมีความคลุมเครือ (ambiguous) (4) เพิ่มวิสัยทัศน์ในงานที่รับผิดชอบโดยการติดต่อกับบุคลากรที่มีอาวุโสให้มากขึ้น มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา และเผยแพร่ความสำเร็จภายในองค์การเพื่อแสวงหาการยอมรับและ (5) เพิ่มความเกี่ยวข้องระหว่างงานอื่นกับงานที่ตนรับผิดชอบ

            2. อำนาจบังคับ (coercive power) เป็นอำนาจที่เกิดจากกำลัง ไม่ว่าจะเป็นกำลังกายกำลังอาวุธ หรือกำลังทางใจ เป็นการใช้กำลังบีบคั้นให้ผู้อื่นยอมตามหรือหวาดกลัวอย่างไรก็ตาม อำนาจประเภทนี้จะพบน้อยมากในองค์การ เนื่องจากเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย เป็นอำนาจที่พึงประสงค์น้อยที่สุด

            3. อำนาจในการให้รางวัลหรือลงโทษ (reward and punishment power) ต้นกำเนิดของอำนาจประเภทนี้มาจากทรัพยากร สิทธิพิเศษ เงิน ความสะดวกสบาย ผู้ที่อยู่ในตำแหน่งนั้น สามารถให้ประโยชน์หรือความดีความชอบแก่บุคคลอื่นได้ อำนาจประเภทนี้ถือว่าเป็นแหล่งอำนาจที่มีประสิทธิผลมากที่สุด เนื่องจากคนที่เกี่ยวข้องยินดี ที่จะปฏิบัติตามมากที่สุด

            4. อำนาจอ้างอิง (referent power) หมายถึง อำนาจที่ขึ้นอยู่กับบุคลิกลักษณะส่วนบุคคล เช่น การเป็นคนที่มีเสน่ห์ดึงดูด มีลักษณะพิเศษ (charisma) เป็นที่รู้จักชอบพอของคนอื่นในองค์การ เป็นต้น

            5. อำนาจในฐานะผู้เชี่ยวชาญ (expert power) เป็นความสามารถที่เกิดจากความรู้คุณวุฒิ และความเชี่ยวชาญ เป็นอำนาจที่เกิดจากการเรียนรู้ การศึกษา การอบรมและประสบการณ์ในการทำงาน จากการพิจารณาการจำแนกประเภทของอำนาจตามความคิดเห็นของนักวิชาการแต่ละท่าน พบว่า มีลักษณะที่คล้ายคลึงกันแต่อาจมีความแตกต่างกันในเรื่องของการใช้ศัพท์และขอบเขตของการแบ่งแยกประเภท

แหล่งที่มาของอำนาจและการใช้อำนาจ
             เมื่อกล่าวถึงคำว่า “อำนาจ” คำถามที่จะเกิดขึ้นตามมา คือ อำนาจมีแหล่งที่มาอย่างไรอะไรเป็นสิ่งที่ทำให้บุคคลมีอำนาจ ซึ่งตามทัศนะของ Morgan (1986, pp. 158-185)จำแนกแหล่งที่มาของอำนาจในองค์การออกเป็น 14 ประเภท แต่ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะที่สำคัญ 5 ประเภท ดังนี้

             1. แหล่งอำนาจที่มาจากอำนาจหน้าที่ที่เป็นทางการ (formal authority as a source of power) เป็นรูปแบบของอำนาจที่ถูกต้องตามกฎหมายซึ่งเป็นที่เคารพ ยอมรับ และรับรู้ได้โดยบุคคลอื่น ๆ ที่มีปฏิสัมพันธ์ด้วย
             2. แหล่งอำนาจที่มาจากการควบคุมข้อมูลและความรู้ (control of information and knowledge as a source of power) นักการเมืองในองค์การที่มีความเชี่ยวชาญมักใช้เครื่องมือนี้ ในการเปิดหรือปิดช่องทางการสื่อสาร การกลั่นกรอง สรุป วิเคราะห์และกำหนดรูปร่างของความรู้ให้เป็นไปในทิศทางที่ตนเองปรารถนา
             3. แหล่งที่มาของอำนาจจากการควบคุมเทคโนโลยี (control of technology as asource of power) ทั้งนี้ เนื่องจากเทคโนโลยีช่วยให้ผู้ที่ใช้สามารถสร้างสรรค์ผลงานที่น่าทึ่งในกิจกรรมการผลิต และยังช่วยให้สามารถควบคุมอำนาจในการผลิตดังกล่าว และใช้อำนาจเพื่อให้ได้ผลประโยชน์ตามที่มุ่งหวัง ดังนั้น เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีดุลของอำนาจก็จะเปลี่ยนแปลงไปด้วย
             4. แหล่งที่มาของอำนาจจากบทบาทของเครือข่ายที่ไม่เป็นทางการ (the role of informal network as a source of power) ชีวิตและความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในองค์การขนาดใหญ่จะถูกครอบงำโดยประเพณี ความเชื่อ ค่านิยม ปทัสถาน ซึ่งบางครั้งจะให้ความสำคัญกับเพศชายมากกว่าเพศหญิง ดังนั้น ลักษณะความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นทางการดังกล่าว จึงเป็นแหล่งที่มาของอำนาจของเพศชาย ในขณะที่เพศหญิงถูกกันออกมาจากเครือข่ายที่ไม่เป็นทางการดังกล่าว ซึ่งจากการศึกษาของ Krackhardt (1990, p. 349) พบว่าเครือข่ายที่ไม่เป็นทางการมีความสัมพันธ์กับอำนาจอย่างชัดเจน
             5. อำนาจที่มาจากสัญลักษณ์ (symbol as a source of power) หมายถึง ลักษณะทางกายภาพ สิ่งที่ปรากฏภายนอก รวมถึงลักษณะของพฤติกรรม เช่น การมาถึงที่ประชุมช้าเป็นต้น

การใช้อำนาจ

             แนวทางการใช้อำนาจตามทัศนะของ Yukl, Falbe, and Youn (1993, p. 7) ซึ่งเป็นนักวิชาการด้านการเมืองในองค์การ กล่าวว่า มีกลยุทธ์ในการใช้อำนาจที่สำคัญ 9 แนวทางคือ (1) การจูงใจด้วยเหตุผล (rational persuasion) (2) การสร้างแรงจูงใจ (inspirationalappeals) (3) การให้คำปรึกษา (consultation) (4) การประจบประแจง (ingratiation)(5) การใช้แรงดึงดูดส่วนบุคคล(personal appeals) (6) การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน (exchange) (7) การสร้างพันธมิตร (coalition tactics) ( 8 ) การใช้กลยุทธ์ทางด้านความชอบธรรม (legitimating tactics) และ (10) การใช้การกดดัน (pressure) ซึ่งจากการศึกษาของ Yukl, Guinan, and Sottolano (1995, pp. 294-295) พบว่า การใช้อำนาจนั้นจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของผู้ใช้อำนาจเป็นหลัก ส่วนกลยุทธ์ที่มีการใช้บ่อยที่สุดอาจไม่ใช่กลยุทธ์ที่มีประสิทธิผลสูงสุดก็ได้ การใช้อำนาจด้วยกลยุทธ์ต่าง ๆ ที่กล่าวมานั้น อำนาจการให้รางวัลเป็นอำนาจที่ใช้ง่ายที่สุด ผู้บริหารสามารถเพิ่มอำนาจการให้รางวัลได้ โดยต้องมีการตรวจสอบการปฏิบัติตามก่อนที่จะให้รางวัล คำสั่งที่ใช้ต้องมีเหตุผลและมีความเป็นไปได้ และต้องสามารถสร้างความมั่นใจแก่ผู้ใต้บังคับบัญชาว่าผู้บริหารสามารถให้รางวัลได้จริง ๆ

             การใช้อำนาจบังคับ เป็นการใช้อำนาจที่ยากที่สุด เนื่องจากการใช้อำนาจประเภทนี้จะก่อให้เกิดความไม่พอใจ ดังนั้น ไม่ควรใช้อำนาจประเภทนี้บ่อยเกินไป ยิ่งหากการใช้อำนาจบังคับเป็นไปในวิถีทางที่เป็นศัตรูหรือมีลักษณะเจ้าเล่ห์เพทุบาย ก็มีโอกาสที่จะได้รับการต่อต้านมาก ดังนั้น ผู้ใต้บังคับบัญชาควรได้รับรู้เกี่ยวกับกฎและโทษของการละเมิดกฎอย่างถ่องแท้ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันการละเมิดกฎโดยไม่ได้ตั้งใจ
การใช้อำนาจตามกฎหมาย การใช้อำนาจประเภทนี้ผู้นำควรระมัดระวังการใช้คำสั่งที่สุภาพและจริงใจ คำสั่งควรมีความชอบธรรม มีการใช้ช่องทางการสั่งการที่เหมาะสมหากมีการใช้อำนาจประเภทนี้อยู่เป็นประจำ จะช่วยเสริมแรงการคงอยู่ของอำนาจและความชอบธรรมของอำนาจตามสายตาของผู้ใต้บังคับบัญชา และที่สำคัญการใช้อำนาจประเภทนี้ควรพยายามตอบสนองต่อปัญหาของผู้ใต้บังคับบัญชาด้วยการใช้อำนาจการอ้างอิง มีแนวทางสำคัญคือการเลือกผู้ใต้บังคับบัญชาที่มีภูมิหลังคล้ายกันกับผู้บริหารเอง เช่น จบการศึกษาจากสถาบันเดียวกัน นอกจากนั้น การจำลองบทบาทหรือการปฏิบัติในลักษณะเดียวกันกับที่ผู้บริหารต้องการให้พนักงานปฏิบัติผู้ใต้บังคับบัญชาก็จะมีความผูกพันกับผู้นำที่มีอำนาจอ้างอิง และในที่สุดก็จะปฏิบัติตาม
พฤติกรรมของผู้นำในภายหลังได้

             การใช้อำนาจจากความเชี่ยวชาญ ผู้บริหารสามารถส่งเสริมภาพพจน์ของความเชี่ยวชาญ โดยการทำให้บุคคลรู้ถึงการศึกษา ประสบการณ์และความสำเร็จของผู้บริหารอย่างฉลาด เพื่อที่จะรักษาความเชื่อถือเอาไว้ ต้องเชื่อมั่นและกล้าตัดสินใจ แต่ไม่ควรโอ้อวดว่าตนเองรู้ทุกอย่าง นอกจากนั้น ต้องคำนึงถึงความรู้สึกของพนักงานหรือผู้ใต้บังคับบัญชาด้วย

ความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจและการเมืองในองค์การ
           เมื่อกล่าวถึงการเมืองย่อมนึกถึงคำว่า “อำนาจ” ซึ่งมักเกิดขึ้นจากลักษณะทางโครงสร้างขององค์การและความสัมพันธ์ทางสังคมที่มีอยู่ในองค์การ (Tsivacou, 1997,p. 21) นักวิชาการบางท่านมองว่า อำนาจ หมายถึง ศักยภาพในการมีอิทธิพลเหนือบุคคลอื่นเช่น ความสามารถของนาย ก. ที่มีอิทธิพลเหนือนาย ข. เป็นต้น (Ratzburg, 2006b)ในขณะที่การเมืองในองค์การคือการใช้อำนาจเพื่อมีอิทธิพลเหนือกระบวนการตัดสินใจให้ได้ผลลัพธ์ตามที่ผู้มีอำนาจปรารถนา รวมถึงกระบวนการรวมกลุ่มเพื่อควบคุมสถานการณ์ให้ได้ผลลัพธ์ในทางบวกแก่กลุ่มตน (Kacmar & Ferris, 1993, p. 70) หรือเป็นการต่อรองในเกมทางการเมืองระหว่างบุคคลที่อยู่ในตำแหน่งต่าง ๆ ขององค์การ(Mazzolini, 1980, p. 48) ดังนั้น “อำนาจ” และ “การเมือง” จึงเป็นคำที่มีความหมายแตกต่างกัน (Bader, 1991, p. 24) เนื่องจากการเมืองในองค์การเป็นการแสดงพฤติกรรมเชิงกลยุทธ์ในกระบวนการมีอิทธิพลทางสังคม เพื่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดแก่ตนเองทั้งในระยะสั้นและระยะยาว (Parker, Dipboye, & Jackson, 1995, p. 891) โดยที่สถานะของพนักงานหรือคนในองค์การเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บุคคลมีอำนาจทางการเมืองในองค์การ (Cobb as cited in Drory, 1993, p. 68) ตลอดจนพฤติกรรมที่ต่างคนต่างมุ่งไปสู่ความคิดและเป้าประสงค์ของตนเองและพรรคพวก จึงก่อให้เกิดการเมืองในองค์การฉะนั้น ผู้บริหารควรให้ความสนใจกับบรรยากาศการทำงานระหว่างพนักงานในองค์การ30(Gallagher, 1991, p. 28) และควรตระหนักว่าการใช้อำนาจไม่ได้เป็นสิ่งที่เลวร้ายเสมอไป แต่ความจริงแล้วในหลาย ๆ ครั้ง ก็เป็นประโยชน์ต่อทั้งองค์การและสมาชิกขององค์การ(Cherrington, 2002, p. 382) ดังนั้น อำนาจก็คือความสามารถในการทำให้สิ่งต่าง ๆเกิดขึ้นนั่นเอง

          หากยอมรับว่า อำนาจเป็นสิ่งที่ปรากฏหรือมีอยู่ในองค์การ ดังนั้น การเมืองก็เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในชีวิตขององค์การ เป็นความจริงของชีวิตในองค์การ (Robbins,2003, p. 375) ดังที่ Pfeffer (1981, pp. 6-7) กล่าวไว้ว่า การเมืองเป็นส่วนที่เป็นธรรมชาติและแผ่ซ่านไปทั่วองค์การ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการได้มาหรือการใช้อำนาจ ตลอดจนการพัฒนาอำนาจของตนเอง เพื่อให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่ปรารถนา ดังนั้น อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า องค์การ คือ สนามแข่งขันทางการเมือง (political arena) และระดับของการดำเนินการทางการเมืองในองค์การนั้น ขึ้นอยู่กับระดับของการเปลี่ยนแปลงองค์การที่ผู้บริหารต้องการให้เป็น (Kumar & Thibodeaux as cited in Clement, 1994, p. 37)ในขณะที่ Prasad (1993, p. 35) กล่าวว่า การเล่นการเมืองเป็นทางเลือกหนึ่งของปัจเจกบุคคลที่ต้องการมีอิทธิพลเหนือการตัดสินใจ ด้วยเหตุนี้ การตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆโดยเฉพาะการจัดสรรทรัพยากรในองค์การ การเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง ต่างก็ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมทางการเมืองของบุคคลนั้น ๆ (Buhler, 1994, p. 26) ดังนั้น คนที่ละเลยหรือไม่สนใจความจริงของชีวิตในองค์การดังกล่าวข้างต้น ย่อมทำให้บุคคลนั้นตกอยู่ในอันตรายได้ (Robbins, 2003, p. 375)

          อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า การที่คนมาอยู่รวมกัน ย่อมมีความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลดังนั้น จึงหลีกหนีไม่พ้นเรื่องของการใช้อำนาจ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ความพยายามทำให้คนอื่นทำในสิ่งที่เราต้องการ (Mitchell & Larson, 1987, p. 336) เพราะแต่ละคนต่างก็มุ่งหวังที่จะได้รับรางวัลตอบแทน หรือความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ถึงแม้ว่าองค์การจะมีลักษณะของความเป็นทางการที่ออกแบบมา เพื่อควบคุมการใช้อำนาจของคนหรือกลุ่มคนแล้วก็ตาม คนหรือกลุ่มคนในองค์การ ยังสามารถใช้อำนาจทางการเมืองหรือเล่นเกมการเมือง เพื่อมีอิทธิพลเหนือผู้ใต้บังคับบัญชา กลุ่มผู้บังคับบัญชาหรือแม้แต่บุคคลอื่น (Schein as cited in Cavanagh, Moberg, & Velasquez, 1981, p. 364) ซึ่งการใช้อำนาจดังกล่าวเรียกว่า การเมืองในองค์การ ดังนั้น การเมืองในองค์การก็คือ การใช้อำนาจในทางปฏิบัตินั่นเอง ดังนั้น คนที่มีทักษะทางการเมืองสูงย่อมสามารถใช้ฐานอำนาจที่มีอยู่ของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ (Robbins, 2003, p. 374)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น