วันเสาร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ประเด็นเสนอแนะสำหรับการปรับแก้ไข พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ #1/6



ประเด็นเสนอแนะสำหรับการปรับแก้ไข พรบ.การศึกษาแห่งชาติ: ประเด็นที่ ๑ หลักสูตร
นำเสนอ คณะทำงานยกร่างฯ กมธ.การศึกษาฯ สนช 
ผ่าน ผศ.ดร.สุรวาท ทองบุ ประธานที่ประชุมคณบดีศึกษาศาสตร์ 
โดย ศาสตราจารย์ ดร.ชัยยงค์ พรหมวงศ์
ศาสตราจารย์ ระดับ ๑๑ สาขาการศึกษา
ขอเสนอประเด็นสำหรับแก้ไข พรบ.การศึกษาแห่งชาติ ใน ๖ ประเด็น ดังนี้
ประเด็นที่ ๑ หลักสูตร
สาระสำคัญ นับตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๔๐ เป็นต้นมา หลักสูตรการศึกษาของไทยนำสาระจากตะวันตกมาบรรจุในแบบเรียนภาษาไทย เริ่มจากอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมันและสหรัฐอเมริกา ทำให้เวลาเรียนเนื้อหาสาระที่เป็นของไทย ที่เรียกว่า สาระไทย” (Thai Local Contents) ไม่มีเวลาสอนในหลักสูตร โดยเฉพาะระดับประถมศึกษาที่ควรเน้นทักษชีวพิสัย อาชีวพิสัย จิตพิสัย และทักษพิสัย แต่หลักสูตรไทยไปเน้นวิทยพิสัยหรือพุทธิพิสัยที่เน้นความรู้ความจำ และให้ความสำคัญ การเรียนรู้มากกว่า เรียนคิด เรียนทำ และเรียนแก้ปัญหาดังนั้นจึงควรปรับเปลี่ยนแนวคิดจาก วิชาการและวิชาชีพเป็นวิชาชีพและวิชาการ และปรับจุดเน้นจาก การเรียนรู้” (Learning to Know) เป็น การเรียน” (Learning) โดยไม่เน้นการเรียนเพื่อรู้เพราะ รู้อย่างเดียว หากไม่หัดคิด หัดทำและหัดแก้ จะทำให้ดำรงชีวิตในสังคมไม่ได้ ควรเปลียน คำว่า เรียนรู้” (ซึ่งเป็นภาษาพูด”) ใน พรบ.การศึกษาแห่งชาติ ให้เป็น การเรียนทุกแห่ง เพราะทำให้ครูหลงไปสอนหนังสือและไปสอนความรู้ จนเด็กไทยและคนไทยมีความรู้ท่วมหัวแต่เอาตัวไม่รอด
นอกจากนี้ ต้องให้ความสำคัญของการสอนสาระไทยในระดับประถมศึกษา มากกว่า สาระเทศที่เป็นการสอนความรู้ของตะวันตก แต่ให้นำไปสอนในระดับมัธยมศึกษาแทน
แนวทางปรับ พรบ. ควรปรับปรุงมาตรา ๒๗ ดังนี้
มาตรา ๒๗ ให้คณะกรรมการการประถมศึกษา และให้คณะกรรมการการมัธยมศึกษา กำหนดหลักสูตรแกนกลางสำหรับการศึกษาประถมศึกษาที่สมดุลของสาระไทยและสาระเทศ โดยเน้นสาระไทยในระดับประถมศึกษาเพื่อพัฒนาความเป็นไทย ความเป็นพลเมืองที่ดีของชาติ ทักษะการดำรงชีวิต และการประกอบอาชีพ และการศึกษาตลอดชีวิต และสาระเทศในระดับมัธยมศึกษาเพื่อการประกอบอาชีวะ และการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกและดำรงตนอย่างมีความสุขในสังคมโลกาภิวัตน์ ให้สถานศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษามีหน้าที่จัดทำสาระของหลักสูตรตามวัตถุประสงค์ในวรรคหนึ่งในส่วนที่เกี่ยวกับสภาพปัญหาในชุมชนและสังคม ภูมิปัญญาท้องถิ่น คุณลักษณะอันพึงประสงค์เพื่อเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ
มาตรา ๒๘ หลักสูตรการศึกษาระดับต่าง ๆ รวมทั้งหลักสูตรการศึกษาสำหรับบุคคลตามมาตรา๑๐ วรรคสอง วรรคสาม และวรรคสี่ ต้องมีลักษณะหลากหลาย ตามความเหมาะสมของแต่ละระดับโดยมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคคลให้เหมาะสมแก่วัยและศักยภาพ
๑. สาระของหลักสูตร ทั้งที่เป็นวิชาชีพและวิชาการ ต้องมุ่งพัฒนาคนให้เติบใหญ่เป็นคนไทย ให้มีทักษะในการประกอบอาชีพและความสมดุล ด้านความรู้ ความคิด ความสามารถ ความดีงาม และความรับผิดชอบต่อสังคม
๒. สำหรับหลักสูตรการศึกษาระดับอุดมศึกษา ให้เน้นสมดุลของสาระไทยเพื่อฟื้นฟู พัฒนา อนุรักษ์และเผยแพร่ศิลปวิทยา เทคโนโลยี ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม และวิถีไทย และสาระเทศเพื่อให้มีความรู้สากล นอกจากคุณลักษณะในวรรคหนึ่ง และวรรคสองแล้วยังมีความมุ่งหมายเฉพาะที่จะพัฒนาวิชาชีพชั้นสูงและวิชาการระดับสูง ที่เน้นการค้นคว้า วิจัย เพื่อพัฒนาองค์ความรู้และพัฒนาสังคม

ที่มา  โดย ศาสตราจารย์ ดร.ชัยยงค์ พรหมวงศ์
ศาสตราจารย์ ระดับ ๑๑ สาขาการศึกษา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น