วันพฤหัสบดีที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ทิศทางหลักเกณฑ์คัด ผอ.โรงเรียน



วันนี้( 17 ก.พ.) นายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ เลขาธิการคณะกรรมการการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เปิดเผยว่า ตามที่ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ได้มอบให้สำนักงานก.ค.ศ. ไปปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการเข้าสู่ตำแหน่งของรองผู้อำนวยการ(รองผอ.)สถาน ศึกษาและผู้อำนวยการ(ผอ.)สถานศึกษาใหม่นั้น เมื่อเร็ว ๆ นี้ตนได้เสนอร่างหลักเกณฑ์การสรรหาบุคคลเพื่อบรรจุแต่งตั้งในตำแหน่งดัง กล่าว ให้รมว.ศึกษาธิการ พิจารณา ว่าสอดคล้องกับนโยบายที่มอบหมายมาหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมาพล.อ.ดาว์พงษ์ เห็นว่า หลักเกณฑ์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ดูจากวุฒิการศึกษา และการสอบข้อเขียน ซึ่งยังไม่เพียงพอ และอยากให้เกณฑ์การประเมินใหม่มีมากกว่าการสอบ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาว่า ผู้บริหารสถานศึกษาประสบการณ์ไม่พอ ใครทำข้อสอบได้ ก็ได้เลื่อนตำแหน่งเร็ว และบางคนไม่เคยมีประสบการณ์เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนเล็กมาก่อน ทำข้อสอบได้ ก็ข้ามไปเป็น ผู้อำนวยการโรงเรียนขนาดใหญ่เลย
“หลักเกณฑ์ปัจจุบันกำหนดคุณสมบัติ เฉพาะตำแหน่งสำหรับการเข้าสู่ตำแหน่งผอ.สถานศึกษา เปิดกว้างให้ครูที่มีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าครูชำนาญการ สามารถสอบเป็นผอ.สถานศึกษาได้ ซึ่งเท่ากับว่า หากจบปริญญาตรี เมื่อเป็นครูผู้ช่วย 2 ปี ได้เป็นตำแหน่งครูและทำงานอีก 6 ปี หากผ่านการประเมินก็ได้วิทยฐานะชำนาญการ รวม 8 ปีก็สามารถสอบเป็นผอ.สถานศึกษาได้ แต่หากจบปริญญาโท จะใช้เวลารวมเพียง 6 ปี หากจบปริญญาเอก ก็จะใช้เวลารวมเพียง 4 ปีเท่นนั้น ก็สามารถสอบเป็นผอ.สถานศึกษาได้ ทำเกิดปัญหา ไม่มีประสบการณ์ในการบริหารงาน เพราะคนที่อยากขึ้นเป็นผู้บริหารบางคน ก็มุ่งเอาแต่เรียนอย่างเดียว เพื่อให้สอบได้
โดยร่างหลักเกณฑ์คุณสมบัติใหม่ ที่เสนอให้รมว.ศึกษาธิการ พิจารณา จะกำหนดว่า ผู้ ที่จะเข้าสู่ตำแหน่งผอ.สถานศึกษา จะไม่ใช้วิธี การสอบข้อเขียนอย่างเดียว แต่จะต้องพิจารณาประสบการณ์ด้านบริหารประกอบด้วย และระบุชัดเจนว่า ต้องอยู่ในตำแหน่งครูมาแล้วกี่ปี เช่นเส้นทางแรกต้องเป็นครูมาแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ปี มีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าชำนาญการ และไม่ใช่เป็นครูอย่างเดียว ต้องผ่านงานบริหาร อาทิ เป็นหัวหน้าหมวดวิชา เป็นต้น หรือเส้นทางที่สองคือ ต้องผ่านตำแหน่งรองผอ.สถานศึกษามาไม่น้อยกว่า 2 ปี โดยในส่วนของการเข้าสู่ตำแหน่งรองผอ. จะกำหนดว่า ต้องอยู่ในตำแหน่งครู มาแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ปี เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ที่จูงใจ ให้ครูเลือกผ่านเส้นทางการเป็นรองผอ.สถานศึกษา มาก่อน เพราะจะสามารถประหยัดเวลาได้ถึง 3 ปีและยังมีประสบการณ์ด้านบริหารด้วย ทั้งนี้หากรมว.ศึกษาธิการ เห็นชอบก็จะต้องเสนอเข้าสู่การพิจารณาของก.ค.ศ. ต่อไป ” นายพินิจศักดิ์กล่าว
เลขาธิการก.ค.ศ. กล่าวต่อไปว่า ส่วนกรณีที่พล.อ.ดาว์พงษ์ ต้องการให้ผู้ที่จะเป็นผอ.สถานศึกษาขนาดใหญ่ ต้องเคยผ่านการบริหารโรงเรียนขนาดเล็กมาก่อนนั้น เนื่องจากขณะนี้การระบุตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา มีเพียงชื่อเรียกเดียว คือ ผู้อำนวยการเหมือกันหมดทุกขนาด โดยไม่แยกเป็นขนาด เหมือนในอดีต ที่โรงเรียนขนาดเล็ก จะเรียก ครูใหญ่ ขนาดกลาง เรียกอาจารย์ใหญ่ และขนาดใหญ่ เรียก ผู้อำนวยการ ซึ่งเรื่องนี้สำนักงานก.ค.ศ. จะต้องหารือกันต่อไป หากเรื่องใดสามารถดำเนินการตามกรอบก็จะทำ แต่ จำเป็นต้องปรับปรับแก้ไขกฎหมาย ก็จะเสนอให้คณะกรรมการก.ค.ศ. พิจารณา

ที่มา หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2559

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น