วันอังคารที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

การระดมสมอง

การระดมสมอง


การระดมพลังสมอง  คือ การเสนอวิธีการแก้ไขปัญหา หรือเสนอความคิดเห็นของสมาชิกในกลุ่มโดยวิธีคิดแบบปัจจุบันทันด่วน เท่าที่ความคิดของสมาชิกคนใดคนหนึ่งจะคิดขึ้นมาได้ในขณะนั้น ไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์ มีแต่เสนอขึ้นมาเท่านั้น คำเสนอจะถูกบันทึกไว้ (บนกระดานดำ) เพื่อประเมินผลหรือตามมติภายหลัง

ควรใช้เมื่อสมาชิกในกลุ่มรู้จักกันดี มีความรู้ในปัญหานั้นแล้วพอสมควร และบรรยากาศของกลุ่มเอื้ออำนวยให้ทุกคนมีอิสระในการแสดงความคิดเห็นของตนได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องเกรงอกเกรงใจ

ประโยชน์ของการระดมพลังสมอง 

1. ให้โอกาสแสดงความคิดเห็นในปัญหาต่าง ๆ โดยไม่ต้องคอยไตร่ตรอง ไม่มีข้อจำกัดหรือการกีดกันใด ๆ ทั้งสิ้น
2. ได้รับความเห็นหลาย ๆ ด้าน ทำให้กลุ่มมีโอกาสในการพิจารณาเลือกหลายสิ่ง ไม่จำเพาะเจาะจงอยู่ในความคิดเดียวตลอดไป
3. สร้างกลุ่มให้เกิดความคิดใหม่ ๆ ในการสร้างสรรค์และสามารถนำไปใช้เพื่อความก้าวหน้าของกลุ่ม
4. เป็นวิธีที่ให้โอกาสแก่ทุกคนเสนอความคิดเห็นได้ ซึ่งจะช่วยสร้างให้กลุ่มเกิดมีคุณธรรมและเกิดความรักหมู่คณะขึ้น

การจัดเตรียม

1. การจัดกลุ่ม “ระดมพลังสมอง” มีอุปกรณ์สำหรับเขียนเช่น กระดานดำหรือกระดาษติดบอร์ดขนาดใหญ่ มีประธาน และสมาชิกกลุ่ม อาจเลือกสมาชิกคนใดคนหนึ่งเป็นเลขานุการ เพื่อช่วยในการจดบันทึกการประชุมหรือเขียนกระดานดำหรือบอร์ด
2. สมาชิกในกลุ่มมีจำนวนพอสมควร (10-15 คน) และให้เวลาแก่สมาชิกได้คิดชั่วขณะหนึ่งก่อนที่จะเริ่มเปิดแสดงความคิดเห็น 
3. ปัญหาที่จะป้อนให้แก่กลุ่มมีทางออก หรือมีทางเลือกได้หลายนัย หลายด้าน
4. กำหนดเวลาให้แน่นอนว่าจะใช้เวลาเสนอนานเท่าไร จัดสถานที่ให้กลุ่มมีความเป็นกันเอง ตามสบายให้มากที่สุด

วิธีการและขั้นตอน

หน้าที่ของผู้นำ

1. แจ้งปัญหา หรือเรื่องที่ต้องการให้สมาชิกในกลุ่มได้เสนอความคิดเห็นให้ทุกคนทราบ มีคนคอยบันทึกข้อเสนอหรือความเห็นของสมาชิกบนกระดานดำ
2. แจ้งวิธี หรือสิ่งที่สมาชิกในกลุ่มต้องปฏิบัติ เช่น เสนอความคิดสั้น ๆ อย่าให้ยาว จำกัดเวลา (วิธีการนำเสนอมีหลายวิธี, พูด, การเขียน)
3. จัดลำดับก่อนหลังเมื่อมีผู้อยากจะพูดในเวลาเดียวกัน 2 คน และพยายามกระตุ้นให้ทุกคนร่วมเสนอความคิดเห็นอยู่เสมอ
4. สร้างบรรยากาศให้ทุกคนได้ออกความคิดเห็นต่าง ๆ กันให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
5. ประเมินผล หรือสอบคุณค่าของความคิดเห็นต่าง ๆ ที่ได้มาจากกลุ่ม

หน้าที่ของสมาชิกในกลุ่ม

1. พยายามละทิ้งความคิดเก่า ๆ ที่เคยใช้อยู่และพยายามสร้างความคิดใหม่ ๆ ให้มาก
2. พยายามแสดงความคิดเสนอขึ้นมาให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
3. พยายามแสดงความเคารพในความคิดที่ผู้อื่นเสนอ แม้เราจะไม่เห็นด้วยก็ตาม

ข้อควรระวัง

เมื่อเสร็จวิธีแล้วควรเปิดโอกาสให้สมาชิกให้เหตุผลกันเองว่าทำไมให้คำตอบเช่นนั้น แต่อย่าให้การเสนอความเห็นของสมาชิกยืดเยื้อเกินไป ไม่ควรมีการวิจารณ์ความคิดที่สมาชิกเสนอขึ้นมา ก่อนที่จะอธิบายปัญหาให้กระจ่างแจ้งเสียก่อน

เมื่อสิ้นสุดการอธิบายแล้วจึงปิดอภิปรายเพื่อลงมติว่าคำตอบใดเป็นคำตอบที่ดีที่สุด

เทคนิคการสอนแบบระดมพลังสมอง ( Brainstorming ) ในการจัดการเรียนการสอนสามารถนำไปใช้ได้โดยใช้กระบวนการดังกล่าว ดังนี้

ขั้นตอนในการระดมสมอง
1. กำหนดปัญหา
2. แบ่งกลุ่มผู้เรียน และอาจเลือกประธานหรือเลขา เพื่อช่วยในการอภิปรายและบันทึกผล
3. สมาชิกทุกคนในกลุ่มช่วยกันคิดหาคำตอบหรือทางเลือกสำหรับปัญหาที่กำหนดให้มากที่สุดภายในเวลาที่กำหนด โดยปัญหาของแต่ละกลุ่มอาจเป็นปัญหาเดียวกันหรือต่างกันก็ได้
4. คัดเลือกเฉพาะทางเลือกที่น่าจะเป็นไปได้ หรือเหมาะสมที่สุด
5. แต่ละกลุ่มนำเสนอผลงานของตน ( ข้อ 4 และ 5 อาจสลับกันได้ )
6. อภิปรายและสรุปผล

ข้อดีและข้อจำกัด
ข้อดี
1. ฝึกกระบวนการแก้ปัญหาและมีคุณค่ามากที่จะใช้เพื่อแก้ปัญหาหนึ่ง
2. ก่อให้เกิดแรงจูงใจในตัวผู้เรียนสูง และฝึกการยอมรับความเห็นที่แตกต่างกัน
3. ได้คำตอบหรือทางเลือกได้มาก ภายในเวลาอันสั้น
4. ส่งเสริมการร่วมมือกัน
5. ประหยัดค่าใช้จ่ายและการจัดหาสื่อเพิ่มเติมอื่น ๆ

ข้อจำกัด
1. ประเมินผลผู้เรียนแต่ละคนได้ยาก
2. อาจมีนักเรียนส่วนน้อยเพียงไม่กี่คนครอบครองการอภิปรายส่วนใหญ่
3. เสียงมักจะดังรบกวนห้องเรียนข้างเคียง
4. ถ้าผู้จดบันทึกทำงานได้ช้า การคิดอย่างอิสระก็จะช้าและจำกัดตามไปด้วย
5. หัวเรื่องต้องชัดเจน รัดกุม และมีประธานที่มีความสามารถในการดำเนินการและสรุปการอภิปราย ทั้งในกลุ่มย่อย และรวมทั้งชั้น

ที่มา
http://pioneer.netserv.chula.ac.th
http://www.arts.ac.th/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น