วันอังคารที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

วิจัยเชิงปริมาณ

วิจัยเชิงปริมาณ
                                           
การวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research)
รองศาสตราจารย์ ดร.จริยา   เสถบุตร

ความหมาย
การวิจัยเชิงปริมาณเป็นการแสวงหาความรู้เชิงประจักษ์ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อบรรยายลักษณะ ทำนายความสัมพันธ์ หรืออธิบายความสัมพันธ์เชิงเหตุ-ผล ของปรากฏการณ์ที่ทำการศึกษา โดยมีทฤษฎีหรือกรอบแนวคิดเป็นแนวทางในการดำเนินงานอย่างชัดแจ้ง มีการกำหนดมิติของปรากฏการณ์ รวมทั้งกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการศึกษาอย่างเป็นระบบ สำหรับกระบวนการดำเนินงานนั้นได้อาศัยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ การวัดผลและการวิเคราะห์เชิงสถิติเป็นเครื่องมือเพื่อนำไปสู่ความแม่นยำของผลการวิจัย ซึ่งเน้นการใช้ตัวเลขเป็นหลักฐานสนับสนุนข้อค้นพบและข้อสรุปต่างๆ ในแวดวงทางการศึกษานั้นการตีความหมายของผลการวิจัยเชิงปริมาณมิได้อยู่ในรูปของความร ู้ที่สมบูรณ์ดังเช่นผลลัพธ์ที่ได้จากการแก้ปัญหาโจทย์คณิตศาสตร์ แต่เป็นการประมาณค่าซึ่งมีระดับของความคลาดเคลื่อนเข้ามาเกี่ยวข้อง และอาศัยกฏของความน่าจะเป็นในการอธิบายความ   การดำเนินงานวิจัยเชิงปริมาณนี้มีรากฐานมาจากความเชื่อในแนวคิดเชิงปฏิฐานิยมที่ว่า การแสวงหาความรู้โดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ คือ การสังเกตได้ การสัมผัสได้ การควบคุมองค์ประกอบที่ไม่เกี่ยวข้องออกไปจากการศึกษา รวมทั้งการแปลงคุณสมบัติของสิ่งที่ทำการศึกษาออกมาเป็นตัวเลขอย่างเป็นระบบ และเป็นปรนัย เพื่อนำไปคำนวณหาความแม่นยำในการตอบคำถามนั้น ทำให้ได้ความรู้ซึ่งเป็นที่น่าเชื่อถือ ปลอดจากอคติและค่านิยมของสังคม
ความเป็นมาของการวิจัยเชิงปริมาณ
ประวัติของการวิจัยเชิงปริมาณนั้น เมื่อนับย้อนหลังไปแล้วมีจุดกำเนิดในซีกโลกตะวันตก ตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 17 เมื่อ ฟรานซิส เบคอน (Francis Bacon) ได้พัฒนาวิธีการเชิงอุปมาน (the inductive method) ขึ้นมาเพื่อเป็นแนวทางในการแสวงหาความรู้อีกวิธีหนึ่งนอกเหนือจากวิธีการเชิงอนุมาน (the deductive method) ของอริสโตเติล (Aristotle) และในช่วงเวลาต่อมานักปราชญ์ เช่น เซอร์ ไอแซค นิวตัน (Sir Isaac Newton) กาลิเลโอ (Galileo) และบรรดาสานุศิษย์ก็ได้ผสมผสานกระบวนการของความคิดเชิงอนุมานและอุปมานเข้าด้วยกัน ในแก้ปัญหาหรือแสวงหาความรู้ใหม่ๆ การสังเคราะห์วิธีการให้เหตผลเชิงอนุมานและการสังเกตเชิงอุปมานเข้าด้วยกันเช่นนี้ ทำให้เกิดวิธีการทางวิทยาศาสตร์ (the scientific method) ขึ้นมา วึ่งก็เป็นที่ยอมรับในระยะนั้นว่า เป็นวิธีการที่นำไปใช้ในเชิงปฏิบัติได้ดี และนำมาซึ่งความรู้ที่เชื่อถือได้ อย่างไรก็ดี บุคคลที่ได้รับการยกย่องจากนักปราชญ์ทั่วไปว่าได้นำวิธีการทางวิทยาศาสตร์ไปใช้ในการศึกษา ค้นคว้าอย่างสมบูรณ์แบบก็คือ ชาร์ลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin) จากผลงานที่ชื่อว่า "On the Origin of Spicies" ในปี ค.ศ. 1859 ในการดำเนินงานค้นคว้าดังกล่าวนี้ ดาร์วิน ได้รับแรงบันดาลใจจากข้อเขียนของ โทมัส มาลทัส (Thomas Malthus) เรื่อง "Essay on Popultraion" ซึ่งได้ให้มโนทัศน์เกี่ยวกับการต่อสู่เพื่อความอยู่รอดของสิ่งมีชีวิต และสิ่งนี้ทำให้เขาได้แนวคิดในการสร้างสมมติฐานสำหรับทฤษฎีวิวัฒนาการ และในขณะเดียวกันก้ได้ใช้วิธีเชิงประจักษ์ในการสังเกต รวบรวมข้อมูลและหลักฐานของเรื่องที่ทำการศึกษาเพื่อทดสอบสมมติฐานที่ตั้งไว้
ในช่วงตอนปลายของคริสตศตวรรษที่ 19 บุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานการวิจัยเชิงปริมาณก็คือ เซอร์ ฟรานซิส แกลตัน (Sir Francis Galton) ผู้ซึ่งละทิ้งการศึกษาทางด้านแพทยศาสตร์และคณิตศาสตร์ในมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ หลังจากที่บิดาได้สิ้นชีวิตลงและได้หันเหความสนใจมายังเรื่องสถิติและวิทยาศาสตร์ แกลตันได้ออกท่องเที่ยวไปยังต่างแดนโดยใช้เงินทุนจากกองมรดก และในช่วงเวลาดังกล่าวเขาก็ได้ศึกษาหาความรู้ในด้าน ภูมิศาสตร์ มานุษยวิทยา อุตุนิยมวิทยา จิตวิทยา พันธุศาสตร์ ฯลฯ ไปด้วย ผลงานของดาร์วิน ผู้วึ่งเป็นญาติกับแกลตันทางฝ่ายมารดานับว่ามีอิทธิพลอย่างใหญ่หลวงต่อความคิดของเขา และทำให้เขาทุ่มเทกำลังความคิดและความสามารถในการศึกษาความแตกต่างระหว่างบุคคลโดยเฉพาะเรื่อง พันธุกรรม แกลตันได้อาศัยแนวความคิดของมาลทัส และ ทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วิน เป็นแนวทางในการดำเนินงาน และพร้อมกันนี้ก็ได้ใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์เชิงปฏิฐานิยมของ จอห์น สจ๊วด มิลล์ (John Stuart Mill) ในการจัดกระทำกับข้อมูล นั่นคือ การใช้วิธีการสังเกต การวัดผล และการแปลงค่าการวัดออกมาเป็นตัวเลข ในปี ค.ศ. 1884 เขาได้จัดตั้งห้องปฏิบัติการทางด้านมานุษยมิติ (Anthropometric) ณ กรุงลอนดอน และได้พัฒนาวิธีการเชิงสถิติ เพื่อวิเคราะห์และบรรยายปรากฏการณ์ที่ทำการศึกษาเกี่ยวกับคุณลักษณะทางกายภาพ และทางสติปัญญาของมนุษย์ เช่น วิชาการเชิงสหสัมพันธ์ การวิเคราะห์องค์ประกอบ การคำนวณ ค่าเปอร์เซ็นไทล์ เป็นต้น ผลงานของแกลตันนี้ได้สร้างพื้นฐานการดำเนินงานวิจัยเชิงประจักษ์ และได้ใช้วิธีการเชิงปริมาณเพื่อยืนยันความเชื่อที่ว่า ความแตกต่างระหว่างบุคคลเป็นสิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิดและถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้
ในระหว่างปี ค.ศ. 1891-1894 คาร์ล เพียร์สัน (Karl Pearson) ซึ่งทำหน้าที่สอนคณิตศาสตร์และสถิติในระดับมหาวิทยาลัย ได้พัฒนาดัชนีค่าสถิติเพื่ออธิบายผลการศึกษาเรื่อง พันธุกรรม ของแกลตัน ในลักษณะของค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ ซึ่งต่อมาก็เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายของนักวิจัยเชิงปริมาณ หลังจากนั้นเป็นเวลาประมาณ 10 ปี เพียร์สัน ได้เข้ารับตำแหน่งศาสตรจารย์ทางคณิตศาสตร์ประยุกต์ ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในลอนดอน และได้พัฒนาวิธีการทางสถิติหลายประเภทเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ เช่น ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่า ไค-แสควร์ การถดถอย เป็นต้น  นับได้ว่าเพียร์สัน เป็นบุคคลสำคัญที่ได้ก่อตั้งวิชาสถิติศาสตร์เพื่อใช้ในการวิจัย
พัฒนาการของการใช้วิธีการทางสถิติในการวิจัยเชิงปริมาณ มาถึงจุดเปลี่ยนแปลง เมื่อ เซอร์ โรแนล ฟิชเชอร์ (Sir Ronald Fisher) ได้เริ่มเผยแพร่วิธีการวิเคราะห์ความแปรปรวนเพื่อแยกแยะผลกระทบของการทดลองที่มีสาเหตุต่างกัน และวิธีการออกแบบการทดลอง ฟิชเชอร์จบการศึกษาค้นคว้าดาราศาสตร์ และคณิตศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ในปี ค.ศ. 1912 หลังจากนั้นเป็นเวลา 7 ปี คือในปี ค.ศ. 1919 เขาได้ปฏิเสธงานในตำแหน่งหัวหน้านักสถิติในภาควิชาที่เพียร์สัน เป็นหัวหน้า แต่ไปรับตำแหน่งที่สถานีการทดลองทางเกษตรกรรมซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับกรุงลอนดอน โดยทำหน้าที่ตรวจสอบวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งได้มีการเก็บรวบรวมจากการทดลองในสถานีโดยใช้วิธีการทางสถิติสมัยใหม่ ซึ่งจุดนี้เอง เป็นการเริ่มต้นของการพัฒนารูปแบบการทดลอง เช่น รูปแบบจตุรัส-ลาติน (latin-square design) รูปแบบแฟคตอเรียล (factorial design) รวมทั้งการทดสอบนัยสำคัญทางสถิติ ผลงานที่ดีเด่นของเขาก็คือตำราชื่อ "Statistical Methods for Research Workers" ซึ่งมีบทบาทต่อการดำเนินงานของนักวิจัยเชิงปริมาณมาจนกระทั่งปัจจุบัน
การนำวิธีการทางวิทยาศาสตร์และการดำเนินงานวิจัยเชิงปริมาณเข้ามาเผยแพร่ในวงการศึกษานั้น เท่าที่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัดได้เริ่มขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยที่ เจมส์ แมคคีน แคทเทล (James Mc. Keen Cattel) นักจิตวิทยาผู้ซึ่งไปศึกษาจิตวิทยาเชิงทดลองที่ประเทศเยอรมันกับ วิลเฮล์ม วุนดท์ (Wilhelm Wundt) ได้รับอิทธิพลทางความคิดจาก แกลตัน ได้เริ่มทำการศึกษาเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างบุคคล และในปี ค.ศ. 1890 ได้เสนอบทความที่เลื่องชื่อมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน คือ "Mental Test and Measurement" ซึ่งได้เน้นหนักในเรื่องความสำคัญของการสร้างเครื่องมือที่เป็นมาตรฐาน เพื่อเปรียบเทียบผลการสอบในหมู่ผู้ที่ถูกศึกษา อย่างไรก็ดี การยอมรับวิธีการดังกล่าวเข้ามาใช้ในวงการศึกษานับว่าล่าช้ากว่าสาขาวิชาอื่นๆ ทั้งนี้เนื่องจากปัญหาความซับซ้อนของปรากฏการณ์ที่ทำการศึกษาและปัญหาความล่าช้า ในการพัฒนาเครื่องมือวัดผล ในช่วงต้นของศตวรรษที่ 20 ประมาณปี ค.ศ. 1900-1920 นับว่าเป็นช่วงของการพัฒนาเครื่องมือวัดผลที่เป็นมาตรฐาน ดังนั้น ในการประชุมสภาการศึกษาแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ. 1915 ก็ได้มีการโต้แย้งและอภิปรายในเรื่องความเหมาะสมของการใช้แบบทดสอบมาตรฐานอย่างกว้างขวาง แต่ท้ายสุดบุคคลที่มีชื่อเสียงและมีส่วนร่วมในการพัฒนาแบบทดสอบมาตรฐาน ก็ได้ออกมาชี้แจงในอรรถาธิบายจนกระทั่งเป็นที่เข้าใจทั่วกัน ผลการประชุมครั้งนี้ก็ทำให้เกิด สมาคมการวิจัยทางการศึกษาของอเมริกา (American Educational Research Association) ขึ้นมา โดยที่จุดมุ่งหมายประการหนึ่งของสมาคมนี้ คือ "มุ่งส่งเสริมการใช้วิธีการวัดผลทางการศึกษาให้เกิดประโยชน์เชิงปฏิบัติในการดำเนินงานวิจัย ทางการศึกษาทั้งปวง" และในช่วงเวลาเดียวกันนี้เอง ทอร์นไดด์ ก็ได้ประกาศถ้อยแถลงที่เป็นอมตะสำหรับนักวิจัยเชิงปริมาณจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ นั่นคือ :-
"If a thing exists, it exists in some amount ; if it exists in some amount, it can be measured."
ความหมายของข้อความนี้ในภาษาไทยก็พอจะเทียบเคียงได้ว่า :-
"ถ้าสากสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีปรากฏอยู่แล้ว,   มันก็จะมีปรากฏอยู่เป็นจำนวนใดจำนวนหนึ่ง ; ถ้าหากมันมีปรากฏอยู่เป็นจำนวนใดจำนวนหนึ่งแล้ว, เราก็สามารถวัดมันออกมาได้"
ข้อความนี้ก็ได้จุดประกายความเคลื่อนไหวของวงการวิจัยทางการศึกษา มีการส่งเสริมให้นักวิจัยใช้วิธีการเชิงปริมาณในการรวบรวมข้อมูลทางการศึกษาในแง่มุมต่างๆ อย่างหลากหลาย มีการสร้างเครื่องมือวัดผลที่เป็นมาตรฐานทั้งในส่วนของ สำนักทดสอบและภาคเอกชน และก็ได้มีการจัดพิมพ์เอกสารชื่อ "The Mental Measurement Yearbook" ซึ่งได้รวบรวมคำวิจารณ์เกี่ยวกับแบบทดสอบมาตรฐานที่มีใช้อยู่ในวงการเพื่อเป็นแนวทาง สำหรับผู้ที่จะคัดเลือกไปใช้ในการวิจัย หลังจากนั้นก็มีการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการวิจัยเชิงปริมาณอย่างกว้างขวาง รวมทั้งมีการจัดสอนเป็นกระบวนวิชาในระดับมหาวิทยาลัย สำหรับในเมืองไทยนั้น การถ่ายทอดความรู้ด้านการวิจัยทางการศึกษาในช่วงแรกๆ เมื่อประมาณ 40 กว่าปีที่ผ่านมานี้ ส่วนมากก็ดำเนินการโดยบุคคลที่สำเร็จการศึกษามาจากทางซีกโลกตะวันตก ดังนั้น แนวคิดในการดำเนินงานก็ได้รับอิทธิพลจากบุคคลสำคัญๆ ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น โดยเฉพาะในช่วงที่เริ่มมีการเรียนการสอนกระบวนวิชาดังกล่าว ในระดับมหาวิทยาลัยนั้น สาขาวิชาการวัดผลการศึกษาและสถิติศาสตร์ นับว่ามีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานความรู้ในกระบวนการวิจัยเชิงปริมาณทางการศึกษา
ลักษณะสำคัญของการวิจัยเชิงปริมาณ
การวิจัยเชิงปริมาณได้อาศัยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ วึ่งมีขั้นตอนในการดำเนินงานอย่างเป็นระบบในการแสวงหาคำตอบสำหรับปัญหาที่ได้ตั้งไว้ สำหรับวิธีการทางวิทยาาสตร์นี้ ผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการศึกษาจะสังเกตเห็นได้ว่า ชื่อและรายละเอียดของแต่ละขั้นตอนจะแตกต่างกันไปตามสถานการณ์ที่ทำการศึกษา และสาขาวิชาของผู้ดำเนินงาน วิธีการนี้เมื่อนำมาใช้ในการวิจัยทางการศึกษา จะประกอบด้วยขั้นตอนที่สำคัญๆ 5 ขั้นตอนคือ 1) การกำหนดหัวข้อปัญหา 2) การสร้างสมมติฐาน 3) การใช้เหตุผลเชิงอนุมานเพื่อนำไปสู่นัยเชิงปฏิบัติของสมมติฐานที่ตั้งไว้ 4) การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล และ 5) การยืนยันหรือการไม่ยอมรับสมมติฐานที่ตั้งไว้
การตั้งปัญหาในการวิจัยเชิงปริมาณนั้น จะมีทฤษฎีเป็นแนวทางในการดำเนินงานอย่างแจ่มชัด ตัวอย่างเช่น ในสาขาวิชาการวัดและประเมินผลการศึกษาก็มีทฤษฎีการทดสอบแบบคลาสสิค (The Classical Test Theory) ทฤษฎีคุณลักษณะแฝง (The Latent Trait Theory) หรือทฤษฎีการตอบสนองข้อสอบ (The Item Response Theory) เป็นต้น ในส่วนของตัวแปรที่นำมาศึกษาวิจัยนั้นก็เรียกว่า ตัวแปรเชิงทฤษฎี (theoretical variables) ในกรณีที่แนวคิดของการดำเนินงานยังไม่ถึงขั้นที่เป็นทฤษฎี ผู้วิจัยก็จะมีกรอบแนวคิดเกี่ยวกับมิติของปรากฏการณ์อย่างแน่ชัด รวมทั้งให้นิยามเชิงปฏิบัติที่จะนำไปสู่การวัดผล และการรวบรวมข้อมูล
สำหรับการกำหนดมิติของปรากฏการณ์ หรือตัวแปรที่ทำการศึกษานั้น เนื่องจากนักวิจัยเชิงปริมาณต้องการศึกษาในรายละเอียด และค้นหาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรเหล่านั้นอย่างลึกซึ้ง ในภาคตัดขวางของช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง จึงมีการกำหนดจำนวนมิติของปรากฏการณ์ หรือตัวแปรที่ทำการศึกษาเป็นจำนวนจำกัด รวมทั้งมีการควบคุมตัวแปรที่ไม่ได้เกี่ยวข้องไว้ด้วย โดยมีข้อตกลงเบื้องต้นที่กำหนดว่า องค์ประกอบอื่นๆ ที่นอกเหนือจากการศึกษาวิจัยนั้นเท่าเทียมกัน (ceteris paribus) ซึ่งในสถานการณ์เช่นนี้ บริบทของการดำเนินงานจะจำกัดแวดวง และมุ่งความสนใจเฉพาะปรากฏการณ์ หรือตัวแปรที่ได้กำหนดไว้ในสมมติฐานการวิจัย เพื่อที่นักวิจัยจะได้บ่งชี้และกำหนดความสัมพันธ์นั้นได้อย่างชัดเจน และแม่นยำ นอกเหนือจากข้อตกลงเบื้องต้นเกี่ยวกับการควบคุมตัวแปรแล้ว ก็ยังมีข้อตกลงเบื้องต้น ที่นักวิจัยเชิงปริมาณต้องตระหนักเกี่ยวกับคุณลักษณะของตัวแปรที่ทำการศึกษาอีกด้วย นั่นคือ ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรที่ทำการวิจัยจะต้องเป็นไปในเชิงเส้นตรง และแบบจำลองของการวัดปริมาณจะต้องเป็นแบบจำลองเชิงบวก (additive model) ซึ่งก็หมายความว่าปริมาณของตัวแปรต้น ส่งผลกระทบต่อตัวแปรตามในลักษณะที่นำมาบวกกันได้ในเชิงคณิตศาสตร์
ในการดำเนินงานเชิงปริมาณเพื่อให้ผลงานวิจัยมีความเที่ยงตรง (validity) และเป็นที่มั่นใจว่าผลที่ได้มานั้นมิได้เป็นไปด้วยความบังเอิญ นักวิจัยเชิงปริมาณจะให้ความสำคัญต่อปัจจัย 3 ประการต่อไปนี้ คือ การเลือกกลุ่มตัวอย่าง การใช้เครื่องมือที่มีคุณภาพ และการเลือกรูปแบบการวิจัยที่สมเหตุสมผลกับกระบวนการทดลอง ในการเลือกกลุ่มตัวอย่างนั้นก็จะอาศัยทฤษฎีการเลือกกลุ่มตัวอย่าง (sampling theory) เป็นแนวทางในการคัดเลือกเพื่อให้เป็นตัวแทนของกลุ่มเป้าหมาย โดยมีความคลาดเคลื่อนในการเลือกตัวอย่าง (sampling error) น้อยที่สุด ในด้านเครื่องมือที่ใช้ในการวัดผลนั้นงานวิจัยที่ต้องดำเนินการกับคนหมู่มากเช่นนี้ จำเป็นต้องอาศัยแบบทดสอบ แบบสอบถาม หรือแบบวัดบุคลิกภาพ ช่วยในการรวบรวมข้อมูล ดังนั้นคุณภาพของเครื่องมือในแง่ของค่าสัมประสิทธิ์ความเชื่อมั่น (reliability coefficient) และความถูกต้องในการวัดจะทำให้นักวิจัยในเชิงปริมาณได้ทราบถึงความคลาดเคลื่อนในการวัดผล (error of measurement) และทำให้ทราบว่าเครื่องมือเหล่านั้นได้วัดในมิติที่ต้องการศึกษาอย่างถูกต้องหรือไม่? สำหรับรูปแบบการวิจัย (research design) ซึ่งนักวิจัยคัดเลือกมาเพื่อใช้ควบคุมความแปรปรวนของตัวแปร ในอันที่จะบ่งชี้ว่าตัวแปรต้นมีผลกระทบต่อตัวแปรตามอย่างแท้จริงหรือไม่ ในกระบวนการทดลองก็เป็นปัจจัยพื้นฐานสำหรับนักวิจัยเชิงปริมาณในการให้คำตอบเกี่ยวกับความเที่ยงตรงตาม สภาพภายใน (internal validity) ของการวิจัย และความเกี่ยวเนื่องของปัจจัยทั้ง 3 ประการในกระบวนการทดลอง ก็จะส่งผลกระทบต่อความเที่ยงตรงตามสภาพภายนอก (external validity) ของการวิจัย ซึ่งสำหรับงานวิจัยเชิงปริมาณแล้ว สิ่งนี้ก็หมายความว่า ผลที่ได้จากการทดลองนั้นๆ เป็นจริงเมื่อมีการดำเนินงานทดลองเช่นเดียวกันกับบุคคลอื่นๆ ซึ่งมาจากกลุ่มประชากรเดียวกัน
สำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลของงานวิจัยเชิงปริมาณนั้น ก็มีทั้งการใช้สถิติเชิงบรรยาย เพื่ออธิบายลักษณะของปรากฏการณ์ เช่น ค่าผลรวม ค่าเฉลี่ย ค่าความแปรปรวน ฯลฯ และการใช้สถิติเชิงอ้างอิง เช่น การวิเคราะห์สหสัมพันธ์ การวิเคราะห์การถดถอย การวิเคราะห์ความแปรปรวน ฯลฯ เพื่อประมาณค่าพารามิเตอร์ (parameter) เพื่อนำไปใช้ในการตัดสินใจสรุปอ้างอิงผลของการศึกษาไปยังประชากรที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย และโดยที่การประมาณค่าดังกล่าวนี้ อาศัยกฏของความน่าจะเป็น (The laws of probability) เป็นพื้นฐานในการคำนวณ รวมทั้งมีระดับนัยสำคัญ (the significant level) ซึ่งจะบอกให้ทราบว่าผลที่ได้จากการศึกษานั้นๆ จะเกิดขึ้นโดยบังเอิญกี่ครั้งใน 100 ครั้ง เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย จึงทำให้ผลที่ได้จากการวิเคราะห์ในลักษณะดังกล่าว มิใช่ข้อเท็จจริงที่สมบูรณ์หรือความรู้ที่สมบูรณ์ แต่จะใช้โอกาสของความน่าจะเป็น และความคลาดเคลื่อนเข้ามาร่วมอธิบายความหมายของผลการวิเคราะห์นั้นๆ ด้วย
กล่าวโดยสรุปแล้ว การดำเนินงานวิจัยเชิงปริมาณนั้น มิได้มีเป้าหมายเพื่อแสวงหาความรู้ที่สมบูรณ์ แต่มุ่งหวังที่จะแสวงหาทฤษฎีซึ่งสามารถอธิบาย และทำนายปรากฏการณ์ได้อย่างน่าเชื่อถือ ทฤษฎีที่มีความชัดแจ้ง สามารถทดสอบได้ และทฤษฎีที่ยั่วยุให้นักวิจัยแสวงหาความรู้เพิ่มเติมต่อไปภายหน้า ผลที่ได้จากงานวิจัยประเภทนี้แม้ว่าจะแสดงให้ประจักษ์ในลักษณะที่เป็นภาพนิ่ง ในภาคตัดขวางของเวลาก็ตาม แต่ประโยชน์ที่สำคัญก็คือ ความแม่นยำของผลการวิจัยทางด้านพฤติกรรมศาสตร์ ซึ่งสิ่งนี้ยังคงมีความจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งสำหรับนักการศึกษา ซึ่งมีหน้าที่ที่จะต้องสร้างเครื่องมือเพื่อวัดสมรรถภาพของบุคคลและพัฒนาสื่อการเรียนการสอน เพื่อยังประโยชน์แก่ผู้เรียนในแต่ละระดับ
ขั้นตอนของการวิจัยเชิงปริมาณ
กระบวนการดำเนินงานวิจัยเชิงปริมาณ ประกอบด้วยขั้นตอนที่สำคัญๆ ดังแผนภาพต่อไปนี้ :
แผนภาพแสดงขั้นตอนของกระบวนการดำเนินงานวิจัยเชิงปริมาณ
ประโยชน์ของการวิจัยเชิงปริมาณในวงการศึกษา
เท่าที่ผ่านมาแล้วในอดีต นักการศึกษาได้ใช้วิธีการเชิงปริมาณ ในการวิจัยเพื่อเสริมสร้างความรู้ในการจัดการ และพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างกว้างขวาง ประโยชน์ที่ได้รับจากการวิจัยเชิงปริมาณประเภทต่างๆ นั้น ถ้าหากแยกเป็นหมวดหมู่ใหญ่ๆ ก็จะได้เป็น 3 กลุ่มดังนี้ คือ :-
  • ประโยชน์ที่ได้รับจากการดำเนินงานเชิงสำรวจ (exploratory survey) ทำให้นักการศึกษาทราบสภาพความเป็นไปและปัญหาในการจัดการศึกษาระดับมหภาค และได้ใช้ข้อเท็จจริงที่ได้จากการวิจัยประเภทนี้เป็นพื้นฐานในการตัดสินใจ เพื่อปรับปรุงการดำเนินงาน ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
  • ประโยชน์ที่ได้รับจากการวิจัยเกี่ยวกับปรากฏการณ์ที่ได้เกิดขึ้นไปแล้วก่อนที่จะทำการศึกษา หรือเกี่ยวกับคุณลักษณะที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติของบุคคล (ex post facto research) ทำให้นักการศึกษาเข้าใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในวงการ และเข้าใจพฤติกรรมของบุคคลโดยเฉพาะนักเรียนดีขึ้น งานวิจัยประเภทนี้สามารถตอบคำถามที่เรามักจะถามกันเสมอๆ ว่า "ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ?" ได้อย่างชัดเจน ลักษณะการดำเนินงานเพื่อตอบคำถามข้างต้นก็มีทั้ง การศึกษาเชิงเปรียบเทียบ (comparative study) เกี่ยวกับพฤติกรรมของบุคคลที่มีคุณลักษณะประจำตัวแตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น การเปรียบเทียบความสามารถในการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ของนักเรียนชายและนักเรียนหญิงในระดับ ประถมศึกษา การศึกษาเชิงสหสัมพันธ์ (correlational study) เกี่ยวกับคุณลักษณะด้านต่างๆ และพฤติกรรมที่น่าสนใจของบุคคล เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างความสนใจทางด้านวิทยาศาสตร์ กับทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของนักเรียนในชนบท และการศึกษาเชิงทำนาย (predictive study) เกี่ยวกับพฤติกรรมของบุคคล ซึ่งใช้กันมากในการพยากรณ์ประสิทธิผลของการคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนต่อ หรือคัดเลือกบุคคลเข้าทำงานในหน้าที่ต่างๆ โดยอาศัยข้อมูลจากบุคคลรุ่นก่อนๆ ที่ได้ทำการวิเคราะห์ไว้แล้วเป็นพื้นฐานในการทำนาย ตัวอย่างเช่น การทำนายสัมฤทธิ์ผลในการเรียนของนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาจากคะแนนแบบทดสอบความถนัด การทำนายประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของพนักงานจาคะแนนแบบวัดบุคลิกภาพ เป็นต้น
  • ประโยชน์ที่ได้รับจากการวิจัยเชิงทดลอง (experimental research) เกี่ยวกับเงื่อนไขทางด้านจิตวิทยาที่มีผลกระทบต่อการเรียนรู้ของนักเรียน ก็ทำให้นักการศึกษาทราบความสัมพันธ์เชิง เหตุ-ผล ระหว่างสิ่งเร้าและพฤติกรรมตอบสนองของนักเรียน ซึ่งสิ่งนี้ก็ยังประโยชน์ต่อการเรียนการสอนในชั้นเรียน และการปรับตัวของบุคคล การวิจัยเชิงทดลองเพื่อพัฒนาหลักสูตร หรือเพื่อพัฒนาสื่อการสอนก็ได้ช่วยให้ผู้ที่เป็นครูได้พัฒนาการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ในส่วนของการวิจัยเชิงทดลองเพื่อพัฒนาเครื่องมือวัดผลด้านพุทธิพิสัย จิตพิสัยและทักษะพิสัยนั้นก็นับว่าได้ช่วยบุคลากรในวงการศึกษา ให้สามารถจำแนกบุคคลได้สอดคล้องตามเกณฑ์ที่ต้องการได้อย่างเป็นระบบ และมีขอบเขตของความแม่นยำเป็นพื้นฐานช่วยในการตัดสินใจ
ข้อพึงระวังในการดำเนินงานวิจัยเชิงปริมาณ
ดังได้กล่าวมาแล้วแต่ต้นว่า งานวิจัยเชิงปริมาณในวงการศึกษาส่วนใหญ่ ได้รับอิทธิพลทางความคิดจากผลงานของนักปราชญ์สองท่าน คือ แกลตัน และ ฟิชเชอร์ แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่า การรับเอาแนวคิดและวิธีการต่างๆ มาใช้ในเชิงปฏิบัตินั้นบางครั้งก็ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ในการวิจัยนัก ถ้าหากเราพิจารณาให้ถี่ถ้วนแล้วจะเห็นได้ว่า งานวิจัยของแกลตันเรื่อง "พันธุกรรม" ซึ่งเน้นหนักเกี่ยวกับคุณลักษณะของบุคคลมาตั้งแต่กำเนิดนั้น ไม่ได้ให้ความสำคัญกับบริบททางสังคม และประวัติความเป็นมาของบุคคลที่ถูกศึกษาเท่าใดนัก และการดำเนินงานในช่วงต่อๆ มาของแกลตันเกี่ยวกับการศึกษาด้านพันธุศาสตร์ ก็มุ่งหวังกระทั่งว่า จะพัฒนาเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ให้เป็นเลิศ ฉะนั้นในประเด็นนี้นักวิจัยทางการศึกษาควรจะได้ตระหนักไว้ก่อนที่จะลงมือทำการวิจัยว่า ปรากฏการณ์ที่จะศึกษานั้นมีความซับซ้อน และเกี่ยวโยงกับบริบททางสังคมมากน้อยเพียงใด? คุณสมบัติหรือมิติของตัวแปรที่จะศึกษานั้นสามารถวัดออกมาได้ในเชิงปริมาณหรือไม่? ปริมาณเหล่านี้นำมารวมกันโดยใช้แบบจำลองเชิงบวกได้หรือไม่? และความสัมพันธ์ระหว่างปรากฏการณ์หรือตัวแปรที่ต้องการศึกษานั้นเป็นไปในเชิงเส้นตรงหรือไม่? เมื่อตอบคำถามเหล่านี้ได้แล้ว จึงค่อยตัดสินใจว่า จะใช้วิธีการเชิงปริมาณตามแนวคิดของแกลตันหรือไม่?
สำหรับการวิจัยเชิงทดลองซึ่งได้รับอิทธิพลในเรื่องรูปแบบการวิจัยมาจากผลงานของ ฟิชเชอร์ โดยที่ต้นแบบของการดำเนินงานเป็นแบบจำลองเกษตรกรรม (agricultural model) นั้น นักวิจัยทางการศึกษาที่นำวิธีนี้ไปใช้กับการทดลองเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ พึงระมัดระวังในเรื่องการควบคุมการทดลอง ซึ่งไม่สามารถที่จะกระทำได้อย่างสมบูรณ์ เหมือนดังเช่นการทดลองกับพืช หรือพันธุ์ไม้ต่างๆ นอกจากนี้การนำรูปแบบการทดลองแต่ละชนิดไปใช้ในการวิจัย ก็ต้องตระหนักเกี่ยวกับความสอดคล้องของรูปแบบนั้นๆ กับประเด็นปัญหาการวิจัย และสภาพความเป็นจริงที่นเองเผชิญอยู่ การใช้รูปแบบที่ยังไม่เข้าขั้นการทดลอง (pre-experimental design) ก็มิได้หมายความว่างานวิจัยนั้นๆ ไม่มีคุณภาพหรือไม่มีคุณค่า แต่ตรงกันข้าม ถ้าหากว่านักวิจัยนำรูปแบบเชิงทดลองที่แท้จริง (true experimental design) ไปบังคับใช้ในสถานการณ์ที่ไม่เหมาะสม และดำเนินการทดลองโดยคำนึงถึงเฉพาะเรื่องระเบียบวิธีที่ถูกต้องมากกว่าแก่นของเรื่องที่ทำการวิจัยแล้ว ผลที่ได้จากการดำเนินงานเช่นนี้ก็จะเป็นการตอบคำถามในเชิงเทคนิคการวิจัยมากกว่าที่จะตอบ ประเด็นคำถามของการวิจัย ออกมาให้ทราบอย่างเด่นชัด ซึ่งก็นับว่างานวิจัยนั้นๆ ไม่ได้สร้างเสริมความรู้หรือมีคุณค่าต่อวงการศึกษาเท่าใดนัก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น