วันอังคารที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

การชมเชย

การชมเชย
เวลาที่เราในฐานะที่เป็นผู้นำหรือหัวหน้างาน เราทำงานกับลูกน้อง มอบหมายงานให้ลูกน้องทำอยู่เป็นประจำ เคยสังเกตไหมครับว่าเวลาลูกน้องทำงานเสร็จ ถูกต้อง หรือส่งงานให้ตรงเวลา เรากล่าวคำชมเชยลูกน้องทุกครั้งไหม
บางคนอาจจะบอกว่าชมเชยทุกครั้ง  บางคนอาจบอกว่าไม่ค่อยได้พูดชมเชย หรือไม่ค่อยได้ให้กำลังใจลูกน้องเท่าไร บางคนบอกว่าอยู่กันมานานลูกน้องน่าจะรู้ดีว่าหัวหน้าคิดอย่างไง บางครั้งหัวหน้าก็ไม่จำเป็นต้องแสดงออกซะทุกครั้งไป
ถ้าลูกน้องเข้าใจและยอมรับสไตล์หัวหน้าก็ดีไป แต่ส่วนใหญ่ลูกน้องก็มักจะรู้สึกน้อยใจ  เสียใจ มองไปว่าหัวหน้าไม่เห็นความสำคัญ ไม่ค่อยพูดให้กำลังใจ  บางคนถึงขั้นว่าหัวหน้าเป็นคนแล้งน้ำใจ เอาแต่ผลงาน แต่ไม่สนใจความรู้สึกของลูกน้อง
วันนี้ผมมีตัวอย่างผู้นำที่มีศิลปะในการพูดกระตุ้นจูงใจ  และให้กำลังใจลูกน้องได้ดีมาก  นั่นคือ กษัตริย์ อเล็กซานเดอร์ ผู้นำนักรบซึ่งนำพากองทัพของพระองค์ทำศึกสงครามขยายดินแดนจากยุโรปรบจนได้ชัยชนะมาถึงเอเชีย
                ฉากที่เป็นตัวอย่างของการพูดจูงใจลูกน้องได้ทรงพลัง และกินใจมาก คือฉากที่กองทัพขนาดเล็กของพระองค์ กำลังเผชิญหน้ากับกองทัพใหญ่มากของกษัตริย์ในดินแดนอาหรับ ที่มีจำนวนทหารมากกว่า มาก ๆ
เหล่าทหารของอเล็กซานเดอร์เองก็สู้รบมายาวนาน ส่วนหนึ่งก็เสียชีวิตไปในสงคราม ส่วนที่เหลืออยู่ก็มีทั้งที่กำลังใจยังดีอยู่ แต่บางส่วนก็รู้สึกท้อแท้ และเหน็ดเหนื่อยกับการทำสงครามมายาวนาน และไม่มีท่าทีว่าจะจบสิ้นลงเมื่อไหร่
                กษัตริย์อเล็กซานเดอร์รู้และเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างดี พระองค์จึงแสดงภาวะผู้นำออกมาด้วยการพูดสื่อสารกับลูกทีมให้มีขวัญและกำลังใจที่จะต่อสู้เพื่อเอาชนะกองทัพศัตรูให้ได้ และพระองค์ก็ทำได้สำเร็จ
                ผมได้เปิดดูดีวีดีภาพยนตร์เรื่องอเล็กซานเดอร์ เฉพาะฉากนี้ฉากเดียว และตัดตอนคำพูดของพระองค์มาให้พวกเราลองอ่านดู เผื่อจะได้แง่คิดและคำพูดไปใช้กับลูกน้องของตัวเองบ้าง ลองอ่านดูครับ
                กษัตริย์อเล็กซานเดอร์ควบม้าเข้ามา พอถึงบริเวณที่เหล่าทหารยืนเตรียมพร้อมที่จะลุยกับข้าศึกที่อยู่ตรงหน้า พระองค์ก็ทรงพูดทักทายกับทหารฝีมือดีที่เคยมีผลงานโดดเด่นในอดีต  เช่น
คำพูดแรกกับทหารนายหนึ่ง 
“นี่อ็อกโทลีมัส จำได้ว่าท่านโดดจากหอบุกที่ไทม์  ท่านกล้าหาญมาก แล้ววันนี้ล่ะ ท่านจะใช้วิธีไหน ? ”
คำพูดที่สองกับนายทหารอีกคนหนึ่ง 
“เด็ปซิป๊อด ให้ตายสิ ท่านพุ่งทวนได้ไกลแต่ไหนในโอลิมปิคครั้งก่อนนี้ ตอนนี้พอจะพุ่งหอกได้ไกลเท่านั้นไหม ?
คำพูดกับทหารคนที่ 3 
“…และ ทีมานเดอร์ บุตรของมีนานเดอร์ทหารเอกพ่อข้า ข้ายังเศร้าจากการตายของน้องชายท่านแอ็กไดอ๊อส ซึ่งตายอย่างกล้าหาญที่คานีฮานแนกซัส ช่างเป็นครอบครัวที่มีเกียรติอย่างยิ่ง ท่านสู้เพื่อพวกเขาด้วย”
ประโยคสุดท้าย ที่เป็นวรรคทอง พระองค์ทรงพูดกับทหารทุกคนว่า 
“ท่านบางคน..หรือตัวข้าเอง อาจจะไม่ได้เห็นพระอาทิตย์ตกหลังเทือกเขาในวันนี้  แต่ข้าขอบอก  สิ่งที่นักรบรู้มาตลอด ตั้งแต่กาลนานมาแล้ว “เอาชนะความกลัว และข้าสัญญาว่าท่านจะเอาชนะความตายได้”

จากคำพูดของกษัตริย์อเล็กซานเดอร์ข้างต้น ผมขอสรุปเป็นแนวทางสำหรับผู้นำในการพูดชมเชย และกระต้นจูงใจให้ลูกน้องมุ่งมั่นทำงานด้วยความเต็มใจ ได้ 5 ข้อ ดังนี้
1.      การชมเชยลูกน้อง ต้องชมคนที่มีผลงานดีจริง ทำสำเร็จจริง ๆ
2.      ชมเชยอย่างเจาะจง ชัดเจน ว่าชมผลงานอะไร เมื่อไร ที่ไหน
3.      จดจำชื่อ รายละเอียดของลูกน้องแต่ละคนได้ ไม่เฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับตัวลูกน้องเท่านั้น แต่รวมถึงคนในครอบครัวของลูกน้องด้วย
4.      บอกเป้าหมายและความคาดหวังที่หัวหน้าต้องการให้ลูกน้องทราบอย่างชัดเจน
5.      รู้จักเลือกและใช้คำพูดที่ผู้ฟัง ๆ แล้วรู้สึกดี มีกำลังใจฮึกเหิม เช่นประโยควรรคทองข้างต้น แสดงให้เห็นว่าก่อนที่จะสื่อสารอะไรกับลูกน้อง หัวหน้าหรือผู้นำที่ดีก็ควรคิดพิจารณาให้ดีก่อนพูดว่าจะใช้คำพูดอะไร โทนเสียงแบบไหน ไม่ใช่พูดไม่คิด พูดไปเรื่อย ลองนึกภาพดูนะครับว่าเหล่าทหารจะรู้สึกอย่างไงถ้ากษัตริย์อเล็กซานเดอร์ ทรงพูดอีกอย่างว่า “ช่วย ๆ กันหน่อย สู้รบกันเต็มที่นะ เพราะก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าท่าน หรือข้า ที่จะไม่ได้เห็นพระอาทิตย์ตกดินวันนี้” ฟังแล้วคงจะเศร้าและวังเวงพอควร
ถ้าผู้อ่านท่านใดอยากเห็นสีหน้า แววตา ท่าทาง และการใช้โทนเสียงของอเล็กซานเดอร์ ในการพูดชมเชยและกระตุ้นจูงใจเหล่าทหาร แบบชัด ๆ  ผมก็ขอแนะนำให้หาหนังเรื่องนี้มาดูนะ จะได้อรรถรสมากกว่าที่ผมเล่าให้ฟังเยอะเลยครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น