วันเสาร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ประเด็นเสนอแนะสำหรับการปรับแก้ไข พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ #2/6

ประเด็นเสนอแนะสำหรับการปรับแก้ไข พรบ.การศึกษาแห่งชาติ: ประเด็นที่ ๒ การบริหารและการจัดการ
นำเสนอ คณะทำงานยกร่างฯ กมธ.การศึกษาฯ สนช 
ผ่าน ผศ.ดร.สุรวาท ทองบุ ประธานที่ประชุมคณบดีศึกษาศาสตร์
โดย ศาสตราจารย์ ดร.ชัยยงค์ พรหมวงศ์
ศาสตราจารย์ ระดับ ๑๑ สาขาการศึกษา
ประเด็นที่ ๒ การบริหารและการจัดการ
สาระสำคัญ ปัจจุบัน โครงสร้างการศึกษาของไทยเปรียบเสมือนโกดังที่มีหลังคา (พรบ.การศึกษาแห่งชาติ) และมีขื่อ (ระบบการศึกษาชาติทีเรียกว่า แผนการศึกษาชาติ) และมีโกดังที่มีแต่หลังคา ทำให้สถานศึกษาระดับอุดมศึกษาส่วนใหญ่ไม่มีหลังคา (กฎหมายรองหรือ Bylaw) และขื่อแป คือ ระบบการศึกษาเป็นของตนเอง ยกเว้นสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาบางกลุ่มที่มี พรบ..เป็นของตนเอง แต่เป็นโกดังที่ไม่มีขื่อ เพราะไม่มีระบบการศึกษาเป็นของตนเองโดยเฉพาะ (ยกเว้น มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ที่มีระบบการศึกษาทางไกล เรียกว่า แผนมสธ.”) นอกนั้นไม่มีสถานศึกษาใดมีระบบการศึกษาเป็นของตนเอง เลย
จึงเห็นควรกำหนดให้องค์กรหลัก องค์กรรอง สถานศึกษาระดับอุดมศึกษาและสถานศึกษามีกฎหมายรอง (Bylaw) มีระบบการศึกษาเฉพาะสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาหรือสถานศึกษา และกำหนดให้จัดทำแผนแม่บทวิชาการ (Academic Master Plan-AMP) เป็นแผนหลักในการบริหารกิจการของสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาหรือสถานศึกษาทุกด้าน ในการสนองตอบการพัฒนาคุณภาพวิชาการของสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาหรือสถานศึกษาให้เป็นไปตามปรัชญา ปณิธาน วิสัยทัศน์ พันธกิจ และเป้าหมาย เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาแผนกลยุทธ์ และแผนปฏิบัติการที่สอดคล้องกับระบบการศึกษาตามกรอบเวลาโดยเสนอสภาสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาหรือสภาสถานศึกษาอนุมัติและประกาศใช้
แนวทางการปรับพรบ. ควรปรับเปลี่ยน ๑ มาตรา คือ มาตรา ๓๒ ดังนี้
ส่วนที่ ๑ การบริหารและการจัดการศึกษาของรัฐ
มาตรา ๓๒ การจัดระเบียบบริหารราชการในกระทรวงให้มีองค์กรหลัก ที่เป็นคณะบุคคลในรูปสภาหรือในรูปคณะกรรมการจานวน ๗ องค์กร ได้แก่ สภาการศึกษา คณะกรรมการการประถมศึกษา คณะกรรมการการมัธยมศึกษา คณะกรรมการการอาชีวศึกษา คณะกรรมการการศึกษาตลอดชีวิต คณะกรรมการการอุดมศึกษา และคณะกรรมการเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา เพื่อพิจารณาให้ความเห็นหรือให้คำแนะนำแก่รัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรี และมีอำนาจหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายกำหนด
(๑) ให้องค์กรหลักและองค์กรรองและสถานศึกษาทุกระดับ มีธรรมนูญองค์กรหลักเพื่อเป็นกฎหมายรอง (Bylaw) เพื่อกำหนดระบบและกลไกการบริหารและการจัดการในส่วนที่กฎหมายหลักมิได้กำหนดหรือไม่มีรายละเอียด ทั้งนี้ต้องไม่ขัดแย้งกับพระราชบัญญัตินี้
(๒) ให้ธรรมนูญองค์กรครอบคลุมบททั่วไป การบริหารทั่วไป การบริหารวิชาการ การบริหารกิจการนักเรียน นิสิตนักศึกษา การบริหารทรัพยากรและงบประมาณ การบริหารกิจการชุมชนและประชาสัมพันธ์ การบริหารวิสาหกิจ วัฒนธรรมองค์กร และระบบการประกันคุณภาพ
(๓) ให้สถานศึกษาระดับอุดมศึกษาและสถานศึกษา พัฒนาระบบการศึกษาของสถานศึกษาระดับอุดมศึกษา หรือสถานศึกษา เพื่อกำหนดองค์ประกอบ ขั้นตอนดำเนินการที่จะประกันคุณภาพการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัย เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการศึกษาชาติซึ่งเป็นระบบการศึกษาชาติ
(๔) ให้สถานศึกษาระดับอุดมศึกษาและสถานศึกษาพัฒนาแผนแม่บทวิชาการ เป็นแผนหลักในการบริหารกิจการของมหาวิทยาลัยทุกด้าน ในการสนองตอบการพัฒนาคุณภาพวิชาการของมหาวิทยาลัยให้เป็นไปตามปรัชญา ปณิธาน วิสัยทัศน์ พันธกิจ และเป้าหมาย เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาแผนกลยุทธ์ และแผนปฏิบัติการที่สอดคล้องกับระบบการศึกษาตามกรอบเวลาโดยเสนอสภาสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาหรือสภาสถานศึกษาเพื่ออนุมัติและประกาศใช้
ให้แผนแม่บทวิชาการ ประกอบด้วย อย่างน้อย 11 องค์ประกอบคือ (1) บทสรุปสำหรับผู้บริหาร (2) เอกลักษณ์สถาบันและอัตลักษณ์บัณฑิต (3) อุดมการณ์ คนอบคลุมปรัชญา ปณิธาน วิสัยทัศน์ และพันธกิจ (4) การวิเคราะห์บริบท หน่วยงาน และชุมชนโดยรอบสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาและสถานศึกษา (5) พัฒนาการของสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาและสถานศึกษา (6) เป้าหมาย/ประเด็นการพัฒนาวิชาการ ยุทธศาสตร์ มาตรการ ตัวบ่งชี้ (7) แผนรับนักศึกษา กลุ่มนักศึกษาเป้าหมายในด้านขอบเขตความครอบคลุมและจำนวน (8) แผนพัฒนาครู อาจารย์และบุคลากรการศึกษาประเภทอื่น (9) การเปิด คณะวิชา หลักสูตร สาขาวิชาในสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาหรือหมวดวิชาและสาระวิชาในสถานศึกษา (10) การขยายโครงสร้างพื้นฐาน เครื่องมือ อุปกรณ์ ในสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาและสถานศึกษา (11) กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ และประกาศที่จำเป็นต่อการพัฒนาวิชาการ และ องค์ประกอบอื่นที่สอดคล้องกับพัฒนาการสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวิทยาการที่เปลี่ยนแปลงไป

ที่มา โดย ศาสตราจารย์ ดร.ชัยยงค์ พรหมวงศ์
ศาสตราจารย์ ระดับ ๑๑ สาขาการศึกษา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น